ป.ป.ส. เผยภาครัฐเร่งไขปมตายจากการเสพ "เคนมผง" เผยส่วนผสมมีคีตามีน ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท และไดอะซีแพม ที่เป็นยานอนหลับ เตือนเสพหลายตัวยาในเวลาเดียวกัน อันตรายถึงตายได้
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.64 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เผยจากกรณีมีรายงานข่าวการเสียชีวิตของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนหลายรายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจากการรายงานระบุว่า เกิดจากการเสพคีตามีน ที่เรียกว่า "เคนมผง" ซึ่งคาดว่าเป็นการผสมของคีตามีนกับยาเสพติดชนิดอื่นนั้น
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งตรวจพิสูจน์ถึงสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเสพติดชนิดนี้ โดยการพิสูจน์ทางการแพทย์จากผู้เสียชีวิต และการตรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาส่วนผสมของเคตามีนนมผง ประกอบกับเร่งสืบสวนจับกุมผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อนำมารับโทษทางกฎหมาย ซึ่งถ้าได้รับผลการตรวจพิสูจน์จะรายงานให้ทราบต่อไป โดยขอเตือนภัยผู้ที่ยังใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการใช้ยาเสพติดหรือสารเสพติดเพียงตัวเดียวก็มีอันตรายแล้ว แต่เมื่อมีการใช้ผสมหลายตัวยา และฤทธิ์ต่างกันยิ่งอันตรายมากขึ้น เพราะอาจทำให้ถึงตายได้
นายวิชัย กล่าวถึงสถิติการเสพยาเกินขนาดว่า จากการรายงานของเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาสารเสพติดจากการตรวจหาสารเสพติดจากชีววัตถุทางนิติเวชศาสตร์/นิติวิทยาศาสตร์ พบว่า ผู้ใช้ยาเสพติดจนถึงแก่ความตายหลายรายเป็นผลมาจากการเสพยาเสพติดหลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยจากการตรวจพบผู้เสียชีวิตเนื่องจากใช้ยาเกินขนาด (overdose) ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2562 จำนวน 105 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนไทย รองลงมาเป็นชาวยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนอายุของผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดพบว่าอายุน้อยที่สุดคือ 16 ปี อายุมากที่สุดคือ 66 ปี อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36 ปี และพบว่าแนวโน้มของอายุต่ำสุดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา จะยู่ในช่วง 16-21 ปี
...
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่า สำหรับชนิดสารเสพติดที่ตรวจพบในผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด พบว่าส่วนใหญ่ตรวจพบสารเสพติด 1 ชนิด ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน สารกลุ่มโอปิเอตส์ (Opiates ได้แก่ เฮโรอีน มอร์ฟีน 6-MAM และโคเดอีน) ยากล่อมประสาท และยาเคตามีน ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเสพสารเสพติดร่วมกัน 2 ชนิด และบางคดีเสพร่วมกัน 3 ชนิดอีกด้วย
นายวิชัย กล่าวถึงวัตถุของกลางที่ตำรวจส่งเข้ามาพิสูจน์ที่สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. น้ำหนักรวม 5.314 กรัม โดยลักษณะเป็นผงสีขาว บรรจุมาในซองซิปพลาสติก จำนวนทั้งสิ้น 6 ซองนั้น ผลปรากฏว่าของกลางที่เรียกว่า “เคนมผง” ดังกล่าว มีส่วนผสมของคีตามีนและไดอะซีแพม (Diazepam) หรือยาที่ทั่วไปรู้จักกันในทางการค้าว่า แวเลียม (Valium) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 โดยออกฤทธิ์ที่สมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง ในทางการแพทย์ใช้เป็นยากล่อมประสาทหรือสงบประสาท ทำให้จิตใจสงบ ใช้สำหรับรักษาอาการผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้อาการชัก เป็นต้น
นายวิชัย กล่าวอีกว่า ผลข้างเคียงจากการใช้ไดอะซีแพมนั้นอาจทำให้มีอาการง่วงซึม เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายสูญเสียความสมดุล ลมหายใจอ่อนแรง มึนงง เห็นภาพหลอน ซึมเศร้า กล้ามเนื้อกระตุก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รวมถึงเกิดอาการชักได้ ขณะที่ยาเค หรือคีตามีน (Ketamine) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ใช้เป็นยาสลบก่อนทำการผ่าตัด สามารถระงับปวด ช่วยขยายหลอดลม ต่อต้านอาการซึมเศร้าได้

"ระยะหลังพบว่ามีการนำคีตามีนมาใช้ในทางที่ผิด โดยใช้เพื่อความบันเทิงร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และโคเคน ผู้เสพจะรู้สึกมึนงง ความคิดสับสน ตาลาย หูแว่ว การรับรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจเกิดอาการประสาทหลอน การเสพในระยะเวลานานจะทำให้ผู้เสพประสบกับสภาวะโรคจิต และกลายเป็นคนวิกลจริตได้" เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าว
นายวิชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับความเชื่อมโยงของยาเคนมผงที่พบในหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครนั้น คงต้องดูผลการตรวจพิสูจน์จากของกลางที่พบในคดีอื่นว่าเป็นสารชนิดเดียวกันหรือไม่ รวมถึงอาศัยข้อมูลการสืบสวนสอบสวนขยายผลจับกุมของเจ้าหน้าที่ว่าในแต่ละคดีมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าใดๆ เพิ่มเติม สำนักงาน ป.ป.ส.จะเร่งแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบต่อไป
สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติด หรือต้องการเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 16 แห่ง โรงพยาบาลธัญญารักษ์ 7 แห่ง (โรงพยาบาลเฉพาะทาง) หรือขอรับคำปรึกษาด้านการบำบัดได้ที่ สายด่วน 1165 หรือโทรปรึกษาสถานบำบัดและแจ้งเบาะแสยาเสพติดได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง.