“เวลานี้ในเรือนจำยังเป็นพื้นที่ที่ปลอดเชื้อ กรมราชทัณฑ์มีแนวทางการป้องกัน และการกักเชื้อได้มาตรฐานใส่ใจผู้ต้องขัง หากเชื้อไวรัสหลุดเข้าเรือนจำจะส่งผลเสียอย่างมาก ตอนนี้กรมราชทัณฑ์ทำได้ดี มีการคัดกรองนักโทษแรกรับต่อวันมากมายแต่ก็ไม่มีเชื้อหลุดรอดเข้าไป ถือว่าทุกคนทำงานได้ดีไม่ประมาท มาตรการนี้จะไม่ลดหย่อนลง จนกว่าจะมั่นใจว่าเชื้อไวรัสโควิดหมดไปจากประเทศไทยจริงๆ
ขณะนี้ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อในเรือนจำมี 3 ราย เรือนจำไทยมีผู้ต้องขัง 380,000 คน เทียบกับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกามีผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก เช่น เรือนจำแมริออนของรัฐโอไฮโอมีนักโทษ 2,600 คน ติดเชื้อ 1,950 ราย คิดเป็นร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เรือนจำแห่งนี้เป็นแหล่งแพร่เชื้อใหญ่ของสหรัฐฯ หากเปรียบเทียบในมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโควิด-19 ถือว่าทำได้ดีมาตลอด” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงความสำเร็จในมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำประเทศไทย เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลและทั่วโลก
ญาติผู้ต้องขังพอใจกับการทำงานของ กรมราชทัณฑ์ ภายใต้การขับเคลื่อนของ พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ลงมาดูด้วยตนเอง ใส่ใจรายละเอียด มีแผน มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน
เป็นที่รู้กันดีว่า การอยู่รวมตัวกันอย่างแออัดใกล้ชิด เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือสนามกีฬา โดยเฉพาะ เรือนจำ พื้นที่ปิด มีนักโทษอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค
...
นักโทษที่อยู่ในคุกนอนติดกัน เป็นไปได้ทั้งน้ำลาย น้ำมูกหรือการไอจาม มีความเสี่ยงที่จะติดต่อ เนื่องจากเป็นห้องปิด คนนอนรวมกัน 40-50 คน มาตรการที่ให้อยู่ห่างกัน อาจเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากในเรือนจำ หากเชื้อเริ่มติดต่อกันในเรือนจำ สถานที่ที่ไม่สามารถแยก “กักตัว” หรือปฏิบัติการได้ตามนโยบาย Social Distancing โอกาสเข้าถึงระบบสาธารณสุขก็จำกัด อาจจะเกิดปรากฏการณ์ระบาดของโรคที่อันตรายอย่างมาก
เหล่านี้เป็นความห่วงกังวลของหลายฝ่ายมองว่า เรือนจำ จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนในหลายประเทศ แต่ไม่ใช่กับประเทศไทย ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ตระหนักในเรื่องนี้ดี วางแผน วางมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นำนโยบาย Social Distancing มาใช้ในเรือนจำได้เป็นอย่างดี
ไม่มีใครคิดว่าเรือนจำที่อยู่กันแออัดจะเป็นสถานที่ปลอดเชื้อไวรัสที่แพร่ในคนหมู่มาก แต่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ทำให้เห็นถึงความเป็นระเบียบ ระบบ และมีวินัยร่วมกันของคนในเรือนจำ ทำให้ยังคุมเชื้อไวรัสไว้ได้ดี
มาตรการที่เห็นผลชัดเจน คือ “คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า” งดการออกไปทำงานต่างถิ่นของผู้ต้องขัง งดการเยี่ยมญาติของผู้ต้องขัง งดการสอนโดยวิทยากรและการอบรมโดยคนนอก ปิดช่องทางให้เชื้อไวรัสเข้ามาในเรือนจำ นักโทษหรือผู้คุมที่เข้ามาทำงานใหม่ต้องถูกกักตัวก่อน 14 วัน
ความแออัดยัดเยียดของเรือนจำไทย อยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง “นักโทษล้นคุก” จำนวนนักโทษในเรือนจำกว่า 380,000 คน ผู้คุมอีก 15,000 คน แต่กรมราชทัณฑ์ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ มีผู้ติดเชื้อไวรัส 3 คน นักโทษ 2 คน อีกคนเป็น ผบ.เรือนจำ ที่ติดเชื้อจากนอกเรือนจำ ทั้งหมดเข้ารักษาตัวแล้วอาการหายเป็นปกติ
แต่ข่าวความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกนักโทษนำมาปลุกปั่นก่อเหตุจลาจลในเรือนจำบุรีรัมย์ พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ควบคุมสั่งการร่วมกับตำรวจ ทหาร คลี่คลายสถานการณ์ สร้างความพอใจกับญาติของผู้ต้องขัง
เบื้องหลังเป็นฝีมือนักโทษบางคนวางแผนก่อหวอดเพื่อหลบหนี จำเป็นต้องใช้สื่อทำความเข้าใจนักโทษและญาติในสถานการณ์โควิด-19 จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของนักโทษ
การแก้ปัญหาระยะยาว พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ดึง นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตคนอ่านข่าวชื่อดัง ซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำ จัดรายการ “เรื่องเล่าชาวเรือนจำ” มีการสัมภาษณ์หมอ ผู้เชี่ยวชาญ นำข่าวสารด้านนอกที่เป็นประโยชน์มาบอกเล่าแก่ผู้ต้องขัง ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง ทั้งการป้องกันตนเองจากโรคภัย
...
