"รณณรงค์" นำแม่นักโทษชายเรือนจำเขาบิน ร้องดีเอสไอ ตรวจสอบผู้คุม อ้างลูกถูกทำร้ายหนัก เกือบเอาชีวิตไม่รอด ตอนนี้อยู่ระหว่างงดเยี่ยม 3 เดือน เกรงลูกจะไม่ปลอดภัย

กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 มี.ค. นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร ประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วย นางเอ (นามสมมติ) อายุ 52 ปี และ น.ส.บี (นามสมมติ) อายุ 32 แม่และพี่สาวของนายซี (นามสมมติ) อายุ 30 ปี นักโทษชายเรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมกับเอกสารพยานหลักฐานต่าง ๆ ต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีลูกชายซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด โทษพิพากษาล่าสุดรวม 35 ปี อ้างว่าถูกผู้คุมของเรือนจำทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมายและกลัวจะซ้ำรอยกับอดีตผู้กำกับโจ้ โดยมี นายสมเกียรติ เพชรประดับ ผอ.ส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ กองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้แทนรับเรื่อง

นายรณณรงค์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีกรณีการร้องเรียนที่ผู้คุมเรือนจำแห่งหนึ่งได้ทำร้ายผู้ต้องขัง ซึ่งทางผู้ต้องขังได้ติดต่อให้ทางญาติดำเนินการเอาเรื่องให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามหลักของสิทธิมนุษยชน และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ รวมไปถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้ทางญาติได้มีการร้องเรียนไปยังเรือนจำต้นสังกัดแล้ว แต่ไม่มีความชัดเจนและไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งเมื่อปรากฏข่าวของผู้กำกับโจ้ที่ได้เสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยสาเหตุแปลก ๆ ซึ่งลูกของเขาก็ถูกแยกขังเดี่ยวถูกลงโทษอยู่เหมือนกัน ทั้งลูกของเขามีการจัดทำจดหมายน้อยออกมา 1 ฉบับ เพื่อขอความช่วยเหลือมายังญาติ เราจึงมีความประสงค์ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายอุ้มหาย เพราะถ้าหากดีเอสไอจะสอบสวนคดีของคดีผู้กำกับโจ้ ก็อยากให้ท่านปฏิบัติกับนักโทษที่ให้ญาติมาติดต่อร้องเรียนเหมือนกันกับทุกคนด้วย เพื่อให้มันเกิดความโปร่งใส

...

ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีความผิดแต่อย่างใด แต่เมื่อมันมีการร้องเรียนก็ต้องมีการตรวจสอบและต้องมีคำอธิบายได้ และการตรวจสอบที่ว่าคงไม่ใช่ให้ญาติไปดู แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถให้เข้าไปตรวจสอบและอธิบายญาติ ซึ่งมันเป็นหลักการทั่วไปในแง่ของการถ่วงดุลการใช้อำนาจของแต่ละหน่วยงาน ถ้ามันมีคนถูกกระทำอยู่ในหน่วยงานของท่าน มันก็ต้องให้หน่วยงานภายนอกได้เข้าไปตรวจสอบใช่หรือไม่ แล้วถ้าเรื่องนี้หากยังไม่มีความกระจ่างก็คงจะต้องขยับขึ้นไปถึงหน่วยที่สูงขึ้นไปอีก และที่เราเอามาพูดในวันนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เราต้องมีสิทธิ์สามารถเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังได้

แม้ผู้ต้องขังจะกระทำความผิดตามกฎหมายก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีสิทธิ์ไปซ้อมทรมานเขาเช่นนั้น และนอกจากจดหมายน้อยของผู้ต้องขังแล้ว ก็ยังมีเรื่องของเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าถูกทำร้ายร่างกาย แต่ก็มีเท่าที่สามารถหาได้ เนื่องจากเรือนจำเป็นพื้นที่พิเศษ ไม่ใช่พื้นที่ปกติ ขนาดตำรวจได้เข้าไปในเรือนจำฯ ยังพูดเองเลยว่าเข้าไปในเรือนจำก็ยังไม่ได้เห็นสภาพศพของผู้กำกับโจ้ อย่าทำให้หน่วยงานเป็นเหมือนแดนสนธยา อย่าทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัย ถึงแม้ทางราชทัณฑ์ กับ ผบ.เรือนจำฯ จะเคยออกมาให้ข่าวชี้แจงกรณีนี้แล้ว แต่เราก็จะให้ทางญาติเข้าให้ข้อมูลกับทางดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าภายในเรือนจำไม่มีการซ้อมทรมาน

ด้านนางเอ (นามสมมติ) อายุ 52 ปี แม่ของผู้ต้องขัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.67 ตนได้เข้าเยี่ยมลูกชาย เพราะเรือนจำเปิดเยี่ยมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ต้องขัง จึงได้มีโอกาสเยี่ยมลูก แต่ลูกได้บอกว่าถูกทำร้ายหนักมาก ถึงขนาดเกือบเอาชีวิตไม่รอด เกือบไม่ได้เห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่ และลูกก็ได้ขอให้ช่วยร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือเขาด้วย ซึ่งลูกของตนอยู่ที่แดน 4 ถือเป็นแดนที่มีการควบคุมพิเศษ ทำให้การเยี่ยมแต่ละครั้งจะถูกบันทึกทั้งภาพและเสียงเอาไว้ เพราะเป็นการเยี่ยมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ลูกชายจึงไม่สามารถเปิดร่องรอยภาพบาดแผลที่ถูกทำร้ายให้ดูได้ ทั้งนี้ เนื่องด้วยเวลาจำกัดในการเยี่ยมจึงยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก

