ออกมาอีกหน สำหรับเรื่องฉาวของวงการ “สีกากี” เมื่อ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตแกนนำ กปปส.ออกมาแฉว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง กรณี คำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับสารวัตร ถึง รองผู้บังคับการ วาระประจำปี 2559 ที่เพิ่งจะคลอดลืมตาดูโลกได้ไม่นานมานี้
นายวิทยา อ้างว่า มีการซื้อขายตำแหน่งระดับผู้กำกับ 5-7 ล้านบาท ระดับสารวัตร ราคา 1.5-2 ล้านบาท
เรื่องนี้จะจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ คงยังต้องหาคำตอบ..
แต่สำหรับคนที่คลุกคลีในวงการตำรวจ และมีฝีปากกล้า ท้าชนทุกเรื่อง อย่าง พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีต รอง ผบช.ภ.9 บอกว่า การโยกย้ายตั้งแต่อดีตที่ผ่านมามีการเอื้อประโยชน์ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง และผู้มีอำนาจการแต่งตั้งมาโดยตลอด และวิธีการสมประโยชน์เพื่อให้ตัวเองได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้น มีดังนี้
เนื่องจากเรื่องนี้มีความซับซ้อน พล.ต.ต.วิสุทธิ์ จึงค่อยๆ อธิบายว่า หน่วยงานของประเทศเราก็มีการจัดทำเลทอง ซึ่งทำเลทองในที่นี้ อาจจะแบ่งแยกหน่วยงาน เช่น กองบัญชาการสอบสวนกลาง จะแบ่งเป็น
เกรด A หน่วยงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่สามารถจับได้ทั่วประเทศ เช่น จับสินค้าปลอม ละเมิดลิขสิทธิ์ ตำรวจน้ำ หรือแม้กระทั่ง กองปราบปราม ที่สามารถจับได้ทั้งประเทศก็ถือว่ามีอำนาจครอบคลุมอย่างกว้างขวาง
เกรด B กลุ่มป่าไม้ ท่องเที่ยว รถไฟ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม สีเทา และ สีดำ ไม่มาก
เกรด C จะเป็นหน่วยงานอื่นๆ ที่เหลือ ส่วนมากจะเป็นหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจสืบสวน จับกุม เช่น ฝ่ายอำนวยการ บก.ปปป.
...
ขณะที่โรงพักเองก็มีการจัดเกรดเช่นกัน
โรงพักเกรด A ส่วนมากจะเป็นโรงพักที่มีแหล่งอบายมุขจำนวนมาก มีโรงงาน ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก มีแหล่งที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย สีดำ และ สีเทา เช่น ของปลอม ละเมิดลิขสิทธิ์ ผับ บาร์ สถานบริการ หรือ เป็นเขตที่มีจราจรคับคั่ง ก็จะมีการกระทำผิดกฎหมายจราจรจำนวนมาก ก็จะได้ผลประโยชน์จากเงินค่าปรับ เกรด B ก็ลดหลั่นลงมาตามเหตุผล เกรด C ก็แย่หน่อย...หากินลำบาก เทา ดำ ไม่ค่อยมี

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า คราวนี้มาดูเรื่องการโยกย้าย สมมติว่า กองบัญชาการ ก. มีตำแหน่งผู้กำกับ ว่าง 10 คน แต่มีรอง ผกก. ที่อยู่ในอาวุโส 33% จำนวน 3 คน ดังนั้น 3 คนนี้ จึงมีสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งขึ้นตำแหน่งผู้กำกับ ก็ถือว่าอยู่ในโควต้า 33% ส่วนมาก พวกนี้จะได้รับการแต่งตั้งไปเป็นผู้กำกับในสถานทีเน่า ๆ หรือ ฝ่ายอำนวยการ แต่หากพวกเขาเหล่านั้น ต้องการที่จะได้รับการแต่งตั้งไปเป็นผู้กำกับเกรด A หรือ B ก็จะต้องวิ่งเต้น เสียเงิน ตามอัตราและจำนวน ตามเกรด เช่น เกรด A อาจจะ 8 ล้าน B 6 ล้าน C อาจจะ 4-5 ล้านบาท เพราะพวกนี้ไม่จำเป็นต้องจ่ายมาก เพราะถือว่าเป็นพวก "ตัวเบา" (เขาต้องได้ตามโควต้าอยู่แล้ว จึงถือเป็นพวกตัวเบา)
แต่ถ้ารอง ผกก. ที่เพิ่งครบหลักเกณฑ์ และ ไม่อยู่ใน 33% ที่จะต้องได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้กำกับตามกฎหมาย รอง ผกก. กลุ่มนี้ พวกนักเลงว่า "ผู้กำกับตัวหนัก" หรือ "โคม่า" หากจะวิ่งขึ้นผู้กำกับ จะต้องจ่ายจำนวนมาก ใช้พลังพิเศษ เพื่อจะได้ขึ้นเป็นผู้กำกับ เช่น เกรด A อาจจะต้องจ่ายถึง 10-15 ล้าน เกรด B จ่าย 7-10 ล้านบาท เป็นต้น
อีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง....
