ปคบ. รวบสาวแสบเปิดเพจขายของออนไลน์ เชิดเงินหนีไม่มีสินค้าส่ง เงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 7 ล้านบาท พร้อมวอน ปชช.พบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับสินค้าที่ผิดกฎหมาย แจ้งได้สายด่วน 1135
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 8 ก.ย. 64 พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. สั่งการให้ พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ. พ.ต.ต.กฤษณ์ พิพัฒน์พูนสิริ สว.สอบสวน กก.1 บก.ปคบ. นำชุดสืบสวนกก.1.บก.ปคบ. จับกุม น.ส.เสาวรส คำอาบ อายุ 31 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1465/2564 ลงวันที่ 8 ก.ย. 64 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จับได้บริเวณด้านหน้าคอนโดเดอะคาบาน่า ต.สำโรง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ เปิดเผยว่า น.ส.เสาวรส ได้เปิดเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สมจิตร” และได้นำภาพสินค้าหลากหลายอย่างมาลงขายในช่องมาร์เก็ตเพลส (Marketplace) ปัจจุบันได้ปิดไปแล้ว โพสต์ประกาศขายอุปกรณ์ติดตามสิ่งของ หรือ Apple AirTag ผ่านทางช่องทางดังกล่าว ในราคา 590 บาท ซึ่งราคาตลาดทั่วไปขายกันอยู่ที่ 990 บาท ผู้เสียหายสนใจ ติดต่อซื้อ Apple AirTag จำนวน 1 ชิ้น ราคา 500 บาท โอนเงินเข้าบัญชีของ น.ส.เสาวรส หลังจากนั้นกลับไม่ได้รับสินค้า สอบถามไปยังเพจของผู้ต้องหาได้รับการบ่ายเบี่ยงตลอด ก่อนปิดเพจหลบหนีไป จึงได้มาแจ้งความกับ กก.1 บก.ปคบ.
...

ผกก.1.บก.ปคบ. กล่าวต่อว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเส้นทางการทำธุรกรรมการเงินของ น.ส.เสาวรส พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีเงินหมุนเวียนในบัญชี กว่า 7 ล้านบาท จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับไว้ กระทั่งจับกุมตัวได้ดังกล่าว
สอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ไม่มีงานทำ จึงได้หลอกลวงขายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายและใช้จ่ายทั่วไป นำตัวส่ง กก.1.บก.ปคบ.ดำเนินคดีต่อไป ตรวจสอบประวัติพบเคยก่อเหตุลักษณะดังกล่าว มาแล้ว 2 คดี ถูกจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 59 และ 63 สำหรับการกลับมาก่อเหตุอีกครั้ง เนื่องจากผู้ต้องหาจะอาศัยว่ายอดความเสียหายมีจำนวนไม่มาก เหยื่อส่วนใหญ่จะปล่อยเลยไปไม่ติดใจที่จะแจ้งความดำเนินคดี
กองบังคับการปราบปรามการประทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จึงขอประชาสัมพันธ์ ให้ตรวจสอบผู้จำหน่ายสินค้า มีการจดทะเบียนบริษัทถูกต้องหรือไม่ จดทะเบียนเมื่อไหร่ มีสถานที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ใด มีการประกอบการจริงหรือไม่ มีการรับประกันสินค้าหรือไม่ ตรวจสอบตัวสินค้าว่าไม่โฆษณาเกินความจริง มี อย., มอก. และราคาไม่แพงหรือถูกจนเกินไป และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับสินค้าที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ทางสายด่วน 1135, ศูนย์รับเรื่องรวมร้องทุกข์ บก.ปคบ., เพจเฟซบุ๊ก "กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค" และ เว็บไซต์ www.cppd.go.th.