
ศาลนัดพิพากษา “บรรยิน” กับพวก คดีโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์พรุ่งนี้ 20 มี.ค.
ภาพ พ.ต.ท.บรรยิน จากแฟ้มข่าว
ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดพิพากษา “บรรยิน” กับพวก คดีโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์พรุ่งนี้ 20 มี.ค.โดยจะให้ พ.ต.ท.บรรยิน ฟังคำพิพากษาทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ที่เข้าไปในศาลจะผ่านคัดกรองโควิด-19 ก่อน
ข่าวแนะนำ
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง นัดอ่านคำพิพากษาคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด อายุ 50 ปี นักธุรกิจรับเหมาหมื่นล้าน หมายเลขดำ อ.305/2561 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ และนางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง อายุ 57 ปี ภรรยาของนายชูวงษ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกสามี กับครอบครัวของนายชูวงษ์ รวม 4 ราย ที่เป็นผู้เสียหาย เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล หรือน้ำตาล อายุ 30 ปี อดีตพริตตี้คนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน, น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล หรือป้อนข้าว (ชื่อปัจจุบัน น.ส.วัชรียา หรือน้ำมนต์ วัชรประยงค์วุฒิ) อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่การตลาด หรือโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง และคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน, พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 57 ปี อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชาชน และ น.ส.ศรีธรา พรหมา อายุ 56 ปี มารดาของ น.ส.อุรชา เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ลักทรัพย์ และรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 334, 335 วรรคหนึ่ง (5) (7) กับวรรคสาม, 357
นางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของนายชูวงษ์ เปิดเผยจะไปร่วมฟังคำพิพากษาตามนัดหมายอย่างแน่นอน จะไปรอฟังข่าวดีที่เราเรียกร้องความเป็นธรรมมา คดีนี้ 4 ปีกว่าแล้ว เพิ่งถึงศาลชั้นต้น สำหรับมูลค่าหุ้นในคดีนี้นั้น มีจำนวนกว่า 300 ล้านบาท มูลค่าปัจจุบันก็มากกว่า 400-500 ล้านบาทไปแล้ว
ขณะที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ต่อสื่อมวลชนในการนัดอ่านคำพิพากษานี้ว่า 1. ท่านที่จะเข้าฟังการอ่านคำพิพากษาที่ศาลขอให้ลงทะเบียนไปก่อนหน้านี้ แต่จำเลยที่ 3 (พ.ต.ท.บรรยิน) ไม่ได้เบิกตัวมาที่ศาล ใช้การอ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ฟังผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่จำเลยที่ได้รับการประกันตัวที่ต้องเดินทางมาศาล 2. การคัดกรองกรณีโควิด-19 จะตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าศาล มีเจลบริการ แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกท่าน 3. ศาลอาญากรุงเทพใต้จะจัดเตรียมสรุปย่อผลคำพิพากษาส่งให้ทีมงานโฆษกศาลยุติธรรมเพื่อส่งให้สื่อมวลชนต่อไป ถ้าไม่จำเป็นจึงไม่ต้องเดินทางไปที่ศาล