บอกเล่าให้ผู้ต้องขังเข้าใจว่าพื้นที่ภายในเป็นพื้นที่ปิด ต้องปลอดภัยกว่าด้านนอก ผู้ต้องขังไม่ต้องกังวล ทำให้การปลุกปั่นก่อเหตุจลาจลเงียบไป เป็นหนึ่งในการทำงานเชิงรุก ใช้คนได้ถูกกับงาน
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์กำหนดมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติมรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ช่วยให้ผู้ต้องขังและญาติคลายกังวล กรมราชทัณฑ์จัดสรรเงิน 2 แสนบาท เป็นเงินเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ช่วยลดความกังวลให้กับญาติและผู้ต้องขัง
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า “ขณะนี้ในจำนวน 380,000 คนที่เป็นผู้ต้องขังในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ มีติดเชื้อเพียงแค่ 2 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำติดเชื้อจากข้างนอกเรือนจำได้เข้ารักษาตัวหายป่วยทั้งหมดแล้ว ข้างในเรือนจำยังปลอดภัยอยู่และยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่ทางกรมราชทัณฑ์ได้ออกมาตรการ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า และกักตัวผู้เข้าใหม่ทุกราย” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ”
“คนในห้ามออกหมายความว่า ผู้ต้องขังที่เคยได้รับโอกาสส่งไปฝึกอาชีพ ฝึกงาน ทำงานนอกเรือนจำ ได้ประกาศงดยกเลิกทั้งหมด จะออกไปเฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น ไปศาลหรือไปรักษาพยาบาลตามอาการซึ่งเป็นเหตุจำเป็นเท่านั้น อันที่สอง คนนอกห้ามเข้า หมายถึงในระยะนี้ งดเว้นการให้เยี่ยมญาติ คนที่มีญาติมิตรอยู่ในเรือนจำและทัณฑสถาน ขอให้ใช้ความอดทนสักระยะหนึ่ง เราทำเพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกหลานท่านที่อยู่ภายใน และมาตรการประการที่สามคือ ทุกเรือนจำ เราสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนเข้าใหม่เป็นผู้ติดเชื้อมาก่อน จะแยกกักโรคอย่างน้อย 14 วัน มีการวัดอุณหภูมิ สัมภาษณ์ สังเกตอาการ”
...
“กรมราชทัณฑ์เข้าใจความรู้สึกของญาติผู้ต้องขัง ที่เคยมาเยี่ยมมาให้กำลังใจผู้ต้องขังทุกวัน แต่สถานการณ์ตอนนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง ขอวิงวอนญาติให้เข้าใจ ทางเรือนจำจำเป็นต้องยกการ์ดสูง มีมาตรการเข้ม หากปล่อยให้โรคระบาดหลุดเข้าไปจะเป็นอันตราย เราจะดูแลผู้ต้องขังทั้ง 380,000 คน และเจ้าหน้าที่กว่า 15,000 คนที่อยู่ด้านใน ทุกคนมีสถานะเดียวกัน ที่ต้องร่วมมือกันป้องกันโรคภัย เราจะป้องกันทั้งลูกหลานท่านและป้องกันตนเอง ขอให้มีความมั่นใจในกรมราชทัณฑ์”
ผลงานความพึงพอใจของผู้ต้องขังและญาติกับตัวเลขการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถือว่าควบคุมได้ดี คงเป็นคำตอบชัดเจนถึงแนวทางการทำงานของ พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาตรการ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” มีมาตรการเชิงรุกที่คิดแก้ปัญหาทันที ผลที่ออกมาถือว่าเดินมาถูกทาง
ทำให้เรือนจำไทยยังเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วโลก.
ทีมข่าวอาชญากรรม
...