"อัยการธนกฤต" แจงข้อกฎหมายวิธีได้รับเงินคืน และเรียกค่าเสียหายจากบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น "ดารุมะ" แนะผู้เสียหายแจ้งความ เก็บรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีการเรียกร้องเงินและค่าเสียหาย กรณีบุฟเฟต์ดารุมะ ว่า
กรณีของร้านดารุมะนี้ หลังจากผู้เสียหายแจ้งความและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องผู้กระทำผิดแล้ว ในชั้นฟ้องคดีของอัยการ ถ้าหากอัยการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาฉ้อโกงประชาชน อัยการก็จะอำนาจตาม ป.วิอาญามาตรา 43 เรียกร้องเฉพาะเงินที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงได้แต่เรียกค่าสินไหมส่วนอื่นไม่ได้
ทั้งนี้ หากผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการถูกฉ้อโกงในกรณีร้านดารุมะนี้ ประสงค์จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยเพิ่มเติมไปจากเงินที่ถูกฉ้อโกงไป ก็ยังมีช่องทางตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ ด้วยการที่ผู้เสียหายไปยื่นคำร้องต่อศาลที่อัยการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยก่อนที่จะเริ่มสืบพยาน เพื่อขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ตนเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยหากคดีนี้มีผู้เสียหายที่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก บรรดาผู้เสียหายเหล่านั้นก็อาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนตนได้
ในระหว่างนี้ สิ่งที่ผู้เสียหายสามารถกระทำได้ คือควรที่จะเก็บและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่สามารถใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรองรับสิทธิในการได้รับชดใช้เงินคืน รวมทั้งสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ถ้าหากต่อไปภายหน้าสามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายและมีการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยต่อศาลต่อไป.
...