"มาอยู่ที่นี่ พี่ไม่เคยอยากจะมารบ หรือมาฆ่ากับใคร พี่ไม่ได้อยากมาสร้างศัตรู แต่พี่อยากจะสร้างสันติสุข พัฒนาพื้นที่ที่ได้เข้าเป็นหัวหน้าหน่วย ไม่ว่าจะเป็น ผกก.สภ.ระแงะ, ผกก.สภ.ตันหยง, สภ.สุไหงปาดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยากได้ผู้บังคับบัญชาที่มีความสามารถ มีความรู้ ไม่อยากได้ผู้บังคับบัญชาที่อยู่เพื่อรอวันเกษียณ อยู่เพื่อรอย้าย" 

ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ร้อยตำรวจเอก วัย 30 ต้นๆ กับตำแหน่ง รองสารวัตรสืบสวนกองบังคับการสืบสวนนครบาล 1 สืบจับคดีดังพื้นที่ บก.น.เหนือ สร้างชื่อชั้นให้ตัวเองจากผลงานตลอดระยะเวลา 11 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง "รองสารวัตร" ปี 2551 ติดยศ พ.ต.ต. ขึ้นตำแหน่ง สวป.สภ.คำตากล้า สกลนคร ก่อนตัดสินใจขออาสาสมัคร ลงไปช่วยราชการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่นักสืบหนุ่มนครบาล ฝังตัวทำงานในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา และมีความเชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สืบสวนหลังเหตุระเบิด

สืบนครบาล
สืบนครบาล

...

ไทยรัฐออนไลน์ โดย Police Community นำเสนอเรื่องราวตำรวจน้ำดี ฝีมือระดับแนวหน้า ผู้กำกับเอ๋ พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรระแงะ จังหวัดนราธิวาส นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 34 นักเรียนนายร้อยรุ่น 50 ....เด็กนักเรียนม.ปลาย จากโรงเรียนชายนครสวรรค์ ครอบครัวฐานะธรรมดาต้นทุนชีวิตไม่สูง ตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเพราะเพื่อนแนะนำ เพราะตัวเขาเองแทบไม่มีความรู้อะไรเรื่องตำรวจเลย...ในปีแรกสอบไม่ติด กระทั่งปีที่ 2 ความพยายามเป็นผล ชะตาชีวิตกำหนดให้เขากลายเป็นตำรวจมืออาชีพ เฉกเช่นทุกวันนี้  

ต้นทุนชีวิตไม่สูง เรียนตำรวจเพราะไม่มีค่าใช้จ่าย จบมาช่วยเหลือประเทศไทย

"พี่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ได้เพียบพร้อมร่ำรวย พ่อรับราชการครู จบมัธยมโรงเรียนชายนครสวรรค์ โชคดีอยู่อย่างหนึ่งคือพี่เป็นคนเรียนค่อนข้างพอใช้ อยู่ห้องคิงมาตลอด กระทั่งเพื่อนชวนมาสมัครสอบเข้านายร้อยตอน ม.4 ก็ตามเพื่อนมา ครั้งแรกสอบไม่ติด พี่ก็เริ่มมาคิดว่ามันท้าทายดีนะ ลองกลับมาเตรียมตัวใหม่โดยการอ่านหนังสือเองไม่ได้ไปเรียนติวที่ไหน เพราะไม่มีเงินทองมากขนาดนั้น และที่ตัดสินใจมาสอบ เพราะรู้ว่าเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ลดภาระครอบครัวได้ ครั้งที่ 2 มาสอบอีกที สรุปคือพี่สอบได้เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 34 นักเรียนนายร้อยรุ่น 50 ในขณะที่เพื่อนร่วมห้องไปสอบเรียนหมอ เป็นวิศวะ กันส่วนใหญ่ "

หลังเรียนจบลงฝึกงานตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่ สน.ห้วยขวาง จากนั้นบรรจุเข้ารับราชการที่ สน.ดุสิต เมื่อลงปฏิบัติทำงานจริงรู้สึกว่าอาชีพตำรวจได้ช่วยคนเยอะ โดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานสอบสวน กระทั่งต่อมามีโอกาสได้ทำงานด้านสืบสวน ไปรับตำแหน่ง รอง สว.กก.สส.บก.น.1 จากนั้นก็ย้ายมาลงตำแหน่ง รอง สว.ศส.บช.น. ทำงานด้านสืบตลอด ก่อนจะขึ้นสารวัตรติดยศ พ.ต.ต. ที่ภาคอีสาน แต่ได้ขอย้ายมาช่วยราชการ 3 จว. ชายแดนใต้ 

...

