บก.ปอศ. เปิดปฏิบัติการ "Operation Crypto Phantom" กวาดล้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผิดกฎหมาย ต้นตออาชญากรรมอุ้ม ปล้น เรียกค่าไถ่ เครื่องมือของกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนัน และขบวนการค้ายาเสพติด ใช้ฟอกเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 14,000 ล้านบาท

วันที่ 24 เม.ย. 68 มีรายงานว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผบก.ปอศ. พร้อมกำลังข้าราชการตำรวจกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันตรวจค้น 8 จุด ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี และ กรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้

1. อาคารพาณิชย์ ในพื้นที่ ม.10 ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ตามหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 98/2568 ลง 18 เม.ย. 68

2. บริษัท รับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งหนึ่งในพื้นที่ ถ.บำรุง-โคกโตนด ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตามหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 99/2568 ลง 18 เม.ย. 68 (Ex24,0)

...

3. บริษัท รับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งหนึ่งในพื้นที่ ม.5 เชิงทะเล ถลาง ภูเก็ต ตามหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 100/2568 ลง 18 เม.ย. 68 (Cptopida)

4. อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ห้องเลขที่ 5, 7 ถนนผังเมืองสาย ก. ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ตามหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 101/2568 ลง 18 เม.ย. 68 (Money Markets)

5. บริษัท รับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตามหมายค้นของศาลจังหวัดพัทยา ที่ 66/2568 ลง 18 เม.ย. 68

6. บ้านในพื้นที่ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามหมายค้นศาลอาญาที่ 334/2568 ลง 18 เม.ย. 68 (หัว เหยิน จื่อเจีย(华人之家服务中心))

7. บ้านในพื้นที่ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามหมายค้นศาลอาญาที่ 335/2568 ลง 18 เม.ย. 68 (67) งุยฮัวน ขาง (货币兑换 Exchange))

8. บ้านในพื้นที่ ซอยพระราม 2 ซอย 62 แยก 1-2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตามหมายค้นศาลอาญาธนบุรี ที่ 133/2568 ลง 18 เม.ย. 68

พฤติการณ์ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในปัจจุบันอาชญากรรมรูปแบบใหม่กำลังทวีความรุนแรงและมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ และขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนแผนประทุษกรรมให้ทันสมัยขึ้น ตามพัฒนาการของเทคโนโลยี หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่อาชญากรใช้ในการอำพรางเส้นทางการเงิน คือ "คริปโตเคอร์เรนซี" ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในการฟอกเงิน

โดยกระบวนการฟอกเงินในปัจจุบัน มีหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่คนร้ายมักใช้ คือการทำธุรกรรมผ่านร้านแลกเปลี่ยนคริปโตที่ไม่ได้รับอนุญาตในไทย หลังจากนั้น สินทรัพย์ต่างๆ จะถูกถอนออกมาเป็นเงินสดในที่สุด สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ ทั้งการสูญเสียรายได้ของรัฐ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการเสื่อมถอยของระบบการเงินที่โปร่งใส อีกทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการดังกล่าว

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. จึงได้กำหนดนโยบายสำคัญให้ทุกหน่วยในสังกัดเข้มงวดกับการตรวจสอบการใช้คริปโตเคอร์เรนซีในลักษณะที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นช่องทางฟอกเงิน หรือปกปิดเส้นทางการเงินในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ

จากการสืบสวนของ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พบว่า ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และจังหวัดภูเก็ต มีร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราแอบแฝงการให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท USD Tether (USDT) แบบ "ชนมือ" ซึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่ได้ผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยการให้บริการลักษณะดังกล่าว มีเป้าหมายชัดเจนในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงหลบเลี่ยงภาษี และมีการนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนในธุรกิจผิดกฎหมายหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเครือข่ายค้ายาเสพติดและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า ธุรกรรมมากกว่า 1,000 รายการ เชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรม และมีเงินหมุนเวียนรวมสูงถึง 425,104,595 USDT หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท

...

กองกำกับการ 3 บก.ปอศ. จึงได้เปิดปฏิบัติการภายใต้ชื่อ Operation Crypto Phantom ตรวจค้น 8 หมาย พบผู้กระทำผิดที่ให้บริการแลกเปลี่ยนผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี 5 ราย ของกลางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชีธนาคาร Hard Wallet และเอกสารธุรกรรมจำนวนมาก

โดยพฤติกรรมของเครือข่ายนี้มีลักษณะเป็นการเปิด "โต๊ะแลกคริปโต" ให้ลูกค้าชาวต่างชาติใช้เงินบาทแลกเหรียญดิจิทัล หรือแลก USDT กลับเป็นเงินบาท แบบไม่ผ่านระบบ Exchange ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งนำไปสู่การฟอกเงินในต่างประเทศผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลและ Exchange ต่างชาติ ก่อนกระจายเงินเข้าสู่กลุ่มมิจฉาชีพ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือธุรกิจผิดกฎหมายอื่น โดยการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะ "ชนมือ" หรือการนัดพบเพื่อแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลกับเงินสด นอกสถานที่และนอกระบบที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งในด้านความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และการมีส่วนร่วมในธุรกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือกิจกรรมผิดกฎหมายอื่น ๆ โดยหากพบว่ามีการดำเนินการดังกล่าวโดยบุคคลทั่วไป หรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่มีการแอบให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน

...

บช.ก. (CIB) จึงขอให้ประชาชนเลือกใช้บริการผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นกลไกในเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ ร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความปลอดภัย โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยขอแจ้งเตือนประชาชนและผู้ประกอบการให้ระมัดระวังการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท รวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในหมวดการฉ้อโกงหรือการใช้เอกสารอันเป็นเท็จ

...

และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ฝ่าฝืนโดยลักลอบให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมด้วย จึงขอให้ประชาชนใช้บริการเฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และหากพบพฤติกรรมต้องสงสัยสามารถแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ.