ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง “พ.อ.นที” ไม่ผิด สั่งอาร์เอสถ่ายทอดสัญญาณฟุตบอลโลก 2014 ทางฟรีทีวี ชี้ ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาพิเศษ หรือได้รับประโยชน์อื่นใด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ส.ค.63 ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.3209/2557 ที่บริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) บริษัทในเครือ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้รับอนุญาตจากสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ให้เป็นผู้เผยแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี ค.ศ.2014 แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 5 พ.ย.2555-30 เม.ย.2556 ต่อเนื่องกัน จำเลยเป็นกรรมการ กสทช. ได้ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 และการกำหนดประเภทรายการลำดับที่ 7 ในภาคผนวก (Must Have - มัสต์แฮฟ) ที่กำหนดให้รายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะต้องให้บริการเป็นรายการทั่วไป โดยไม่ฟังคำโต้แย้งจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอล ปี ค.ศ.2014 ประเทศบราซิล ประกาศดังกล่าวทำให้บริษัทอาร์เอสบีเอสที่ได้รับอนุญาตจากฟีฟ่า ได้รับความความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
...
ในวันนี้ พ.อ.นที จำเลยไม่ได้เดินทางมา เนื่องจากได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 มีเพียงทนายตัวแทนโจทก์เข้าฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ก่อนออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 จำเลยเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชน และเป็นการปฏิบัติโดยชอบทางกฎหมาย และการลงมติเห็นชอบและออกประกาศดังกล่าว เป็นการพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่พิจารณาโดยจำเลยเพียงลำพัง อีกทั้งไม่พบว่าจำเลยได้ โน้มน้าว ข่มขู่ ให้คณะกรรมการเห็นด้วยกับจำเลย และหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการนำมาปรับใช้กับทุกสถานีไม่ได้เจาะจงเฉพาะโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง
ส่วนที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกล่าวถึง เจ้าของลิขสิทธ์ถ้าไม่ทำตามจะมีมาตรการปรับ หรือการพักใบอนุญาตหากมีการฝ่าฝืนนั้น ก็เป็นกรณีที่จำเลยได้กล่าวถึงข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่มีการประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาพิเศษหรือได้รับประโยชน์อื่นใด ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นเหมาะสมแล้ว พิพากษายืน ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.