นักสืบไฟแรงนครบาล ย้ายลงใต้จนเชี่ยวชาญวิเคราะห์การก่อเหตุด้วยระเบิดแสวงเครื่อง 

"พี่เป็นรองสารวัตร 11 ปี สำหรับพี่ พี่ว่านานนะ เพื่อนร่วมรุ่นก็ไปกันไกลมาก จนมาได้ขึ้นสารวัตร ลงพื้นที่ทำงาน 3 จังหวัด ช่วง 2551-2556 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานติดตามขยายผลจากพยานหลักฐาน (e.d.i.t.) งานสืบสวนคดีสำคัญ ศปก.ตร.สน. ทำงานด้านการสืบสวนหลังเหตุระเบิด รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์การก่อเหตุด้วยระเบิดแสวงเครื่องของ ผกร. เป็นผู้เชี่ยวชาญจนเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา และหน่วยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างรับตำแหน่ง รอง ผกก.บก.สส.ศชต. นั่งเก้าอี้ทำงานเต็มก้น ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจให้ขึ้นตำแหน่ง ผกก.สภ.ตันหยง นราธิวาส จากนั้นโยกไปปฏิบัติราชการ ผกก.สภ.สุไหงปาดี นราธิวาส 2 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.ระแงะ"

โจรใต้นั่งท้ายกระบะ เอ็ม 16 ลอบยิงถล่มโรงพัก ตำรวจพลีชีพตาย 1 เจ็บระนาว 

เหตุการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาสะเทือนอารมณ์ หลังคนร้ายประมาณ 5 ราย นั่งท้ายกระบะ ใช้ เอ็ม 16 ลอบยิงถล่มใส่ สภ.ระแงะ ระหว่างระดมกำลังเข้าแถวรับนโยบาย เป็นเหตุให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ภาพวงจรปิดถูกแชร์ต่อๆ กันในโลกโซเชียล ขณะที่ พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ ถูกยิงบริเวณหลังหูด้านซ้ายรอดตายหวุดหวิด 

"อยู่ในพื้นที่แบบนี้ ป้องกันดีแค่ไหนเหตุการณ์มันก็เกิดขึ้นได้ พี่มาอยู่ที่นี่ พี่ไม่เคยอยากจะมารบ หรือมาฆ่ากับใคร พี่ไม่ได้อยากมาสร้างศัตรู แต่พี่อยากจะสร้างสันติสุข พัฒนาพื้นที่ที่ได้เข้าเป็นหัวหน้าหน่วย ไม่ว่าจะเป็น ผกก.สภ.ระแงะ, ผกก.สภ.ตันหยง, สภ.สุไหงปาดี รวมไปถึงตำแหน่งต่างๆ ที่สร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจ ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีวันไหนไม่ตั้งใจทำงาน ยังคิดอยู่เลยว่า ถ้าพี่ถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น ตื่นเช้ามาแล้วพี่จะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ ตำรวจ เพื่อประชาชน และเพื่อประเทศชาติได้เหมือนอยู่ที่นี่ไหม"

...

...

ลดช่องว่าง ไม่สร้างเงื่อนไข บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค - เป็นธรรม พัฒนาพื้นที่ดีขึ้น 

"ทุกวันนี้พี่พยายามลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน อยากให้ตำรวจใกล้ชิดกับ ปชช. มากขึ้น ไม่ไปรีดไถบังคับข่มขู่หรือทำอะไรให้พวกเขาตีตัวออกห่าง ทำลายกำแพงคิดลบ สร้างมิตรภาพดีๆ ต่อกัน ไม่กลั่นแกล้ง ช่วยเหลือกันประหนึ่งพี่น้องคนในครอบครัว ทุกโรงพักที่พี่ไปประจำตำแหน่ง เวลาว่างจากงานชวนลูกน้องช่วยกันขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เอามาแบ่งกันกินในครอบครัวตำรวจ จากนั้นก็เดินเท้าแจกจ่ายชาวบ้านในพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายพวกเขาด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดช่องว่าง พยายามไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ให้เขาอยู่อย่างสบายใจและไว้ใจเจ้าหน้าที่" 

สภ.ตันหยง, สภ.สุไหงปาดี, สภ.ระแงะ ทุกพื้นที่ที่ไปอยู่ล้วนแล้วแต่สร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเอง สร้างความผูกพันที่ดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาและชาวบ้าน โดยเฉพาะ สภ.ระแงะ ที่ผ่านมาได้จัดทำแลนด์มาร์ก สีสันสวยงาม สร้างป้อมตำรวจรูปทรงเก๋ๆ ลดภาวะความตึงเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับคนในพื้นที่ อยากให้ชาวบ้านมีพื้นที่สวยๆ ให้ถ่ายเซลฟี่ แขกไปใครมาเยือนก็ให้นึกถึงที่นี่ นึกถึงเรา ที่สำคัญคือ อยากให้ทุกคนรู้ว่า ตำรวจอยู่ข้างๆ พวกเขาตลอดนะ 

