นักกฎหมาย เผย พ.ร.ก.-พ.ร.บ. 3 ฉบับ ที่ประชาชนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ระบาด จะต่อต้าน ท้าทาย หรือหากถูกจับดำเนินคดี จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่ได้
วันที่ 16 เม.ย. พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเนติบัณฑิตยสภา เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีคนที่ออกมาท้าทาย หรือต่อต้าน หรือทำเป็นไม่รู้ว่ามีบทบังคับรุนแรง จึงยังมีการจับกุมดำเนินคดีอยู่ทุกวันนั้น ขอเรียนว่า ในสถานการณ์โควิด 19 ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 3 ฉบับ อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน
ฉบับแรก พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศข้อกำหนดและข้อปฏิบัติ โดยห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยง เช่น สนามมวย ผับ สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร การห้ามกักตุนสินค้า ยา สินค้าอื่นที่จําเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน การห้ามชุมนุม การมั่วสุมกัน ห้ามเสนอข่าวเท็จ หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด และเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านในเวลากำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฉบับที่ 2 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อ และประกาศแต่งตั้งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในเขตท้องที่ที่ตนปฏิบัติราชการ มีอำนาจ
...
เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีอำนาจกำหนดให้บุคคลที่พบผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าป่วยแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใน 3 ชั่วโมง และให้รีบโทรศัพท์แจ้งต่อกรมควบคุมโรค ภายใน 1 ชั่วโมง
และมีอำนาจออกคำส่ังเป็นหนังสือ ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด หรือผู้ท่ีเป็นผู้สัมผัส หรือพาหะ มารับการตรวจ หรือรักษา และมีอำนาจ แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่กำหนดจนกว่าจะได้รับการตรวจว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือส้ินสุดเหตุอันควรสงสัย และห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึงสองปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฉบับที่ 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ให้อำนาจ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในการประกาศควบคุมสินค้าและบริการได้ โดยกำหนดให้การกักตุนสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนดไว้ มีโทษสูงสุดจำคุกถึง 7 ปี และปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยห้ามส่งออกแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และไข่ไก่ ออกนอกประเทศ
นอกจากนี้ กรรมการกลางฯ หรือ กกร. จังหวัด ยังมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิตหรือขายสินค้าแจ้งข้อเท็จจริง เข้ากำกับดูแลและสั่งการผลิตหรือขายสินค้าควบคุมให้เพียงพอต่อความต้องการ เชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง มีอำนาจกำหนดราคาซื้อขาย ได้อีกด้วย
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ กกร. มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"กฎหมายในลักษณะนี้ การที่รัฐบัญญัติให้เป็นความผิดเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์พิเศษ เช่น โควิด 19 นี้เป็นต้น ซึ่งหลายคนอาจไม่คิดว่าเป็นความผิด จึงต้องเตือนประชาชนทุกคนว่า ท่านจะอ้างว่าไม่รู้และไม่เข้าใจเพื่อไม่รับโทษ ไม่ได้ คนที่ท้าทาย หรือไม่เกรงกลัวกฎหมาย จะต้องถูกติดตามจับตัวและดำเนินคดีอย่างรวดเร็วเด็ดขาด เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้สังคมสงบมีระเบียบ และให้ทุกคนปลอดภัย ประชาชนต้องเคารพและไม่ต่อต้าน"