"ราชทัณฑ์" แจงยิบพักโทษ "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เป็นการพิจารณาตามเกณฑ์คุณสมบัติ และประโยชน์ที่นักโทษพึงได้รับ

สืบเนื่องจากกรณีข่าวการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ ว่าเป็นการได้รับสิทธิพิเศษหรือไม่นั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โดยเฉพาะโครงการพัก การลงโทษนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้น เป็นโครงการสำหรับนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป ที่ได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และเหลือโทษที่ต้องได้รับต่อไปอีกไม่เกิน 5 ปี โดยถือว่าเป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งปัจจุบัน นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีกำหนดโทษตามคำพิพากษา 6 ปี 24 เดือน ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2563 ทั้ง 2 รอบ คงเหลือโทษจำคุกครั้งหลังสุด 3 ปี 6 เดือน 20 วัน เมื่อหักวันต้องโทษจำคุกมาแล้ว จึงเหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 2 ปี 4 เดือน 14 วัน

"ด้วยเหตุนี้ นายสรยุทธ จึงถือเป็นนักโทษที่รับโทษจำคุกมาแล้วระยะหนึ่ง และจะมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ในวันที่ 13 มี.ค.64 ซึ่งเมื่อได้รับการพักการลงโทษปล่อยตัว จะต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM (Electronic Monitoring) และต้องประพฤติปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างครบถ้วน ตลอดจนรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกเดือนจนกว่าจะพ้นโทษ"

นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการพิจารณาพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษดังกล่าว นอกจากการพิจารณาจากคุณสมบัตินักโทษที่เข้าเกณฑ์แล้ว นักโทษทุกรายยังจะต้องถูกพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ อันประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เป็นคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณารายชื่อผู้ต้องราชทัณฑ์จากเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ โดยหากผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการฯ แล้ว จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกชั้นหนึ่ง จึงจะถือว่าได้รับการพักการลงโทษ อนึ่ง นอกจากกรณีของ นายสรยุทธ ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับความเห็นชอบพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ทั้งกรณีนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้น และกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ถูกนำรายชื่อเข้าประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในครั้งนี้ รวม 944 ราย.

...