อดีต รอง ผบช.ภาค 9 กล่าวว่า หากรองผู้กำกับคนนั้น อยู่ในพื้นที่ไม่ดี ไม่มีทอง ไม่มีเงิน มีแต่ตะกั่วกับดีบุก แต่...อยากเข้ากรุงเทพฯ หรือมาบ้านเกิด หรือ อยู่ในเขตปริมณฑล หรือ ทำเลทอง ทำเลเงิน แบบนี้จะต้องโดนจ่ายหนักมาก เพราะจะต้องขออนุมัติหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง เท่ากับ โดน 2 เด้ง
เด้งที่ 1 ต้องขออนุมัติหลักเกณฑ์ เพราะถือว่าข้าม บช. (ข้ามภาค)
เด้งที่ 2 ต้องดูอีกว่า ข้ามภาค มาขึ้น ต้องการเกรดอะไร เลือกเอก เกรด A B C ซึ่งเป็นการจ่ายจำนวนตามเกรด
การย้ายลักษณะนี้ก็จะต้องจ่ายเยอะพร้อมทั้งบวกติ่ง อีก 1 เด้ง ตัวอย่างเช่น หากขอขึ้นเกรด A จ่าย 10 ล้าน จะต้องบวกค่าติ่งอีก 2-3 ล้าน (ติ่ง คือ การอนุมัติหลักเกณฑ์) ในวงการเรียกพวกนี้ว่า หน่วยกล้าตาย สู้ทุกรูปแบบ
“บางคนไม่รู้จริง ชอบออกมาบอกมั่วๆ ว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง 5 ล้านบ้าง 7 ล้านบ้าง 10 ล้านบ้าง มันไม่บ่ใช่ดอก ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่มีราคาตายตัว มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คนที่อวดรู้ว่ามีการจ่ายเงินซื้อตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถอธิบายด้ว่าเขาจ่ายกันแบบไหน.. มากน้อยเพียงใด "มันมั่วนี่หว่า.."

...
ประเภท ล่องหน ไร้เงา ตัวเบา นินจา
ตัวเบา = "หมายความว่า ผู้นั้น อยู่ในหลักเกณฑ์ 33% ที่จะต้องได้รับการแต่งตั้ง ขึ้นตำแหน่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน หากไม่แต่งตั้งมัน มันฟ้องศาลปกครองแน่นอน ดังนั้น ลูกพี่มันจะต้องแต่งตั้งมัน หากไม่แต่งมันฟ้องแน่นอน” พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวอย่างติดตลก ซึ่งแบบนี้หมายถึงไฟท์บังคับ
พล.ต.ต.วิสุทธิ์ฯ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ส่วนใหญ่พวกที่อาวุโส อันดับ 1 อันดับ 2 หากได้ขึ้น...โดยไม่มีการวิ่งเต้น หรือ จ่ายเงิน ก็จะได้รับการแต่งตั้งไปในตำแหน่งที่ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีงานทำ วัน ๆ ก็นั่งแต่ตบยุง พวกนี้เรียกว่า “นักรบไร้อาวุธ ไร้กระสุน”
คนพวกนี้ถือว่า เป็นพวก "ไร้เงา" หรือ "นินจา" ไม่มีเสบียง ไม่มีเส้นสาย ไร้ที่พึ่ง ในวงการเรียกว่า พวกอนาถา จะได้รับการแต่งตั้ง ก็ต้องรออาวุโส 33% อย่างเดียว ในวงการเขาก็เรียกว่า "ข้าวรอฝน"
แต่มีอีกแบบหนึ่งที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน คือ พวกลอยอยู่บนอากาศ เรียกว่า “เหนือเมฆ” เป็นวิธีที่ ตัวเอง ยังไม่ได้เป็นผู้อาวุโส ในกองบัญชาการที่ตนเองสังกัดอยู่ แต่ก็ไปวิ่งเต้นผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ตรวจสอบ แต่ละกองบัญชาการ ว่า ถ้าตัวเอง จะวิ่งไปดำรงตำแหน่งในระนาบเดียวกัน หรือ ระดับเดียวกัน แล้วตัวเอง จะต้องเป็นผู้อาวุโสใน 33% ของ บช. ใหม่ เมื่อตรวจสอบได้แล้ว ก็จะวิ่งเต้นไป ใน บช. นั้น เพื่อได้อาวุโส ก็จะได้รับการแต่งตั้ง ในตำแหน่งที่สูงขึ้นในปีถัดไป หากไม่วิ่งเต้นเช่นนี้ อยู่ใน บช. เดิม ก็จะไม่อยู่ใน 33% ของการแต่งตั้ง พวกนี้เขาเรียกว่า "กั๊กตำแหน่ง"
กรณีนี้ก็ 2 เด้ง เด้ง 1 เสียค่าตรวจสอบ ว่าจะไปลง บช. ไหน เด้งที่ 2 จ่ายค่า "เหนือเมฆ" ที่จะไปลง "กั๊กตำแหน่ง" ในระนาบเดียวกัน
...
