เลขาฯศาลยุติธรรม เเถลงผลงานปี 2562 เผยศาลต้นสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คิดเป็น 99.97% ส่วนปี 2563 ชูเป็นปีศาลดิจิทัล เม.ย.นี้ติดกล้องวงจรปิดห้องพิจารณาคดีทั่วประเทศ
ที่ห้องประชุมชั้น12 สำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ม.ค. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในภาพรวม ประจำปี พ.ศ. 2562 ระหว่างเดือน ม.ค.–ธ.ค.62 ว่า รอบปีที่ผ่านมาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา สามารถพิจารณาให้เสร็จภายในเวลาเป้าหมายที่ประธานศาลฎีกาได้ให้นโยบายไว้ คือ ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 2 ปี สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คิดเป็น 99.97%
ส่วนศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 6 เดือน สามารถดำเนินการ 98.64% ขณะที่ศาลฎีกาต้องพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี ดำเนินการได้ 86.41% โดยสถิติจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 363,125 ข้อหา 2.สินเชื่อบุคคล 293,899 ข้อหา 3.พ.ร.บ.จราจรทางบก 213,888 ข้อหา 4.บัตรเครดิต 168,347 ข้อหา 5.กู้ยืม 138,420 ข้อหา 6.ขอจัดการมรดก 103,711 ข้อหา 7.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 92,472 ข้อหา 8.เช่าซื้อ (รถยนต์) 86,406 ข้อหา 9.ละเมิด 34,426 ข้อหา และ 10.พ.ร.บ. การพนัน 32,936 ข้อหา
นายสราวุธ กล่าวว่า สถิติการใช้กำไลข้อเท้า EM สำหรับผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวว่า รอบปีที่ผ่านมา มีจำนวน 8,129 เครื่อง ความผิดสูงสุด 5 อันดับที่ใช้ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2,332 คดี 2.ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 1,609 คดี 3.พ.ร.บ.จราจรทางบก 769 คดี 4.ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย 675 คดี และ 5.พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ 356 คดี โดยศาลที่มีการใช้กำไลข้อเท้า EM สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ศาลอาญา 609 เครื่อง 2.ศาลจังหวัดนนทบุรี 269 เครื่อง 3 ศาลจังหวัดภูเก็ต 259 เครื่อง 4.ศาลจังหวัดศรีสะเกษ 211 เครื่อง และ5.ศาลอาญากรุงเทพใต้ 207 เครื่อง
...
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี (D-Court) ว่า ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดและขยายผลระบบให้บริการข้อมูลและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมและผลักดันให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดีและสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีและการปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงขยายการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบังคับคดี(ข้อมูลหมายบังคับคดี) กรมคุมประพฤติ (ข้อมูลผลการสืบเสาะและพินิจอำนาจ) กรมราชทัณฑ์(ระบบข้อมูลผู้ต้องขัง) สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ข้อมูลสารบบคดีกับระบบ NSW ของสำนักงานอัยการสูงสุด และระบบ CRIMES ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ข้อมูลคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักร) สำนักงานตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท (ข้อมูลหมายจับระบบ AWIS) ส่งผลให้การอำนวยความยุติธรรมมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"แผนงานในปี 2563 นี้ ศาลยุติธรรมจะพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลผู้ต้องหากับหน่วยงานอื่น อย่างเช่น ระบบไบโอเมทริก ตรวจสอบใบหน้าบุคคล จะมีการหารือร่วมกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อพัฒนาร่วมกันภายในเดือน ก.พ.นี้ ให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ และติดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนในเรื่องรักษาความปลอดภัยในเดือนเม.ย.นี้เราจะดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดีอย่างครบถ้วน" นายสราวุธกล่าว