ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เผย “สรยุทธ” ปรับตัวใช้ชีวิตในคุกได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องสุขภาพยังมีปัญหา “ท้องผูก” อยู่บ้าง เนื่องจากเจ้าตัวอาจยังไม่คุ้นชิน ใช้ห้องน้ำข้างในไม่สะดวกสบาย เหมือนอยู่ข้างนอก อีกประมาณ 2 อาทิตย์เตรียมแยกแดน...

เมื่อช่วงบ่าย วันที่ 2 ก.ย.60 นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเผยถึงกรณีการควบคุมตัว นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำเลยในคดียักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลา ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ นายสรยุทธ ยังคงอยู่ในแดนแรกรับใช้ชีวิตรวมกับผู้ต้องขังใหม่รายอื่นๆ โดยปกติมักจะมีผู้ต้องขังรายใหม่สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาตลอด โดยมีผู้ต้องขัง ที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ในแดนแรกรับ หรือแดน 1 อีกด้วย นายสรยุทธ สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตในเรือนจำได้ดีขึ้น ทำกิจวัตรประจำวัน ตื่นเช้า ล้างหน้าแปรงฟัน เคารพธงชาติ

"แต่ยังมีปัญหาเรื่องของท้องผูกอยู่บ้าง เพราะอาจจะยังไม่คุ้นชินกับการใช้ห้องน้ำในเรือนจำที่ไม่ค่อยสะดวกสบายเหมือนใช้ชีวิตปกติข้างนอก หลังจากนี้อีกประมาณ 2 อาทิตย์ อาจพิจารณาย้ายนายสรยุทธไปแดนอื่น ตามขั้นตอนแยกแดน หลังให้ปรับตัวในแดนแรกรับช่วงแรก ส่วนจะให้ไปช่วยเหลืองานด้านไหน ต้องพิจารณาหลังแยกแดนไปแล้ว ดูตามความสามารถและความถนัดของเจ้าตัวด้วย" นายกฤช กล่าวว่า

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนการรับรองฎีกาของนายสรยุทธ นั้นจะต้องยื่นหนังสือขอให้รับรองฎีกาผ่านศาลชั้นต้นเพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอัน ควรสู่ศาลสูงสุดและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา หรือไม่ หากองค์คณะในศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่ควรส่งขึ้นศาลสูงพิจารณา ก็จะไม่เซ็นรับรองฎีกาให้ เเละหนังสือนั้นก็จะถูกส่งไปให้องค์คณะศาลอุทธรณ์ที่พิจารณาคดีนายสรยุทธเป็นผู้พิจารณาว่าจะลงรายชื่อรับรองฎีกาหรือไม่หากยังไม่มีการลงชื่อ ก็จะเหลืออัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะมีอำนาจรับรองฎีกาได้อยู่

...

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าขณะนี้ยังไม่มีการยื่นหนังสือคำร้องขอให้องค์คณะที่พิจารณาคดีนายสรยุทธรับรองฎีกาเเต่อย่างใด ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาที่มีอำนาจรับรองฎีกาในคดีนายสรยุทธได้นั้น ประกอบด้วย องค์คณะในศาลชั้นต้น 3 คนในชั้นอุทธรณ์ 3 คน เเละอัยการสูงสุด 1 คน รวมเป็น 7 คน

ซึ่งในคดีนี้ไม่มีผู้พิพากษาที่ทำความเห็นเเย้ง ทั้งในศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์เเต่อย่างใด ทำให้ผู้ที่สามารถรับรองฎีกาได้จะเป็นบุคคลที่กล่าวมาเท่านั้น.