สหประชาชาติเผยรายงานใหม่ แสดงให้เห็นว่า ปริมาณการผลิตโคเคนในประเทศโคลอมเบียเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2016 ขณะที่ปริมาณการปลูกเทียบสถิติก่อนจะมีแผนต้านยาเสพติดเมื่อ 16 ปีก่อน...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานใหม่ซึ่งบ่งชี้ว่า ปริมาณโคเคนที่ผลิตในประเทศโคลอมเบียเมื่อช่วงปี 2016 เพิ่มขึ้นสู่ค่าสูงสุดเท่าที่เคยมีมา แม้ว่ารัฐบาลโคลอมเบียจะพยายามทำลายชื่อเสียของประเทศที่ถูกขนานนามว่า เมืองหลวงแห่งโคเคน มานานหลายปีแล้วก็ตาม

ตามรายงานของ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime – UNODC) มีการผลิตโคเคนในห้องทดลอบลับๆ ทั่วประเทศโคลอมเบียในปี 2016 ประมาณ 866 ตัน พุ่งจากปี 2015 ที่มีการผลิตเพียง 649 ตัน

ขณะที่ในแง่ของการปลูกต้นโคคา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตโคเคน ในปี 2016 มีการเก็บเกี่ยวต้นโคคารวม 146,000 เฮกตาร์ (ราว 912,500 ไร่) ใกล้เคียงกับระดับของปี 2001 ก่อนที่รัฐบาลโคลอมเบียจะประกาศแผนการต้านการผลิตโคเคนชื่อ ‘แพลน โคลอมเบีย’ (Plan Colombia) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จะบังคับใช้ และเพิ่มขึ้นจากปริมาณในปี 2015 ที่มีการเก็บเกี่ยวประมาณ 96,000 เฮกตาร์ (ราว 600,000 ไร่) ถึง 52%

โฮเซ อังเกล เมนโดซา ผู้บัญชาการตำรวจต่อต้านยาเสพติด ระบุว่า โคลอมเบียกำลังเผชิญกับช่วงเวลายากลำบากครั้งประวัติศาสตร์ แต่ยืนยันว่า ตัวเลขนั้นสะท้อนให้เห็นโคลอมเบียจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. ปีค.ศ. 2016 เท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น รัฐบาลได้บังคับใช้แผนการทำลายไร่โคคาจำนวน 100,000 เฮกตาร์ (ราว 625,000 ไร่) ภายในสิ้นปี 2017 โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นการบังคับทำลาย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นการทำลายโดยทำข้อตกลงกับผู้ปลูก ให้ปลูกพืชทดแทน

...