ผบก.ปปป.จี้ 5 พ่อเมืองเร่งตรวจสอบปม อปท.ทุจริตฮั้วประมูลรถขยะ-รถดูดโคลน โดยให้มาพบพงส.ภายใน 15 วัน หากยังเฉย รายงาน ศอตช.
จากกรณี พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เป็นประธานการประชุม "โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ" หรือทุจริตฮั้วประมูล โดยมี พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป.(ดูแลคดีทุจริตฮั้วประมูล) พ.ต.อ.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบก.ปปป.(ดูแลคดีเงินทอนวัด) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ปปง. กองทัพภาคที่ 1 สตง. กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง บก.ป บก.ปอศ. และบก.ปอท. ก่อนแถลงข่าวสางคดีฮั้วประมูลรถดูดโคลนและรถขยะ อปท. เบื้องต้นลอตแรกพบ 21 อปท. ส่งให้ ป.ป.ช.แล้ว 20 อปท. ส่วนลอตสองพบ 12 อปท.ใน 10 จังหวัดประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี กระทั่งเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผู้ว่าฯ ราชการผ่านมา 4 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง และสมุทรปราการ มอบตัวแทนเข้าพบ บก.ปปป.ตามหนังสือเชิญ
...
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 เม.ย.61 พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เผยว่า ขณะนี้มี 5 จังหวัดที่เข้ามาพบทาง บก.ปปป.แล้ว คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ และเพชรบูรณ์ โดยตัวแทนจากสมุทรปราการ และเพชรบูรณ์ ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เอาผิดผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อปท.และบริษัทเอกชนที่ร่วมกันทุจริต ฮั้วประมูลซื้อรถดูดโคลนและรถขยะอัดท้ายแล้ว ส่วนจังหวัดพิษณุโลกทำหนังสือขอเลื่อนมาพบวันที่ 9 เม.ย.นี้ ส่วนจังหวัด เชียงใหม่ นนทบุรี ศรีสะเกษ และสิงห์บุรี ยังไม่ได้ประสานมาว่าจะมาวันไหน
ด้าน พล.ต.ต.กมล กล่าวว่า เบื้องต้นได้ทำหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจ 10 จังหวัดที่มีชื่อพบการทุจริตฮั้วประมูลให้มาพบพนักงานสอบสวน หลังจากนี้มีเวลาประมาณ 15 วันหาก ผู้ว่าราชการหรือตัวแทนที่รับมอบอำนาจ 5 จังหวัด ที่เหลือไม่มาพบ บก.ปปป.จะทำรายงานไปศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบการทุจริต เพื่อรายงานให้รัฐบาลทราบตามขั้นตอน
"หากผู้บริหารจังหวัดใดไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดในฐานะผู้เสียหาย เพื่อเอาผิดกับขบวนการฮั้วประมูล จะเข้าความผิด ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 104/2557 เรื่อง การกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ คสช. ที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อให้การบริหารราชการของ คสช. ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมและผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ ทั้งนี้หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา มีตัวแทนจาก 2 จังหวัด ได้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปปป.แล้ว โดยพนักงานสอบสวนมีกรอบการทำงาน รวบรวมสำนวน พยานหลักฐานต่างๆ ภายในระยะเวลา 30 วัน ก่อนส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป" พล.ต.ต.กมล กล่าว