“สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผย ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง 2 ชุด ไขปริศนาคดี “อดีตผู้กำกับโจ้” ลั่นความจริงก็คือความจริง พร้อมยืนยันมีทั้งหลักฐานทั้งเอกสาร-กล้องวงจรปิด และข้อมูล อดีต ผกก.โจ้ พบมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง แต่ไม่อยากพูดพาดพิงผู้เสียชีวิต
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 มีนาคม 2568 ที่พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ ข.ช.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ ว่า กรมราชทัณฑ์ได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดแรกตรวจสอบกรณีทางครอบครัวผู้กำกับโจ้ ร้องเรียนมายังกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับเรื่องตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. และตั้งคณะกรรมการเมื่อวันที่ 10 มี.ค. พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบ ส่วนอีกชุดตรวจสอบกรณีการเสียชีวิต จะมีหน่วยงานภายนอก 3 หน่วย ทั้ง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เพื่อให้เห็นว่ากรมราชทัณฑ์พร้อมพิสูจน์ความจริง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. กรมราชทัณฑ์ได้พาตัวแทนสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ รวมทั้งมอบหลักฐานภาพกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ตอนช่วงที่ผู้กำกับโจ้ลงจากเรือนนอนจนกระทั่งเข้าเรือนนอน และหลังการเสียชีวิตไปแล้ว
ซึ่งพร้อมเปิดให้ดูมากกว่านี้เพราะอยากให้ความจริงปรากฏ ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นในเรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากตอนนี้สังคมคาดการณ์ไปต่างๆ นานา แต่สุดท้ายแล้ว ความจริงก็คือความจริง ส่วนรายละเอียดระหว่างวันผู้กำกับโจ้อยู่แดน 5 คนเดียวในห้องแยกควบคุม ตื่นเช้าทำกิจกรรมปกติ มีการพบทนายหรือญาติบ้าง และร่วมกิจกรรมกับเพื่อนผู้ต้องขัง แต่วันเกิดเหตุได้มีการเยี่ยมญาติเป็นระยะเวลานานพอสมควร จากนั้น เวลาประมาณ 3-4 โมงเย็นผู้กำกับโจ้เดินกลับไปยังเรือนนอน ส่วนที่ผ่านมาเคยคุยกับญาตินานถึงไหนก็ต้องไปตรวจสอบ
...

นอกจากนี้ข้อมูลที่พบว่ามีการพูดคุยโวยวายกับทางญาติเท่าที่ได้รับรายงานเกี่ยวข้องกับสถานการณ์บางอย่าง เช่น ลักษณะท่าทางแฟนผู้กำกับเหมือนร้องไห้ ซึ่งมีเสียงบันทึกแต่ไม่สามารถยืนยันได้และอยู่ระหว่างตรวจสอบ ส่วนคำสั่งให้นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปปฏิบัติหน้าที่ ผบ.เรือนจำกลางคลองเปรม อีกหน้าที่หนึ่ง และให้นายเผด็จ หริ่งรอด กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เพื่อต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่น นายเผด็จเพิ่งย้ายมารับตำแหน่ง ผบ.เรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อต้นเดือน ก.พ. 68 ขณะเดียวกันได้มีการสอบสวน นายสิทธิพร ผู้คุมคู่กรณี และไม่อยากพูดในเรื่องนี้เพราะเหมือนเป็นการกล่าวร้ายผู้กำกับโจ้ แต่ทุกอย่างมีข้อมูลทั้งหมด อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนเนื่องจากขณะนี้พบว่าผู้คุมสิทธิพรไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะมีสื่อตามไปสัมภาษณ์ลูกชายผู้คุม ซึ่งป่วยซึมเศร้าแต่ยัดเยียดสอบถามต่างๆ จนต้องย้ายที่อยู่ ต้องแยกความเป็นส่วนตัวให้ออกและกลายเป็นละเมิดสิทธิเสียเอง
