ประเทศแอฟริกาใต้มีการห้ามค้าขายนอแรดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการล่าอย่างหนักเพื่อเอานอไปขาย ทำให้แรดมีจำนวนลดน้อยลงจนใกล้สูญพันธุ์ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีการลักลอบฆ่าแรดตลอดมา เนื่องจากนอแรดมีราคาสูงซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
แต่เมื่อเร็วๆนี้ทางการแอฟริกาใต้ได้อนุญาตให้การค้าแรดในประเทศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย มีรายงานว่ารัฐได้ออกมาตรการควบคุมการค้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการตัดราคาของพรานเถื่อน แต่กฎหมายดังกล่าวทำให้กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศบางกลุ่มไม่เห็นด้วย โดยมองว่ามาตรการนี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการรุกล้ำเพื่อฆ่าแรดและพยายามขายนอของมันในตลาดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐก็พยายามหาวิธีอย่างรัดกุม เช่น การส่งออกนอแรดจะต้องผ่านการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ และฝังไมโครชิพหมายเลขประจำตัว รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของนอแรดที่ส่งออกขาย โดยนอแรดต้องถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลระดับชาติ และต้องมีใบอนุญาตจากกลุ่มสัตว์ป่าแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์กำกับ
ทั้งนี้ ปัจจุบันในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ พบว่าการล่าแรดลดลงอย่างมากเนื่องจากความปลอดภัยและมาตรการอื่นๆที่เพิ่มมากขึ้น แต่นักล่ากลับย้ายไปล่าแรดในอุทยานแห่งชาติอื่นๆแทนทำให้แรดในที่อื่นตายเพิ่มขึ้น และมีการประเมินว่าในแอฟริกาใต้มีแรดเหลืออยู่เกือบ 20,000 ตัวเท่านั้น.