ทรัพย์ค้ำประกัน สาวนามสกุลดัง พร้อมอีกบริษัท โร่แจ้ง‘ดีเอสไอ’

สาวสกุลดัง นักธุรกิจคอนโดฯให้เช่าย่านทุ่งครุ พร้อมกรรมการบริษัทสายการบิน ยื่นหนังสือร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังไปกู้เงินจากเจ้าของบริษัทค้าเหล็ก กินดอกร้อยละ 2-2.5 ต่อเดือน พอใช้หนี้หมด เจ้าหนี้กลับปลอมแปลงเอกสารฮุบหลักทรัพย์ค้ำประกันแถมเอาไปประกาศขาย รวมทั้งปลอมแปลงเอกสารตราประทับของบริษัทหวังฮุบกิจการ คาดมีเหยื่ออีกนับสิบราย ความเสียหายกว่าพันล้านบาท

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 มิ.ย. น.ส.ฐิตาภา ณ ระนอง ผู้บริหาร บริษัท เค พี กรุ๊ป 1992 จำกัด นายสุวนิตย์ ศิริสิงหล กรรมการบริษัทอินเตอร์ โดเมสติค เคอร์เรนซี่ จำกัด ผู้เสียหาย เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ หลังเจ้าของบริษัทค้าเหล็กแห่งหนึ่งปล่อยเงินกู้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 -2.5 ต่อเดือน ให้ผู้เสียหายหลายสิบล้านบาท แต่เมื่อผู้เสียหายใช้เงินต้นที่กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยครบแล้ว กลับถูกปลอมแปลงเอกสารนำทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไปประกาศขาย มีนายบัณฑิต สังขนันท์ ผอ.ส่วนงานรับเรื่องร้องทุกข์ ดีเอสไอ มาเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนแทน

น.ส.ฐิตาภาเผยว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมให้เช่า อยู่ย่านถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ มีห้องชุดจำนวน 138 ยูนิต กระทั่งปลายปี 55 ทางบริษัทจำเป็นต้องใช้เงินปรับปรุงอาคาร จึงได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับ เจ้าของบริษัทค้าเหล็กรายนี้ ก่อนตกลงกู้เงิน 57 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ตกลงทำนิติกรรมขายฝากคอนโดมิเนียมดังกล่าวเพื่อค้ำประกันหนี้ ต่อมาตนชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยจนครบ แต่เจ้าหนี้รายนี้กลับไม่ยอมนำคอนโดมิเนียมที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมาคืน ทั้งยัง พบการปลอมแปลงเอกสารเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองและมีการนำคอนโดมิเนียมไปประกาศขายด้วย

...

ขณะที่นายสุวนิตย์ระบุว่า บริษัทอินเตอร์ โดเมสติค เคอร์เรนซี่ จำกัด ของตน เป็นธุรกิจเกี่ยวกับสายการบิน เมื่อปี 54 บริษัทขาดงบประมาณพัฒนาสายการบิน จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุน เพราะหากกู้เงินจากธนาคารเกรงว่าจะใช้เวลาการอนุมัติเงินนาน จึงกู้เงินจากเจ้าของบริษัทค้าเหล็กรายนี้ ในวงเงินกว่า 60 ล้านบาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อเดือน มีเงื่อนไขให้โอนหุ้นของบริษัทตนไปเป็นชื่อของเจ้าหนี้กับพรรคพวก เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ตนดำเนินการตามเงื่อนไข กระทั่งปี 55 ชำระหนี้คืนจนหมด แต่เจ้าหนี้กลับไม่ยอมโอนหุ้นและเอกสารใบหุ้นต่างๆคืนให้ ทั้งยังเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการ ปลอมแปลงเอกสารตราประทับของบริษัททั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีเจตนามุ่งหวังนำบริษัทที่มีมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ไปอยู่ในความ ครอบครองโดยทุจริต นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมเจ้าของบริษัทค้าเหล็กรายนี้กระทำแบบเดียวกับผู้กู้รายอื่นๆ อีกกว่า 10 ราย มูลค่าเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท อยากให้ดีเอสไอเข้าตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด

หลังรับเรื่อง นายบัณฑิตเผยว่า เตรียมนำเอกสารการร้องเรียนทั้งหมดส่งมอบให้กับอธิบดีดีเอสไอเพื่อพิจารณาผ่านรูปแบบคณะกรรมการว่าให้รับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ต่อไป