เป็นนักลงทุนในตำนานที่มีแฟนๆเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทั่วทุกมุมโลก เพราะ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ไม่เพียงแต่เป็นแบบอย่างเรื่องความมั่งคั่ง และการลงทุนแบบเน้นคุณค่า แต่ป๋ายังเป็นโรลโมเดลด้านการใช้ชีวิตสมถะพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสทุนนิยม
“บัฟเฟตต์” เพิ่งเป่าเค้กฉลองวันเกิดครบรอบ 87 ปี เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยสินทรัพย์ในครอบครองเฉียด 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะร่ำรวยติดอันดับท็อปโฟร์ของโลก และมีเงินทองล้นเหลือใช้กี่ชาติก็ไม่หมด แต่ไลฟ์สไตล์ของป๋ากลับเรียบง่ายติดดินอย่างน่าทึ่ง
ในขณะที่เด็กประถมทั่วไปกำลังวิ่งเล่น “บัฟเฟตต์” ได้ค้นพบความฝันของตัวเองแล้วตั้งแต่ตอนอายุ 10 ขวบ เมื่อได้ยืนประจันหน้ากับรูปปั้นวัวกระทิงวอลล์สตรีท สัญลักษณ์ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เขาเริ่มซื้อหุ้นตัวแรกในชีวิตตอนอายุ 11 ขวบ ด้วยเงิน 38 ดอลลาร์สหรัฐฯ พอเข้าสู่วัยรุ่นก็หาเงินได้เดือนละ 175 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ และสะสมเงินได้ถึง 53,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะอายุแค่ 16 ปี นอกจากเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์แล้ว เขายังรับจ๊อบทั่วราชอาณาจักร ทั้งเร่ขายแสตมป์และลูกกอล์ฟ รับติดตั้งตู้เกมพินบอลหยอดเหรียญในร้านตัดผม
เส้นทางความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์เริ่มขึ้นในปี 1957 เมื่อเพื่อนๆ และญาตินำเงิน 105,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาลงทุนในห้างหุ้นส่วนเพื่อการลงทุนของเขา บัฟเฟตต์ไม่เคยปิดบังว่าประสบความสำเร็จทุกวันนี้ ได้เพราะอ่านหนังสือ “Security Analysis” ของ “เบนจามิน เกรแฮม” ปรมาจารย์ด้านการลงทุนแห่งวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ของเขาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นทั้งนายจ้างของเขาในบริษัทการลงทุน “เกรแฮม-นิวแมน” แถมยังเป็นที่ปรึกษาและเพื่อนสนิทกันมาเกือบ 30 ปี เกรแฮมสอนให้บัฟเฟตต์รู้ว่า การลงทุนที่ชาญฉลาดคือลงทุนเสมือนเข้าร่วมทำธุรกิจ ไม่ใช่ลงทุนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์แล้วจากไป
...
การลงทุนเสมือนเข้าร่วมทำธุรกิจ ตรงข้ามกับความเชื่อดั้งเดิมของวอลล์สตรีทอย่างสิ้นเชิง แถมยังต้องอาศัยความมีวินัยและความอดทนสูงมาก แต่ถ้าเข้าใจปรัชญานี้อย่างลึกซึ้ง และนำไปปฏิบัติได้จริง รับรองว่าจะประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างแน่นอน
หลักการลงทุนเสมือนเข้าร่วมทำธุรกิจต้องเริ่มจากการเลิกคิดถึงราคาหุ้นในตลาดว่าจะขึ้นหรือลงเท่าไหร่ แต่หันมาคิดถึงความคุ้มค่าและผลตอบแทนจากการเป็นเจ้าของธุรกิจที่หุ้นเหล่านั้นเป็นตัวแทนอยู่ บริษัทที่เยี่ยมยอดในสายตาของบัฟเฟตต์คือ ต้องเป็นกิจการที่ลงทุนไปแล้วให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังสูงที่สุด โดยมีความเสี่ยงต่ำที่สุด เหตุผลที่เขาสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้ดีกว่าผู้จัดการกองทุนอื่นๆ ก็เป็นเพราะเขามุ่งเน้นลงทุนระยะยาวเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในวอลล์สตรีทเน้นลงทุนระยะสั้น หวังผลกำไรชั่วข้ามคืน
ถ้าเดินตามแนวทางของบัฟเฟตต์ สิ่งใหม่ที่จะค้นพบคือ เราจะเป็นฝ่ายรอให้ตลาดปรับตัวลดลง เพื่อจะได้เข้าไปช้อนซื้อหุ้นเพิ่ม แทนที่จะเฝ้ารอตลาดวิ่งขึ้นเหมือนคนทั่วไป ที่สำคัญเราจะเริ่มรู้ว่าการซื้อหุ้นสักตัว ด้วยความคิดว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นในอาทิตย์หน้า เป็นเรื่องโง่เขลาสิ้นดี
จริงอยู่ที่ว่าเกรแฮมเป็นผู้วางพื้นฐานการลงทุนให้เขา แต่บัฟเฟตต์ก็ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆ เขานำมาดัดแปลงและสร้างเป็นแนวทางใหม่ของตัวเองอย่างชาญฉลาด โดยปรัชญาการลงทุนผสมผสานที่เขาค้นพบได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ให้นักลงทุนแนว VI ได้เดินตามรอยมาจนถึงปัจจุบัน
หลักการลงทุนเสมือนเข้าร่วมทำธุรกิจ ยังสามารถนำมาใช้กับชีวิตการทำงานได้ ถ้าเราทำงานด้วยหัวใจของความเป็น “หุ้นส่วน” เราก็จะลดความเห็นแก่ตัวลงได้เยอะ แล้วช่วยกันทุ่มเทกำลังความสามารถให้กับธุรกิจของเรา ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน ตัวกูเป็นเรื่องใหญ่ องค์กรจะล่มสลายยังไงก็ช่างหัวมัน!!
มิสแซฟไฟร์