ตำรวจแถลงจับเครือข่าย "หมอแอร์" เปิดไทม์ไลน์ขบวนการแอบอ้างคลินิกสวมชื่อคนตายโกงยาเสียสาว พบพิรุธจากการสั่งซื้อยาออกฤทธิ์ประเภท 2 จำนวนมากผิดปกติ จนสู่การติดตามจนขอศาลออกหมายจับ

จากกรณีตำรวจ ปส. จับมือ อย.บุกจับ พ.ต.อ.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือ เพ็ชรรัตน์ญ หรือ หมอแอร์ ตำแหน่งนายแพทย์ (สบ5) กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.ตำรวจ กับพวกรวม 5 คน ข้อหาร่วมกันค้ายาเสียสาว หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และ 4 บุกค้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 9 จุด รวมถึงแฟลตตำรวจเฉลิมลาภ ซอยพหลโยธิน 6 พบของกลางอื้อรวมเกือบ 1.8 แสนเม็ด เงินหมุนเวียนอู้ฟู่ 400 ล้านบาท ตำรวจคุมผู้ต้องหาทั้งหมดสอบเครียดที่ บช.ปส. พบช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสั่งยาให้คนตายถึง 370 คน ด้านรพ.ตร.ต้นสังกัดเต้น สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ย้ำคุมเข้มจริยธรรมวิชาชีพ หากพบว่ากระทำความผิดจริงจะตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง อาจพิจารณาสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

ล่าสุด วันนี้ (11 มิ.ย. 68) ที่ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช. ปส.) พล.ต.ท. สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย ผบช.ปส. พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง รอง ผบช.ปส. พลตำรวจตรี นพสิทธิ์ มิตรภักดี ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 ได้ร่วมกันแถลงผลการจับกุม “หมอแอร์” สวมชื่อคนตายโกงยาเสียสาว รวม 450 ล้าน

...

โดย พล.ต.ท. สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร กล่าวว่า ทาง ผบ.ตร. ได้รับการประสานงานจากทาง อย. เมื่อเดือน ก.ย. 67 ว่าพบการสั่งซื้อวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ซึ่ง ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ตำรวจ ปส. ดำเนินการ จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้งหมด 5 คน จับกุมในที่เกิดเหตุ 2 คน รวมเป็น 7 คน พร้อมของกลาง

พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย ผบช.ปส. กล่าวว่า ทางตำรวจ ปส. ได้รับการสานงานและได้รับการร้องทุกข์จาก อย. เกี่ยวกับพฤติกรรมการทำความผิดในกลุ่มนี้ คือตั้งแต่ได้รับการประสานเมื่อเดือน ก.ย. 67 ก็ได้รวบรวมหลักฐานมาโดยตลอด รวมไปถึงการดำเนินการตรวจสอบทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งพฤติการณ์จะเห็นตั้งแต่การสั่งซื้อให้นายทุนไปจำหน่าย แล้วนำไปขายให้ผู้ค้ารายย่อย เราได้ดำเนินการสอบสวนจนเห็นการกระทำความผิดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มีพยานหลักฐานที่ได้จากคดีนี้ชัดเจนจนสามารถขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับ

ในกรณีที่มี 1 ในผู้ต้องหาขบวนการนี้เป็นข้าราชการตำรวจ ทาง ผบ.ตร. ได้เน้นย้ำว่า หากมีข้าราชการตำรวจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ขอให้มั่นใจว่า ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเป็นใคร เราจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

พลตำรวจตรี นพสิทธิ์ มิตรภักดี ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 กล่าวว่า คดีนี้เริ่มจาก อย. มีข้อสงสัยว่า มีการนำยาออกฤทธิ์ประเภท 2 ออกจากระบบ ซึ่งทาง ตำรวจปส. ไปเฝ้าติดตามจนทราบว่า มีการนำยาออกนอกระบบจริง โดยนำไปไว้ที่แฟลตของราชการย่านพญาไท โดยจะมี 1 คนคอยเฝ้า ซึ่งเป็นลูกน้องของหมอคนดังกล่าว และมีหน้าที่นำส่งไปอีกจุด ซึ่งเป็นอพาร์ทเม้นต์ในพื้นที่วังทองหลาง ซึ่งมีผู้ต้องหาที่ 3 และ 4 เป็นผู้ดูแลอยู่ มีหน้าที่ในการเก็บรักษาและจำหน่ายยาให้ลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งทางตำรวจ ปส. ได้ติดตามต่อว่า ได้มีการไปขายให้ผู้ต้องหาที่ 5 นำเข้าไปในพื้นที่นครปฐม ซึ่งมีการจับกุมเมื่อ 20 ก.พ. 68 สามารถจับผู้ต้องหาได้ 3 คน เป็นการตรวจยึดยาออกฤทธิ์ประเภท 2 เป็นการออกหมายในคดี 5 หมาย และออกหมายค้น 9 หมาย

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า เบื้องต้นร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในหมู่ประชาชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นข้อหาที่ 2 ที่มีการสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และได้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่สมคบกันแล้ว

ด้านนายกองตรี ดร. ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากนโยบายของท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเรื่องของสารควบคุมต่างๆ ที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งสำนักงาน อย. ได้แจ้งข่าวให้ทราบว่า มีการการซื้อวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไม่ว่าเป็น อัลปราโซแลม ซึ่งเป็นยาที่ทำให้คลายเครียด หรือใช้ในเรื่องการรักษายาซึมเศร้า

...

ในปี 2565 มีประมาณ 5 คลินิก สั่งซื้อตัวยาดังกล่าวเข้ามาหลายประเภท ยอดสั่งซื้อประมาณ 1 ล้านเศษ ในปี 2566 มีจำนวนคลินิกเพิ่มเป็น 7 คลินิก ยอดสั่งซื้อเป็น 4 ล้านเศษ ในปี 2567 เพิ่มเป็น 11 คลินิก ยอดสั่งซื้อประมาณ 7-8 ล้าน ในปี 68 มีการขยายตัวเพิ่มเป็น 12 คลินิก เป็นการตั้งข้อสังเกตของ อย. ว่ามีการเกี่ยวข้องกับคุณหมอที่รักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับจิตเวช จึงมีการขออนุญาตซื้อยาดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบราชการ แต่พบความผิดปกติคือมีการสั่งซื้อยาจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่า รพ. จึงมีการเตรียมขยายผลว่าเกิดอะไรขึ้น

โดยทาง อย. จะได้รับการรายงานจากคลินิกกลับมาว่า ทางคลินิกได้ขายยาให้ใคร ซึ่งการรายงานมีบัญชีรายชื่อของผู้ป่วยแฝงไปด้วยคนเสียชีวิตไปแล้วมาสวมชื่อในการซื้อยา พบว่า 12 คลินิก มีการซื้อยาแตกต่างกันไปแล้วนำยามาอนุมัติการสั่งซื้อมาที่ อย. ซึ่ง อย.จะส่งทางไปรษณีย์ และพบว่า คนที่ชำระเงินเป็นหมอแอร์เป็นคนชำระเงินเพียงผู้เดียว หลังจากนี้จะเป็นเรื่องการนำไปส่งคลินิก โดยจะรวบรวมให้ไรเดอร์ไปรับยาตามจุดต่างๆ เช่น แฟลตตำรวจ (ที่พักเก็บยา) ซึ่งนี่คือพฤติการณ์ของคุณหมอดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวทางหลังจากนี้ อย. จะร่วมกับ ตำรวจ ปส. รวมทั้งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในการตรวจคลินิกดังกล่าวเพื่อขยายผลในเรื่องนี้ต่อไป.