ปอศ.นำตัว "ประสิทธิ์ เจียวก๊ก" ฝากขังต่อศาลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คดีฉ้อโกงประชาชนหลอกลงทุนธุรกิจให้เช่ากระเป๋าแบรนด์เนม พร้อมค้านประกันตัว ขณะที่ผู้ต้องหายื่นหลักทรัพย์ลุ้นขอประกัน
ที่ศาลอาญา เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 พ.ค. ร.ต.อ.เจษฎา เหมโก พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ได้ฝากขัง นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนครั้งแรกผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
โดยคำร้องบรรยายว่า ก่อนหน้านี้ นายอติชาติ เลาหะพิบูลกุล ผู้เสียหายกับพวกรวม 19 คน ได้รับเชิญไปงานเปิดตัวบริษัท วีเลิฟ ยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จำกัด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2563 ที่โรงแรมทริปเปิ้ลวาย ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ โดยมีผู้ต้องหากับพวกร่วมกันประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุนในธุรกิจซื้อขายและเช่ากระเป๋าแบรนด์เนมผ่านบริษัทดังกล่าว โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง เพียงแต่รอรับเงินปันผลภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น โดยการทำธุรกิจปล่อยเช่ากระเป๋าแบรนด์เนมแก่ลูกค้าทั่วไป อ้างว่ามีฐานลูกค้ากว่า 1 แสนราย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตัดสินใจเข้าร่วมลงทุน
โดยรายละเอียดในการลงทุนกับธุรกิจกระเป๋าแบรนด์เนมมีขั้นตอนดังนี้ คือ ให้เข้าไปเลือกสินค้าจากเว็บไซต์ CRABYBRANDNAME.COM ซึ่งจะมีภาพกระเป๋าแบรนด์เนม หลายยี่ห้อ พร้อมราคาสินค้า จากนั้นสามารถเลือกสินค้าได้หลายชิ้นตามที่ต้องการลงทุน แล้วสามารถชำระเงินได้หลายช่องทาง เช่น จ่ายเป็นเงินสด ผ่านบัตรเคดิต หรือ โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารต่างๆ หลายแห่ง หรือชำระเป็นทองคำ เมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว จะมีสัญญาที่ลงลายมือชื่อ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้จากเว็บไซต์ของร้าน และจะได้รับใบเสร็จรับเงิน ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับผลตอบแทน ทุกวันที่ 30 ของเดือน แต่ปรากฏว่ามิได้มีการจ่ายเงินตอบแทนตามที่สัญญาตกลงกันไว้แก่ผู้เสียหาย จึงได้มีการทวงถามทั้งทางโทรศัพท์และทางไลน์ แต่เริ่มติดต่อได้ยากขึ้น จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง
...
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า บริษัทดังกล่าวไม่พบว่ามีการลงทะเบียนทางศุลกากรจริง และผู้เสียหายไม่ได้รับเงินตอบแทนแต่อย่างใด ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสิ้น 21,583,846 บาท จึงแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าว ต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับนายประสิทธิ์ผู้ต้องหา กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 749/2564 ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับตำรวจ ปอท.ตามที่ถูกออกหมายจับ จึงแจ้งข้อหาว่า ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินเป็นการฉ้อโกงประชาชน เหตุเกิดที่เขตปทุมวัน และเขตห้วยขวาง กทม.ต่อเนื่องกัน
ทั้งนี้พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องหาจะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่เสร็จ จะต้องรอสอบปากคำพยานบุคคลอีก 30 ปาก และรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษ จึงขอฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 พ.ค. 2564 และขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ อีกทั้งมีประชาชนตกเป็นผู้เสียหายจำนวนมาก และทางการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหารายนี้เป็นผู้บงการ รวมทั้งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารและมีอำนาจจัดการในบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ การปล่อยชั่วคราวอาจทำให้เสียหายต่อรูปคดี ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาผู้ต้องหาได้ยื่นหลักทรัพย์พร้อมคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวศาลอยู่ระหว่างพิจารณา

พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ รอง ผบก.ปอศ. หนึ่งในคณะทำงานชุดคลี่คลายคดี นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก และเครือข่ายร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กล่าวว่า จากการสอบปากคำนายประสิทธิ์ ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา หลังเจ้าตัวเข้ามอบตัวกับตำรวจนั้น ยังคงยืนกรานปฏิเสธ ส่วนเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุน การชักชวนผู้เสียหายหรือการโอนย้ายทรัพย์สินต่างๆ นั้น ยังไม่ขอให้การในชั้นพนักงานสอบสวน ซ้ำยังยืนยันว่าธุรกิจต่างๆ ของบริษัทในเครือ ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้
ด้าน พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานชุดคลี่คลายคดี กล่าวถึงกรณีเพจโครงการคืนคุณแผ่นดิน โพสต์ภาพนายประสิทธิ์ กำลังหารือร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำกัด เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีนายตำรวจระดับสูงให้การต้อนรับ ว่า จากการตรวจสอบบริษัทสหกรณ์ออมทรัพย์การค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน จำกัด ในเครือของนายประสิทธิ์ พบว่ามีการยกเลิกและปิดตัวบริษัทลงไปก่อน เนื่องจากดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ ยังไม่มีการดำเนินงานใดๆ ร่วมกับสหกรณ์ตำรวจ แต่จากภาพที่ปรากฎ คงเป็นเพียงการหารือกันเท่านั้น
รอง ผบช.ก. กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่านายประสิทธิ์ พาดพิงถึงเบื้องสูงจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 หรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่า การกระทำของนายประสิทธิ์ ที่ทำทีเป็นจิตอาสาทำความดี อันเป็นลักษณะการฉ้อโกงเพื่อสร้างเครดิตให้ตัวเองนั้น ยังไม่เข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย ไม่ได้มีการระดมทุนโดยอ้างว่าจะนำเข้าสถาบัน แต่ขอเรียนประชาชนว่า ขอให้แยกแยะเรื่องการทำความดีกับการกระทำผิดว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
“ส่วนเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเครือข่ายว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปที่ใด ถึงญาติหรือคนใกล้ชิดบ้างหรือไม่ ยอมรับว่ามีความยากพอสมควร แต่ตำรวจจะทำงานอย่างละเอียดและเต็มที่แน่นอน” รอง ผบช.ก. กล่าว.
...