หลังจากเหล่าผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่มีบาร์เซโลนาเป็นเมืองเอก ฝืนทำประชามติเพื่อแยกเอกราชจากสเปนซึ่งก็ได้พยายามขัดขวางทุกวิถีทางเพราะถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ชาวแคว้นกาตาลุญญามากกว่า 2.2 ล้านคน ก็ออกมาใช้สิทธิ์เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางการขัดขวางจากกองกำลังตำรวจที่รัฐบาลสเปนส่งมาควบคุมสถานการณ์ และสกัดการทำประชามติจนเกิดการปะทะกันมีผู้ถูกจับและบาดเจ็บหลายร้อยคนนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ว่า ในวันเดียวกันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ฝูงชนหลายพันคนออกมาชุมนุมในเมืองบาร์เซโลนา พร้อมตะโกนสโลแกนต่อต้านตำรวจและเรียกร้องให้ออกจากแคว้นกาตาลุญญา ทั้งนี้ เป็นไปตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่ประกาศนัดผละงานทั่วแคว้น เพื่อแสดงพลังต่อต้านและประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้มาใช้สิทธิ์ทำประชามติ และยังจะมีการเดินขบวนนำฝูงชนไปชุมนุมที่อาคารสำนักงานสาขาหน่วยงานรัฐบาลกลางในเมืองบาร์เซโลนาและคาดว่าจะกระทบต่อการขนส่งมวลชน โรงเรียน คลินิกและอื่นๆทั่วแคว้นกาตาลุญญา และคาดด้วยว่าทีมฟุตบอลชื่อดังของเมืองบาร์เซโลนาจะร่วมการผละงานประท้วงดังกล่าวด้วย

...

ด้านนายคาร์ลส์ ปุยจ์เดมอนต์ ประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญา พยายามนำผลประชามติที่มีผู้สนับสนุนการแยกเอกราชเกือบ 90% แม้ยอดผู้มาใช้สิทธิ์รวมจะมีแค่ 42% และมีฝ่ายต่อต้านซึ่งไม่ต้องการแยกเอกราชร่วมกันบอยคอต ไม่เข้าร่วม มาผลักดันเป้าหมายทางการเมืองต่อ โดยต้องการปรับความเข้าใจ (ทางการเมือง) ใหม่กับรัฐบาลกลางในกรุงมาดริดท่ามกลางการเตือนของรัฐบาลกลางที่นำโดยนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอยว่า อาจมีการระงับอำนาจที่รัฐบาลสเปนให้เป็นเขตสังคมปกครองตนเองทางประวัติศาสตร์ของแคว้นกาตาลุญญา

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญา ยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาขัดแย้งทางการเมืองของกาตาลุญญากับรัฐบาลกลางสเปน แต่สหภาพยุโรป (อียู) มองว่าวิกฤตินี้เป็นเรื่องภายในของสเปน และต้องจัดการแก้ปัญหาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

วันเดียวกัน รัฐบาลฝ่ายสนับสนุนการแยกเอกราชของสกอตแลนด์ซึ่งเคยทำประชามติเพื่อแยกเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2557 แต่คนส่วนใหญ่โหวตไม่สนับสนุน เรียกร้องให้ชาวแคว้นกาตาลุญญาได้กำหนดอนาคตของตัวเอง สเปนและประชาคมโลกควรต้องยึดการเจรจาเพื่อยุติปัญหาในวิถีทางที่เคารพประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ.