เป็นไปได้หรือ แผน "บรรยินแหกคุก" พบ แรงจูงใจจาก 2 คดี คือ อุ้มฆ่าเสี่ยชูวงษ์ และฆ่าพี่ชายผู้พิพากษานั้นโทษสูง บวกจินตนาการล้ำลึกนักอาชญาวิทยา ประเมิน เจ้าตัวเข้าข่ายกระทำความผิดโดยเป็นนิสัย

พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม เปิดเผยผ่าน "รายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ไทยรัฐทีวีช่อง 32" ว่า การสืบสวนคดีคนร้ายวางแผนชิงตัว "พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์" ผู้ต้องหาร่วมกันกับพวกอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนั้น

เริ่มจากเรามีพยานบุคคล และพยานทางเทคโนโลยี ที่สามารถเอาผิดคดีดังกล่าวได้ ซึ่งประเด็นนี้เริ่มจากพยานบุคคลก่อน คือ นายโจ ตามปกติแล้ว ตำรวจกองปราบจะติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่มีหมายจับเก่าๆ ซึ่งเราได้จับกุมนายโจก่อน จากนั้นก็ซักถามกันละเอียด

โดย นายโจ ก็บอกว่าเพิ่งออกมาจากเรือนจำ ซึ่งพบว่าคนที่มาประกันตัวของนายโจ ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน และนายโจกับ พ.ต.ท.บรรยิน รู้จักกันในคุก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบที่เชี่ยวชาญในการซักรายละเอียดจนได้ข้อมูลทั้งหมด และคาดว่ามีคนที่เกี่ยวข้องในแผนการแหกคุกนี้ประมาณ 10 คน

...

สำหรับประเด็นที่มีการพูดคุยกันนั้น พ.ต.ท.บรรยิน มีคำสั่งให้นายโจทำงานให้ 2 ข้อ คือ ข้อ 1. ให้หาทางชิงตัว พ.ต.ท.บรรยิน ออกจากคุก และให้ชิงตัวบนทางด่วน แต่ถ้าแผนแรกไม่สำเร็จให้ลักพาตัวภรรยาของ ผบ.เรือนจำ มาให้ได้ เพื่อไว้ใช้ในการต่อรองกับ ผบ.เรือนจำ เพื่อบีบบังคับให้ปล่อยตัว   

ส่วน ประเด็นที่ พ.ต.ท.บรรยิน ได้บอกนายโจว่า จะมีคนมาวางระเบิดข้างเรือนจำ จากนั้นจะล้มเสาธงชาติกลางลานสนามหญ้า เพื่อใช้ปีนหนี เมื่อออกมาได้จะมีเฮลิคอปเตอร์นั้น เป็นการพูดทั่วไปในผู้ต้องขังด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องการวางแผน แต่เป็นการพูดว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น

ประเด็นที่ พ.ต.ท.บรรยิน ได้แถลงต่อศาลว่า เครียดมาก ถูกจับขังเดี่ยว ถูกใส่ตรวนตลอดเวลา ถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ ส่วนข่าวเรื่องตนจะแหกคุก ไม่รู้เรื่องเพราะอยู่ในเรือนจำ ถูกพันธนาการตลอดจนเครียดมากถึงขั้นผูกคอตายนั้น พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า ความล้ำลึกของผู้ต้องหานั้นมีค่อนข้างมาก ด้วยข้อหาที่ถูกจองจำ ซึ่งคดีของเขามีทั้งฆ่าเสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊ง และฆ่าพี่ชายผู้พิพากษานั้น โทษค่อนข้างสูง 

"การทำร้ายตัวเอง หรือ พฤติกรรมที่เราพบเห็น คือ การนั่งคุยและยิ้มคนเดียว สิ่งบอกเหตุเล่านี้เราเก็บพิจารณาว่า อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น ซึ่งการหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ได้ง่ายๆ คือ การไปโรงพยาบาล ซึ่งเหล่านี้ก็ต้องเก็บมาประเมินด้วยเช่นกัน"

ทางด้าน ผศ.ดร.ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ นักอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า 2 คดีที่ พ.ต.ท.บรรยิน เป็นผู้ต้องหานั้นโทษค่อนข้างหนัก ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่เขาวางแผนจะหลบหนี ซึ่งถ้าดูตามหลักอาชญาวิทยานั้น จะพบว่า "พ.ต.ท.บรรยิน" เข้าข่ายกระทำความผิดโดยเป็นนิสัย มีจินตนาการที่ลึกลับ จินตนาการมาก่อนเสมอ แต่หากมองในด้านรัฐศาตร์ สิ่งที่ พ.ต.ท.บรรยิน พูดกับคนในเรือนจำนั้น เขาอาจพูดโน้มน้าวให้คนที่อยู่ใกล้เคียงรู้สึกไว้ใจ 

"ผมมองว่า ความเป็นตัวของ พ.ต.ท.บรรยิน นั้น ไม่มีสิ่งใดที่สามารถหยุดความคิดของเขาได้ แม้ไพ่จะถูกเปิดออกมาแล้ว มาตรการการเฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่นั้นเข้มข้นมากกว่าเดิม แต่เขาก็ยังใช้ความพยายามต่อไปและคงไม่ล้มเลิก เพราะโทษของเขาอาจถูกประหารชีวิต หรือติดคุกตลอดชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจจะต้องระวังเขามากขึ้น ในเวลาที่เขายังอยู่ในเรือนจำ ก็พยายามอย่าให้มีช่องโหว่"

...

ด้าน พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) กล่าวว่า ในต่างประเทศมีเคสนี้ค่อนข้างเยอะ ของไทยที่จะหลบหนีจะใช้การหลบหนีระหว่างจากเรือนจำไปศาล ซึ่งต้องกลับไปดูว่าผู้ต้องหานั้นมีวิธีคิดอย่างไร ผู้ต้องหามีวิธีคิดที่ซับซ้อนก็มีความเป็นไปได้ แต่สิ่งที่ต้องดูคือ ใครจะช่วยเขาอย่างไร

"สิ่งที่ต้องชื่นชมคือ ตำรวจที่ไปจับนายโจ นั่งซักถามกับนายโจ ถามจนได้ประเด็น ซึ่งต้องชมเชยจริงๆ กลุ่มงานของกองปราบก็ขยายผล ก็ตอบโจทย์เดียวกัน ประสานเข้าไปในเรือนจำก็ได้ข้อมูลมาอีกก้อน จนสามารถขยายผลจนกลายเป็นประเด็นขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ต้องหาจะแหกคุกอีกหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าคำนี้ก็จะมีอยู่ในใจเขาไปตลอด เพราะกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งจะมีการเดินทางไปศาลเพื่อสืบพยาน รวมไปถึงมีการเยี่ยมญาติ ซึ่งเขาอาจจะใช้ช่องว่างหรือจังหวะ สร้างสถานการณ์หลบหนีได้"

...