เป็นศัพท์ฮิตไปแล้วสำหรับ “โซเชียล มูฟเมนต์” (Social Movement) ที่แปลว่า “ความเคลื่อนไหวทางสังคม” หลังจากสตีฟ ฮาร์วีย์ พิธีกรเวทีนางงามจักรวาลได้ถามคำถามนางงามจากประเทศไทยในการประกวดที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ทำเอาหลายคนมาขบคิดว่าอะไรบ้างที่เข้าข่ายความเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน จะเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของหญิงกับชายหรือเพศทางเลือก เรื่องแนวคิดทางการเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

แต่หลายคนมองว่าความเคลื่อนไหวทางสังคมที่กำลังเป็นกระแสคุกรุ่นไม่จางลงง่ายๆ คือเรื่องการคุกคามและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่า นับตั้งแต่สังคมอเมริกันตื่นตัวจากการเปิดโปงพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้ทรงอิทธิพลในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด จนก่อเกิดเชิงสัญลักษณ์ติด “แฮชแท็ก มี ทู” (#MeToo) ในโลกสังคมออนไลน์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมทั่วโลกจะตื่นตัวตามกันอย่างรวดเร็ว

หลายประเทศพร้อมใจแปลงแฮชแท็กดังกล่าวเป็นภาษาของตนเอง เช่น ในสวีเดน ใช้ #tystnadtagning ในฝรั่งเศส ใช้ #BalanceTonPorc ที่อิตาลี ใช้ #quellavoltache ในสเปน ใช้ #Yo Tambien อิสราเอลใช้ #Gam Ani ส่วนประเทศในตะวันออกกลางก็ติดแฮชแท็กเช่นกันเป็นภาษาอารบิก ทั้งหมดก็เพื่อส่งสารให้แก่บรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และเป็นการส่งสัญญาณให้กับภาครัฐและภาคเอกชนให้หันมาใส่ใจกับกระแสดังกล่าว

ในขณะที่มีความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงวิธีปฏิบัติต่อสตรีเพศ เมื่อเร็วๆนี้มีคุณแม่ชาวอังกฤษคนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ถอนหนังสือ “เจ้าหญิงนิทรา” ออกจากการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ลูกชายวัย 6 ขวบของเธอศึกษาอยู่ด้วยเหตุผลว่าไม่เหมาะสมทางเพศ เพราะเทพนิยายเรื่องนี้สอนให้ผู้ชายจูบผู้หญิงขณะที่เธอนอนหลับโดยไม่ได้ให้ความยินยอมพร้อมใจ เป็นการปลูก ฝังพฤติกรรมและแนวคิดที่ผิดๆให้กับเด็ก

...

คุณแม่คนดังกล่าวเผยว่า โครงการรณรงค์เรื่อง #MeToo ช่วยทำให้เธอสังเกตว่าพฤติกรรมแบบนี้ฝังแน่นอยู่ในสังคมอย่างไร ดังนั้น เธอจะสร้างสิ่งเล็กๆเหล่านี้ให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา เรื่องนี้นับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมจากหน่วยย่อยอย่างครอบครัว ซึ่งจะว่าไปนี่ก็คือความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ค่อยๆเริ่มให้เห็นอย่างชัดเจนเข้าแล้ว.


ภัค เศารยะ