เลขาฯ สภาทนายฯ เผย ลูกจ้างมีสิทธิไม่เซ็นลาออกได้ ถ้าไม่สมัครใจ ชี้ถูกขู่-บังคับ-จำใจ รวมทั้งไม่ได้รับเงินชดเชยตามกำหนด แนะไปฟ้องกระทรวงแรงงาน หรือมายื่นเรื่องที่สภาทนายฯ หากเข้าหลักเกณฑ์พร้อมช่วยพาไปฟ้องศาลแรงงานเอาผิดนายจ้าง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้กิจการหลายแห่งไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของสถานประกอบการ จนบางรายต้องปิดกิจการและมีพนักงานลูกจ้างถูกให้ออกจากงานเป็นจำนวนมากนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการบริหารภาค 6 ให้ข้อมูลทางวิชาการว่า ตนขออธิบายถึงสิทธิที่ลูกจ้างควรรู้ คือกรณีถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นลาออกนั้น ตามกฏหมายนายจ้างไม่สามารถทำได้โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอมสมัครใจ ลูกจ้างมีสิทธิที่จะไม่เซ็นชื่อลงนามในเอกสารลาออกได้ มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองอยู่ แต่บางราย บริษัท หรือนายจ้างจะคุยเรื่องผลประโยชน์ หากตกลงกันได้เป็นที่พอใจแล้ว ถือว่าได้ประนีประนอม ยอมความตกลงกัน

ซึ่งการพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยต่อเมื่อมีอายุงานตามเกณฑ์ที่กำหนด ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน, ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน, ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน, ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน, ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน หากบริษัทใดหรือนายจ้างกิจการใดไม่ทำตามกฎหมาย ลูกจ้างหรือพนักงานที่เสียหายสามารถไปร้องเรียนไปที่กระทรวงแรงงาน หรือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประจำจังหวัด

...

หากผู้ใดทำประกันสังคมไว้ และตกงาน สามารถไปยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคม จะมีกองทุนประกันสังคมช่วยเหลือลูกจ้าง ตามมาตรา 33

ส่วนลูกจ้างคนใดถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดนบังคับขู่เข็ญจำใจ ให้เซ็นยินยอมลาออกทั้งที่ไม่สมัครใจ สามารถไปร้องเรียนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อเพิกถอนการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

สำหรับเรื่องนี้ที่สภาทนายความ ประชาชนถูกเลิกจ้างในช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีจำนวนคนมาร้องขอคำปรึกษาจากที่สภาทนายฯ หลาย 10 ราย ทั้งนี้หากประชาชนคนใดถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานแล้ว แต่เรื่องไม่คืบหน้า สามารถเข้ามายื่นคำร้องต่อสภาทนายฯ ให้พิจารณา ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ทางสภาทนายฯจะช่วยเหลือเรื่องการฟ้องร้องนายจ้างที่ศาลแรงงาน ที่มีบทลงโทษทั้งปรับเงิน จนถึงจำคุก

โดยประชาชนสามารถติดต่อขอคำปรึกษาสภาทนายฯได้ที่ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 249 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220 โทรศัพท์ 02-522-7124 ถึง 27 โทรศัพท์ 02-522-7143 ถึง 47 ปรึกษากฎหมายสายด่วน 1167