จิตแพทย์ รพ.สวนสราญรมย์สุราษฎร์ ห่วงกรณีเด็กติดเกมอารมณ์รุนแรงฆ่าพ่อ ชี้ ปัญหานี้ผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิด และมีกติการ่วมกัน เตือนไม่ควรเข้าไปขัดขวางการเล่นด้วยความรุนแรงในทันที
กรณีเกิดเหตุสลดใจลูกชายอายุ 17 ปี เล่นเกมถึงตี 3 ถูกบิดาที่เป็นตำรวจสังกัด สภ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวตักเตือนและใช้มีดแทงบิดาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา
แพทย์หญิงณัฐพร ใจสมุทร สกุลแพทย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเครือข่าย โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ใช้เฟซบุ๊ก “ N Jaisamut Sakunphest ” โพสต์ข้อความในเพจสาธารณะ เฟซบุ๊กสุราษฎร์ธานี ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เด็กติดเกม ความสนุกที่แสนเปราะบาง เพราะการติดเกม เปรียบเสมือนปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่เหนือผิวน้ำแล้ว การติดเกม คือ การใช้เวลาอยู่กับการเล่นเกมจนทำให้สูญเสียทั้งโอกาสและหน้าที่ที่ควรทำได้ตามวัย เช่น ติดจนไปเรียนไม่ได้ ติดจนไม่มีสมาธิทำงานสร้างรายได้ ติดจนเสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด แต่ผู้ปกครองหรือคนรอบข้างต้องไม่ตัดสินว่าเขาติดเกมเพียงเพราะเราไม่ชอบให้เขาเล่นเกม

...
รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเครือข่าย รพ.สวนสราญรมย์ ระบุต่อว่า การดูแลบุตรหลาน ไมให้ติดเกม แบ่ง เป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะยังไม่เข้าสู่การเล่น คือ กลุ่มที่เพิ่งมีอุปกรณ์แต่ยังไม่เคยลองเล่น บุคคลสำคัญคือ พ่อและแม่ ต้องสื่อสารให้ลูกเข้าใจสถานะและกำหนดกติกาการใช้ร่วมกัน 2. ระยะเล่นแล้วแต่ยังไม่มีผลกระทบ กลุ่มนี้พ่อแม่ต้องรีบให้แรงเสริมทางบวก คือการ "จับถูก" ที่เขารักษากติกา เขาเล่นเกมแต่รักษากติกาไว้ได้ ทำให้ไม่กระทบต่อหน้าที่ ก็ควรดูแลอยู่ห่างๆ และ 3. ระยะติดเกม นั่นคือมีผลกระทบแล้ว จำเป็นต้องนำเข้าสู่การประเมิน เพราะการติดเกมนั้น มีสาเหตุที่ซ่อนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้า ภาวะปัญหาการปรับตัว ครอบครัวที่ไม่สามารถบอกความต้องการได้ หรือไม่ได้รับการตอบสนองทางจิตใจที่เหมาะสม

แพทย์หญิงณัฐพร ระบุด้วยว่า แนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ "ไม่ควรเข้าไปขัดขวางการเล่นด้วยความรุนแรงทันที" ถ้าท่านคิดว่า ท่านคุมสถานการณ์ไม่ได้ ควรพาเด็กเข้าสู่ระบบบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะมีระบบการดูแลและคัดกรองว่า เป็นการเล่นเกมแบบไหนแล้วเด็กจะได้รับการส่งต่อตามระบบบริการ และที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่เองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ให้บรรยากาศในบ้านเป็นสังคมก้มหน้า"