ตัวแทนผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดเข้าพบ ปปป.ขอข้อมูลการตรวจสอบ กรณีพบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฮั้วประมูลรถขยะ-รถดูดโคลนครั้งใหญ่ ทำรัฐเสียหายกว่า 70 ล้านบาท

จากกรณี พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เป็นประธานการประชุม "โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ" หรือทุจริตฮั้วประมูล โดยมี พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป.(ดูแลคดีทุจริตฮั้วประมูล) พ.ต.อ.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบก.ปปป.(ดูแลคดีเงินทอนวัด) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ปปง. กองทัพภาคที่ 1 สตง. กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง บก.ป บก.ปอศ. และบก.ปอท. ก่อนแถลงข่าวสางคดีฮั้วประมูลรถดูดโคลนและรถขยะ อปท. เบื้องต้นลอตแรกพบ 21 อปท. ส่งให้ ป.ป.ช.แล้ว 20 อปท. ส่วนลอตสองพบ 12 อปท.ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี

ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 เม.ย. ที่ห้องประชุม บก.ปปป. ชั้น 4 ศูนย์ราชการอาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายไพศาล ขจรเวชกุล นิติกรท้องถิ่น อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ร.ต.บุรินทร์ อินทรเสนีย์ ผอ.กลุ่มงานกฎหมาย สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ชลบุรี นายจีรศักดิ์ ศรีสุมล สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ระยอง และนายเอกชัย สรรพอาสา สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สมุทรปราการ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. ก่อนใช้เวลาประชุม 1 ชั่วโมง

...

พ.ต.อ.จักษ์ เผยว่า หลังจากที่ทำหนังสือส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 10 จังหวัด และวันนี้ตัวแทนผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดเข้ามาขอรับทราบรายละเอียด เพื่อนำไปให้นายอำเภอแต่ละท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบและเดินทางมาร้องทุกข์อีกครั้งที่ ปปป. โดยจากการตรวจสอบพบทั้ง 12 อปท. มีพฤติการณ์กระทำผิดที่คล้ายกันทั้งหมด คือ เริ่มแรกจะมีบริษัทผู้ผลิตรถดูดสิ่งโสโครก จะนำเสนอรายละเอียดที่จะขายให้กับ อปท. จากนั้น อปท. จะตั้งงบเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อ เพื่อกำหนดระเบียบ สเปก ราคากลาง ซึ่งราคากลางที่แต่ละท้องถิ่นกำหนดนั้น ไม่ได้มีการกำหนดราคากลางที่ชัดเจน เพราะรถดังกล่าว ไม่มีการวางขายตามท้องตลาดทั่วไป ต้องสั่งประกอบ จึงทำให้แต่ละท้องที่ต้องเสนอราคากลางเอง สูงเป็นเท่าตัว จากราคาขาย ประมาณ 6-7 ล้านบาทต่อคัน เมื่อบวกราคากำไรและภาษี จะต้องซื้ออยู่ที่ 11 ล้านบาท แต่กลับมีการตั้งราคาไว้ที่ 17-18 ล้านบาทต่อคัน

"นอกจากนี้ยังตรวจพบว่า มีเพียง 2 บริษัท ที่สามารถจะผลิตรถดังกล่าวได้เพียง 2 บริษัท โดยตรวจสอบว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน และในการประมูลนั้นมีบริษัทคู่เทียบ ที่มาร่วมแข่งขัน อีก 5 บริษัท นั้นก็เป็นเครือญาติ เชื่อมโยงกัน ทำให้เอื้อต่อการทุจริต และพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ที่มาประมูลนั้นไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเลย หลังจากนี้หากมีการร้องทุกข์แล้ว จะสอบสวนลงพื้นที่ และส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบ โดยการส่งสำนวนนั้น จะส่งทั้ง เจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทเอกชน ในข่ายความผิด มาตรา 157 พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ข้อหาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ" พ.ต.อ.จักษ์ กล่าว

ด้าน นายไพศาล ขจรเวชกุล นิติกรท้องถิ่น อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เผยว่า บก.ปปป.ทำหนังสือถึงนายอำเภอเมือง จ.สมุทรสาคร ก่อนตนได้รับมอบหมายให้มาพบ พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เพื่อมาสอบถามข้อมูลการทุจริตฮั้วประมูล เพื่อนำเสนอนายอำเภอ ก่อนสรุปข้อมูลส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตามขั้นตอน กรณี อบต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลรถดูดโคลนนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนมาบ้าง แต่เป็นการร้องเรียนด้วยปากเปล่า ลักษณะคือ คู่แข่งการประมูลมาพูดร้องว่าบริษัทคู่แข่งมีการทุจริตแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่ได้มีเอกสารหรือร้องอย่างเป็นทางการ และมี 7 บริษัทเกี่ยวข้องในการประมูลงานที่ อบต.ท่าทราย

"ทั้งนี้ใน จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บ้านแพ้ว อ.กระทุ่มแบน ทั้ง 3 อำเภอคุม 38 อปท. หลังพบมีชื่อในการฮั้วประมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้สั่งการให้ทั้ง 3 อำเภอตรวจสอบภายในทั้งหมด ปกติแต่ละ อปท.เมื่อใช้งบไม่หมดจะเก็บเป็นเงินสะสม หรือกองทุนสะสม หากมีเหตุจำเป็นหรือเกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน แต่ละ อปท.สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเบิกตามขั้นตอน ทั่วประเทศกว่า 7 พัน อปท.คาดมีเงินสะสมกว่า 10,000 ล้านบาท" นายไพศาล กล่าว