นายสหการณ์ กล่าวว่า มีเอกสารที่ระบุว่า อดีตผู้กำกับโจ้ ลงชื่อย้ายแดนคุมขังเอง และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็พร้อมที่จะนำมาเปิดเผย รวมทั้งเอกสารที่อดีตผู้กำกับโจ้มีการลงลายมือชื่อยินยอมให้ยุติการสืบสวนกรณีการทำร้ายร่างกาย และถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานแล้ว ส่วนการยินยอมเซ็นเอกสารดังกล่าวจะมาจากความสมัครใจหรือถูกบังคับนั้นจะต้องมีการตรวจสอบทุกประเด็น ต้องเรียนว่าเรือนจำกลางคลองเปรมมีลักษณะที่เข้มงวด เพื่อควบคุมดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้ต้องขัง กรณีที่มีสื่อมวลชนหรือสังคมตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของผู้คุมบางอย่างเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ นักโทษทุกคนต้องทำตามกฎระเบียบ หากมีนักโทษบางคนต้องการแสดงอิทธิพล หรือฝ่าฝืนระเบียบ ก็ต้องถามกลับว่าในฐานะผู้คุมต้องทำอย่างไร กรณีของผู้กำกับโจ้ พบมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง มีข้อมูลยืนยัน แต่ไม่อยากพูดพาดพิงผู้เสียชีวิต
ส่วนประเด็นที่ครอบครัวระบุว่าผู้เสียชีวิตถูกทำร้าย ยืนยันว่าสามารถตรวจสอบได้ กรณีที่ก่อนหน้านี้มีผลแพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ระบุว่าผู้เสียชีวิตถูกทำร้ายร่างกายด้วยของแข็งไม่มีคมได้รับบาดเจ็บ ได้รับบาดเจ็บที่ซี่โครงนั้น ก็เป็นคนละช่วงเวลากับการถูกคุมขังในแดนที่มีนายสิทธิพรดูแล เชื่อว่าความจริงจะปรากฏเอง การนำผู้กำกับโจ้มาแยกขังที่แดน 5 ก็เพื่อเตรียมที่จะดำเนินการสอบสวนประเด็นที่ผู้เสียชีวิตมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง และเจ้าตัวประสงค์อยากอยู่คนเดียว

ขณะเดียวกันนายสหการณ์ ยังกล่าวถึงการตรวจสอบกรณีญาติ ผู้ต้องขังเรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี ถูกผู้คุมทำร้ายร่างกาย หวั่นซ้ำรอยผู้กำกับโจ้ ว่า เรือนจำกลางเขาบินจะมีแดนแยกตามพฤติกรรมผู้ต้องขัง ถือเป็นพื้นที่ควบคุม เพราะฉะนั้นตามกฎหมายราชทัณฑ์จะจัดระดับการดูแล เรือนจำกลางเขาดินถือเป็นเรือนจำความมั่นคงสูงสุดที่คุมขัง ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับยาเสพติด มีความผิดสร้างความเสียหายร้ายแรง รวมถึงมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีผู้ต้องขัง 3,000 - 4,000 คน ทำให้ผู้คุมต้องมีระเบียบที่เข้มงวดกวดขัน หากมีการฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ต้องเข้าระงับเหตุทันที แต่กรณีนี้ทราบว่าเกิดจากการทะเลาะวิวาท และต้องตรวจสอบว่าใครเป็นคนก่อเรื่อง จะถูกส่งแดน Super Max ตัดสิทธิประโยชน์แต่ไม่ได้ทรมาน เมื่อดีขึ้นกลับแดนปกติ ส่วนที่มีการร้องเรียนว่าผู้คุมทำร้ายร่างกาย ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ
...
การร้องเรียนของผู้ต้องขังมีทุกเรือนจำฯ ทั่วประเทศตามสิทธิ แต่ก็มีการยุติหลายเรื่องเพราะไม่มีมูล อย่างไรก็ตาม คนทำผิดอาญามาอยู่ในเรือนจำ ต้องมีกติกา วินัยเข้มงวดเพื่อช่วยดูแลแก้ไขฟื้นฟูให้คนเหล่านี้กลับสังคม ส่วนจะเป็นความกดดันทำให้นักโทษคนหนึ่งเขียนจดหมายน้อยฝากเพื่อนออกมาจากภายในเรือนจำ ก็ต้องตรวจสอบ และมีการตั้งคณะกรรมการส่งเรื่องมายังกรมราชทัณฑ์แล้ว