ยังไม่จบเท่านี้... ยังมีอีก 1 ทีเด็ด คือ จ้างให้คนใกล้เกษียณอายุราชการอีกเพียง 1 ปี ลาออก เพื่อเปิดตำแหน่งให้ว่าง เช่น กองบัญชาการ A มีรองผู้การฯ ว่าง 5 อัตรา และ 5 อัตรานี้ มีคนวิ่งเต้นเต็ม 5 ตำแหน่งแล้ว แต่ผู้กำกับวิสุทธิ์ อยากขึ้น รองผู้การฯ ก็ไปหานาย ไปบอกว่า "มึงพูดไม่รู้หรือ...มันเต็มแล้ว" ผู้กำกับวิสุทธิ์ก็บอกว่า "ผมได้จ้างให้รองผู้การฯ ที่เหลืออายุราชการอีก 1 ปี ลาออกก่อนกำหนด เพื่อเปิดตำแหน่งรองผู้การฯ ว่างอีก 1 ตำแหน่ง แบบนี้เรียกว่า "ส้มตก" โดยผู้กำกับวิสุทธิ์ จ่ายเงินค่าลาออกให้กับรองผู้การฯ จ. เพื่อให้เปิดตำแหน่ง โดยจ่ายให้ รอง ผู้การฯ จ. ประมาณ 1-2 ล้าน แบบนี้เรียกว่า "บำเหน็ดใต้โต๊ะ" เสร็จแล้วก็ไปวิ่งผู้บัญชาการ A ว่า ให้แต่งตั้ง ผู้กำกับวิสุทธิ์ ไปแทนรองผู้การ จ. กรณีเช่นนี้ ผู้บัญชาการ A แฮปปี้ 4 เด้ง
เด้งแรก คือ ได้เงินจากผู้กำกับวิสุทธิ์
เด้งที่สอง ได้ผู้กำกับมาอีก 1 ตำแหน่ง
เด้งที่สาม ได้รองผู้กำกับอีก 1 ตำแหน่ง
เด้งที่สี่ ได้สารวัตรอีก 1 ตำแหน่ง
แต่ละเด้งล้วนเป็นเงินตัวเงินและผลประโยชน์ทั้งนั้น

...
