ผู้การโคราชเต้นสั่งตั้งกรรมการสอบ พ.ต.ท.ฉาวเรียกเงินค่าทำคดีรถชนจากผู้เสียหาย 5 แสนบาท หลังสาวใหญ่ร้องขอความเป็นธรรมกรณีสามีถูกรถกระบะชนรถ จยย.เสียชีวิต ศาลตัดสินชนะคดีให้คู่กรณีจ่ายค่าสินไหม 1 ล้านกลับถูกพนักงานสอบสวนรีดเงินถึงครึ่งล้าน ติดต่อทนายความมาเจรจาต่อรองเหลือ 2 แสน สุดท้ายโดนทนายเรียกเงินซ้ำอีกกว่าแสนบาท วอนขอเงินคืน หลังต้องรับภาระเลี้ยงลูก 2 คนตามลำพัง แฉพฤติกรรมเข้าข่ายผิด ม.157 จี้รายงานผลให้ทราบภายใน 5 วัน ด้านเจ้าตัวเงียบติดต่อไม่ได้
สั่งสอบสารวัตรเรียกเงินค่าทำคดีรถชนจากผู้เสียหายครึ่งล้าน เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 ส.ค.พล.ต.ต.อิทธิพล นาคคำ ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียหายร้องขอความเป็นธรรมอ้างว่าถูก พ.ต.ท.ประกิจ ชอบขยัน อดีต สว. (สอบสวน) สภ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา ปัจจุบันย้ายไปเป็น สว. (สอบสวน) สภ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เรียกเงินค่าทำคดีรถชนคนตายเป็นเงิน 500,000 บาท หลังผู้เสียหายเป็นฝ่ายชนะคดีได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,000,000 บาท เหตุเกิดช่วงเดือน ก.ย.2565 ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 30 ส.ค.2566 และให้รายงานทราบผลในวันที่ 4 ก.ย.2566
พล.ต.ต.อิทธิพล นาคคำ ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายฐานความผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนายตำรวจที่ถูกกล่าวหา มอบหมายให้พ.ต.อ.มารุต เรืองจินตนา รอง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา รับผิดชอบควบคุมการสอบสวน ตอนนี้รู้ตัวพนักงานสอบสวนที่ถูกกล่าวหาแล้วจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน เพราะถือเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สร้างความเสียหายต่อองค์กรและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน หากพบความผิดจริงก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายและเอาผิดทางวินัยของข้าราชการตำรวจด้วย แต่บทลงโทษจะรุนแรงขนาดไหนขอดูในรายละเอียดการสอบสวนอีกครั้ง
...
สำหรับเหตุอื้อฉาววงการตำรวจครั้งนี้สืบเนื่องจากนางอารยา ภูคำวงษ์ อายุ 50 ปี ทำงานเป็นลูกจ้างร้านวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่งใน อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้มีการสอบสวนพฤติกรรมพนักงานสอบสวน สภ.ขามทะเลสอ กรณีสามีของนางอารยาประสบอุบัติเหตุถูกรถกระบะพุ่งชนรถจยย.เสียชีวิตเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา ต่อมาศาลตัดสินให้คนขับรถกระบะคู่กรณีต้องชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยให้กับภรรยาของผู้เสียชีวิตเป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่พนักงานสอบสวนคนดังกล่าวกลับเรียกเงิน 500,000 บาทอ้างว่าเป็นค่าทำคดี
นางอารยาเปิดเผยว่า ระหว่างมีการทำคดีพนักงานสอบสวนคนดังกล่าวได้เรียกตนไปสอบปากคำถึง 3-4 ครั้ง กระทั่งนำเรื่องไปปรึกษาทนายความคนหนึ่งให้มาช่วยเหลือ หลังทนายความมาเจรจากับพนักงานสอบสวนต่อรองลดราคาไปจบที่ 200,000 บาท ส่วนทนายเรียกเงิน 1 แสนบาท เป็นค่าดำเนินการบวกค่าน้ำมันอีก 5,000 บาท ต่อมาวันที่ 25 ต.ค.2565 ตนไปรับเช็คค่าสินไหมจากธนาคาร พนักงานสอบสวนคนดังกล่าวและทนายตามไปที่ธนาคารเพื่อเบิกเงินสดนำใส่ซองกระดาษสีน้ำตาลตำรวจ 200,000 บาท และทนายอีก 100,000 บาท รวมเบ็ดเสร็จ 305,000 บาท
“ตอนนั้นได้ยกมือไหว้อ้อนวอนตำรวจว่าอย่าเอาเงินก้อนนี้ไปเลย เพราะต้องใช้เงินรักษาอาการป่วยเรื้อรังและดูแลลูกอีก 2 คน ตามลำพัง เนื่องจากสามีที่เป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตไปแล้ว แต่ตำรวจไม่ยอมยืนยันจะต้องได้เงิน ตัวเองไม่รู้ข้อกฎหมาย จำต้องยอมจ่ายให้” นางอารยากล่าวและว่า ส่วนสาเหตุที่ออกมาเรียกร้องเพราะอยากขอความเป็นธรรมและต้องการเงินในส่วนนี้คืนมา อีกทั้งนายตำรวจคนดังกล่าวย้ายออกไปแล้ว อยากให้กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ไม่ให้ตำรวจและทนายความไปทำพฤติกรรมแบบนี้กับคนอื่นอีก
ต่อมาผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยังสารวัตรที่ถูกกล่าวหา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้