ประชาชนไทยทุบสถิติครอบครองปืน 10.3 ล้านกระบอก สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก คิดเป็นอาวุธปืนขนาดเล็ก 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ผบ.ตร. "ต่อศักดิ์" สั่งตำรวจไซเบอร์ หาข่าว เร่งกวาดล้างปืนเถื่อน-สิ่งเทียมคล้ายอาวุธ เตรียมหารือบริษัทขนส่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางในการป้องกันสกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมาย
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 4 ตุลาคม 2566 พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมโดยในห้วงที่ผ่านมามีการกระทำความผิดและใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุอยู่บ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความสูญเสียและความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อบูรณาการกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนพร้อมกันทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาได้ระดมกวาดล้างจำนวนมาก
ขณะเดียวกันพบว่าแม้มีการจับกุมได้ต่อเนื่อง แต่ยังพบว่ามีการซื้อขายอาวุธปืนทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการซื้อขายในออนไลน์ อีกทั้งพบมีการดัดแปลงอาวุธปืนมาจำหน่าย
ซึ่งทาง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้มีข้อสั่งการมายัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้ว โดย ผบช.สอท.ได้สั่งการให้ทุก บก.ในสังกัด หาข่าว มุ่งเน้นเพื่อตรวจค้น จับกุม กลุ่มคนที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนผิดกฎหมายทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการลักลอบจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ทั้ง On Ground และผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันพบว่าอาชญากรรมส่วนใหญ่ที่พบ เป็นอาวุธปืนเถื่อนไม่ว่าเป็นอาวุธปืนแบลงค์กัน (Blank Gun) ที่ถูกนำมาดัดแปลงใช้ยิงกระสุนจริงได้ ซึ่งหลังจากนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อกวาดล้างครั้งใหญ่ต่อไป
...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 65 ตำรวจไซเบอร์เปิดยุทธการ CyberCop cracked down on Online Scammers ตรวจยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือการตรวจยึกแบลงค์กันได้กว่า 2,300 กระบอก กระสุนปืนกว่าแสนนัด หลังพบการซื้อขายออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์และส่งสินค้าผ่านเอกชน โดยการแถลงข่าวครั้งนั้น กองพิสูจน์หลักฐานออกมายืนยัน ปืนแบลงค์กัน หากนำมาดัดแปลงให้ขับกระสุนออกได้ ก็มีสภาพเทียบเท่าอาวุธปืนจริง เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
อีกทั้ง หากมีการดัดแปลงเมื่อยิงกระสุนแบลงค์ แรงดันที่เกิดขึ้นดันกระสุนจำลองพุ่งใส่ร่างจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ตอกย้ำอานุภาพของแบลงค์กัน อันตรายเกินกว่าจะเป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่น่าตกใจในแต่ละเดือนมีการส่งปืนแบลงค์กันมาให้ทางกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบเฉลี่ยเดือนละกว่า 100 กระบอก หรือปีละ 1,200-1,500 กระบอก ส่วนใหญ่เป็นอาวุธปืนแบลงค์กันที่ดัดแปลงแล้ว และนำไปใช้ก่อเหตุต่างๆ
ทั้งนี้มีรายงานว่าทางตำรวจเตรียมหารือบริษัทขนส่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางในการป้องกันสกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งอาวุธปืน ยาเสพติด ต่อไป
สำหรับประเด็นเรื่องปืนแบลงค์กันนั้น เคยเป็นข้อถกเถียงระหว่างทางตำรวจกับกรมการปกครองในการตีความว่าเป็นอาวุธหรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายหน่วยงานที่ทดสอบปืนชนิดนี้แล้วว่าถ้ากระสุนเข้าจุดสำคัญของร่างกายมีขีดความสามารถทำอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งเคยออกมาให้ข้อมูลในการตีความว่าเป็นอาวุธปืน แต่ทางเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองได้โต้งแย้งว่าไม่ใช้อาวุธปืน และยืนยันว่าเป็นแค่สิ่งเทียมอาวุธปืน ทำให้ปืนแบลค์กันมีผู้นำเข้าและมีการโพสต์ขายกันเกลื่อนในช่องทางออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม จึงทำให้ซื้อหาเพื่อนำมาใช้ได้อย่างง่าย ก่อนนำมาดัดแปลงลำกล้องและชุดลั่นไกสามารถใส่กระสุนจริงได้ จนนำมาสู่การก่อเหตุรุนแรงด้วยปืนชนิดนี้
มีรายงานว่า ข้อมูลจากองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืนขนาดเล็ก (Small Arms Survey) หรือ SAS ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า หากดูสถิติประเทศที่พลเรือนครอบครองปืนสูงสุด อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ประมาณ 393.3 ล้านกระบอก อันดับ 2 อินเดีย ประมาณ 71.1 ล้านกระบอก อันดับ 3 จีน ประมาณ 49.7 ล้านกระบอก ขณะที่ประชาชนไทยครอบครองอาวุธปืนขนาดเล็กในปี 2017 เป็นอันดับ 13 ของโลก หากนับประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน ประชากรของไทย 68 ล้านคน มีอาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของพลเรือนมีถึง 10,342,000 กระบอก นับเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคิดเป็นอาวุธปืนขนาดเล็ก 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร ขณะที่ปืนราว 6.2 ล้านกระบอก มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปืนไม่มีทะเบียนราว 6 ล้านกระบอก
เช่นเดียวกับเว็บไซต์ World Population Review ที่เผยแพร่ ผลสำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลกประจำปี 2022 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 มีผู้เสียชีวิต 2,804 คน โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน
ขณะที่ 5 อันดับแรก ของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับที่ 1. บราซิล (มากกว่า 49,000 คน) อันดับ 2. สหรัฐฯ (37,000 คน) 3. เม็กซิโก (22,118 คน ) 4. อินเดีย (14,712 คน) 5. โคลอมเบีย (13,171 คน) ส่วนในอาเซียน ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุด (9,267 คน).