สะพัดเท่าไหร่ บอกไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีการโยกย้าย
ย้ายแต่ละครั้ง เงินสะพัดมากน้อยแค่ไหน... พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวว่า มันไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่ามีการโยกย้ายมากน้อยขนาดไหน มีคนเกษียณแค่ไหน มีการเพิ่มหน่วยงานหรือไม่ ดังนั้นจะให้บอกว่าสะพัดแค่ไหนคงบอกไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีหลักเกณฑ์ไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนอีกว่ามีตั๋วของใคร คนที่มีตั๋วมาก็อาจจะเสียเงินน้อยหน่อย แต่ถ้าไม่มีก็อาจจะเสียเยอะ สุดท้ายก็ต้องชั่งใจว่าจะเลือกใคร บางทีอาจจะเลือกคนมีตั๋วแต่ได้เงินน้อยก็ได้ เพราะจะได้เอาใจคนที่ฝากมา.. ของแบบนี้ไม่มีเงินตายตัว
ปัจจัยอะไรที่ทำให้เรื่องแดงและฉาวโฉ่ออกมา อดีตตำรวจชื่อดังมีการจัดประเภท ออกเป็น 4 แบบ ดังนี้
1. ถูกรุ่นน้องข้ามหัว เช่น เป็นรองผู้กำกับมานานไม่ได้ขึ้น รุ่นน้อง 8-9 ปี ข้ามหัวไป
2. คนเดินตามนาย ดูแลครอบครัวนาย ส่งลูกนายไปโรงเรียน ไม่เคยทำงาน พวกนี้ได้ขึ้นมาโดยตลอด คนพวกนี้เรียกว่า "ลูกเลิฟ"
3. คนที่ถูกร้องเรียน และ ถูกคำสั่งให้ไปช่วยราชการ 30 วัน เพราะบกพร่องตกหน้าที่ กลับได้ขึ้นตำแหน่ง พวกนี้เรียกว่า "พวกหาเงินให้นาย"
4. จ่ายตังค์แล้วไม่ได้ขึ้น แล้วอมเงิน (บางรายถูกอมเงินแล้วไม่โวย เพราะไม่อยากทะเลาะกับนาย และรู้ว่าตนเองก็รู้ว่าทำผิดด้วย)
“ตำรวจเป็นอาชีพที่มีระเบียบวินัยบังคับอยู่ หากโวยวายมากไปก็ไม่ดีกับอาชีพตัวเอง และถูกกลั่นแกล้งได้ พวกเขาจึงใช้วิธีให้คนที่มีชื่อเสียงในสังคม หรือ มีอำนาจ โวยวายให้แทน เช่น นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถามเรื่องที่เกิดขึ้นสมควรโวยวายหรือไม่ คำตอบคือ “ใช่” เพราะเป็นเรื่องที่ “ไม่ได้รับความเป็นธรรม” ที่สำคัญ ถูกผู้บังคับบัญชาเป็นคนโกง แทนที่ผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้ให้ แต่กลับเป็นผู้รับและโกงลูกน้อง หน่วยงานมันจะอยู่ได้เช่นใด แต่ถ้าโวยมาก ก็อาจจะไม่เจริญในหน้าที่การงาน เพราะทำให้องค์กรเสียหาย... เรียกว่า “นิ่งเสียตำลึงทอง” เพราะโวยไปแล้วจะได้อะไร โวยก็เจ็บ ไม่โวยก็เสีย(เงิน)” พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าว
ถ้าแนะนำได้ อยากจะแนะนำอย่างไร พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวว่า การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ใช้เป็นเพียงข้อเดียว คือ การแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงแบบไหนก็ได้ที่ทำให้ประชาชนดีขึ้นทุกอย่าง เช่น มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น อาชญากรรมลดลง ความศรัทธา ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ประชาชนชอบใจ ถูกใจในการแก้ไขปัญหาใน สตช. ไม่ใช่ การปฏิรูปเพื่อคนในองค์กร
“การต้องคิดว่าจะปฏิรูปอย่างไรให้ประชาชนชอบตำรวจมากขึ้น เชื่อมั่นในองค์กรมากขึ้น สุดท้ายประชาชนจะได้ความปลอดภัย ไม่ถูกรีดไถ นี่เขาเรียก การปรับปรุงแก้ไข”
ที่ผ่านมา ตำรวจเป็นจำเลยสังคม เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นเนื่องจากมีคดีแพะออกมาเรื่อยๆ ตำรวจต้องคิดว่าควรทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในคนขององค์กร และ องค์กร จะทำให้ได้ก็อย่าให้มีการโยกย้ายซื้อขายตำแหน่ง ทำให้คนดีๆ ทำงานดี ได้เติบโต ก็จะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กร เนื่องจากประชาชนเองก็ใกล้ชิดกับตำรวจ เขาย่อมรู้ว่าคนไหนดีไม่ดี ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้ว มีข่าวประชาชนฮือขับไล่ผู้กำกับก็มี
“ถ้าการปฏิรูป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปองค์กรและบุคลากรในองค์กรนั้นเท่านั้น การปฏิรูปไม่ใช่การเพิ่มตำแหน่งหรือบุคลากรในองค์กรนั้นๆ การปฏิรูป สตช.ที่แท้จริง ประชาชนยอมรับและได้ประโยชน์อย่างไร จะสำเร็จหรือไม่ ต้องอยู่ในยุค คสช.เท่านั้น” พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ท่านผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า “ครั้งนี้จะจับให้มั่นคั้นให้ตายกันเสียทีว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่” ส่วน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เอง ก็พร้อมที่จะรับผิดชอบ และเดินหน้าตรวจสอบ โดยประกาศลั่นว่าจะไม่ให้คนนอกทำให้ตำรวจเสียหายเหมือนกัน