นางเอ กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกชายถูกผู้คุมซ้อมนั้นเนื่องจาก เท่าที่ทราบในเรือนจำดังกล่าว มีการแบ่งเป็น 2 บ้าน คือ บ้านภาคกลางและบ้านภาคใต้ ซึ่งจะมีปัญหากันบ่อย และมีการทะเลาะวิวาทกันเกิดขึ้น เสมือนเป็นการจราจล ทำให้ทางผู้คุมเข้าไประงับเหตุและมีการทำร้ายร่างกาย โดยผู้คุมได้ใช้ไม้กระบองตี ซึ่งตนยอมรับว่าลูกชายกระทำผิดวินัยผู้ต้องขังจริง เพราะลูกชายคือ 1 ใน 11 คนของบ้านภาคกลางที่ไปร่วมทะเลาะวิวาทกับคนบ้านภาคใต้

ทั้งนี้ หากเป็นการตีพอสมควรแก่เหตุ ทางครอบครัวก็ยังรับได้ แต่ครั้งนี้เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ มีการใช้เท้าที่สวมรองเท้าคอมแบทกระทืบตามร่างกาย และตีทั่วตัว และยังมีการใช้สายเคเบิ้ลไทร์รัดมือไขว้หลัง บังคับให้ผู้ต้องขังนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น อีกทั้งผู้คุมยังสั่งให้มีการพูดว่า "สวัสดีครับ ซูเปอร์แม็กซ์" เหมือนตากปลาแดดเดียว จากนั้นบังคับให้คลานไปกับพื้นในท่าแถกปลาหมอ คลานไปให้ถึงประตูห้องขังแดน 4 คนไหนช้าก็จะถูกชู้ตเข้าไปจนได้รับบาดเจ็บ นี่คือคำบอกเล่าของลูกชาย

ตนมองว่าการลงโทษจะต้องมีกรอบ แต่นี่เป็นการลงโทษแบบทารุณเกินกว่าเหตุหรือไม่ อีกทั้งขณะนี้ลูกชายถูกงดเยี่ยม 3 เดือน เนื่องจากผิดวินัยผู้ต้องขัง ตนก็ยังกังวลเรื่องความปลอดภัยของลูกชาย เพราะเห็นข่าวของ ผกก.โจ้ เพราะตนได้เข้าเยี่ยมลูกชายครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าลูกชายซูบผอมลงมาก เนื่องจากถูกลดปริมาณข้าว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 มี.ค. เพื่อนของลูกชายที่พ้นโทษก็ได้ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน โดยมีการระบุชื่อของผู้คุมที่ทำร้ายร่างกายไว้อย่างชัดเจน เพื่อขอให้พนักงานสอบสวนได้เข้าไปสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องด้านในเรือนจำ แต่ในตอนนี้ตนยังไม่ทราบความคืบหน้าอะไรเลยว่าพนักงานสอบสวนได้เข้าไปหรือยัง แต่ทางพนักงานสอบสวนก็ได้ติดต่อมาทางลูกสาวตน เพื่อจะขอสอบปากคำตน แต่ลูกสาวตนบอกว่า พนักงานสอบสวนควรจะไปสอบปากคำผู้ต้องขังภายในเรือนจำมากกว่าไม่ใช่มาสอบปากคำแม่

...

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ เมื่อมีการออกมาให้ข่าวเช่นนี้แล้วทางผู้คุมที่เขาเป็นคู่กรณีจะเห็นข่าวแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายนั้น นางเอ กล่าวว่า ยอมรับว่า ก็มีความกังวลมาก กังวลเรื่องความปลอดภัยของลูกชาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นางเอ (นามสมมติ) ได้มีการโชว์จดหมายน้อย ซึ่งลูกชายได้เขียนเรื่องราวเอาไว้ก่อนมอบให้กับเพื่อนผู้ต้องขังชายที่ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษออกไปก่อน เพื่อให้ครอบครัวได้มาทำเรื่องร้องเรียนและแจ้งความ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนภายในจดหมายน้อยได้มีการระบุถึงพฤติกรรมของผู้คุมที่มีการเลือกปฏิบัติ มีการตัดการเยี่ยมญาติ มีการลดปริมาณข้าว ฯลฯ และอยากให้เรื่องร้องเรียนดังกล่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ถูกแจ้งไปยังคณะกรรมการทรมานฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงได้โชว์รูปภาพของเพื่อนลูกชายที่เพิ่งพ้นโทษออกมา ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ 11 คนในบ้านภาคกลาง ที่ได้ถูกผู้คุมระงับเหตุการณ์จราจลและถูกทำร้ายร่างกาย ปรากฏร่องรอยบาดแผลตามตัวด้วย