3 จว.ชายแดนใต้ อยากได้ผู้บังคับบัญชาที่มีฝีมือ ทำงานจริงจังตั้งใจ 

"พื้นที่นี้ ต้องการความทุ่มเทเป็นพิเศษ การที่จะย้ายตำรวจมารับตำแหน่ง หรือเอามาเป็นผู้นำ พี่คิดว่าคนๆ นั้นต้องมีใจรัก มีความตั้งใจแก้ไขพัฒนาอย่างแท้จริง เพื่อที่ลูกน้องจะได้มีขวัญกำลังใจที่ดีด้วย การที่เรามีผู้บังคับบัญชาที่มีความสามารถ มีความรู้ มีความมุ่งมั่นในด้านการป้องปรามและแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงดีต่อพื้นที่ ดีต่อประชาชน ลูกน้องไม่อยากได้นายที่อยู่ไปวันๆ เพื่อรอเกษียณ อยู่เพื่อรอย้าย หรืออยู่อย่างไม่มีใจ ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่มีใจทำงาน ลูกน้องจะไปเอาขวัญกำลังใจจากไหนมาทำงาน"

ตัวอย่างผู้บังคับบัญชาที่ดีในความรู้สึกเรา 

"พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ศชต. ทั้ง 3 ท่าน เป็นต้นแบบการสืบสวนทั้งด้านการทำงาน และวางตัว การปกครองลูกน้อง การสร้างและการรักษาทีมงานสืบสวน การดูแล การส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในอาชีพตำรวจ ไม่ทอดทิ้งใช้ให้ทำงานอย่างเดียว คอยระวังหลังให้ลูกน้อง เรียกว่าดีมากที่สุดเท่าที่เคยทำงานร่วมกันมา โดยเฉพาะ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เป็นสุภาพบุรุษทั้งในเวลาทำงานและนอกเวลาทำงาน" 

ปฏิรูปที่ตัวบุคคล 

"ครับ พี่คิดว่า การปฏิรูปตำรวจ ควรเริ่มจากการปฏิรูปที่ตัวเราก่อน หากตำรวจทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ตั้งใจทำงานอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ไม่ต้องวิ่ง ไม่ต้องเสียเงินค่าตำแหน่ง เราทำงานแลกความก้าวหน้า ให้ดูตัวเราเป็นหลักเพราะองค์กรมันดีอยู่แล้ว แค่วางคนมีความสามารถให้ถูกกับหน้างาน เลือกคนเก่ง คนขยันตั้งใจมาทำงาน ระบบเส้นสายมันจะตายไปเอง เพราะคนไม่ทำงานไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม จะวิ่งไปตรงไหนได้คนก็ไม่ยอมรับอยู่ดี แต่ถ้าคุณตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ผลงานจะชี้ชัดตัวบุคคล ผลงานบ่งบอกความเป็นตัวตน ยิ่งเราตั้งใจทำงานและทุ่มเทมากแค่ไหน นอกจากงานจะเป็นเกราะคุ้มกันเราแล้ว ยังส่งผลดีไปถึงคนรอบข้าง ส่งผลดีกับประชาชนและประเทศชาติ โดยไม่ต้องปฏิรูปอะไรเลย"

อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านสวัสดิการและความปลอดภัยใน 3 จังหวัด 

ตำรวจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เบื้องต้นทุกคนต้องมีทักษะความรู้ ได้รับการฝึกฝนที่ดี มีศักยภาพเพียงพอในการใช้ชีวิตในพื้นที่ อย่างน้อยๆ คือต้องป้องกันตัวเองจากโจรผู้ร้าย เอาชีวิตให้รอดพร้อมปกป้องประชาชน เฝ้าระวังอย่างมีสติ และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ อุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำงาน ต้องได้มาตรฐานมากที่สุด เพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย รวมไปถึงสวัสดิการเบี้ยเลี้ยง การดูแลจากรัฐบาล สิ่งนี้สำคัญมาก สวัสดิการดี ขวัญกำลังใจดี เรื่องสวัสดิการไม่ใช่เฉพาะแต่ตำรวจใน 3 จังหวัดเท่านั้น เพราะตำรวจทั่วประเทศต้องการเหมือนกันหมด

สุดท้ายนี้...แม้ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นตำรวจ แต่ภาคภูมิใจที่เป็น นตท.34 - นรต.50 "เพราะเพื่อนไม่เคยทิ้งกัน"

"พี่ไม่ได้เป็นลูกหลานคนรวยนะ เข้ามาเรียนในโรงเรียนนายร้อยก็มาแบบเด็กบ้านนอก ไม่มีเงินมีทอง และไม่รู้ด้วยว่าที่นี่มีเพื่อนตำรวจอีกหลายครอบครัวที่เขามีโอกาสทางสังคม มีความร่ำรวย แต่โรงเรียนเราสอนให้รักในอาชีพตำรวจ รักที่จะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ถึงพี่จะไม่ร่ำรวย ต้นทุนชีวิตไม่มาก เพื่อนๆ ก็ดีกับพี่ เรียนจบแยกย้ายกันไปเติบโต พี่ก็มองดูความสำเร็จของเพื่อนทุกคนและร่วมยินดีเสมอเมื่อทราบข่าวคราว เราอยากให้เพื่อนเราทุกคนได้ดี อยากให้เพื่อนก้าวหน้าและโตไปด้วยกัน รักกลมเกลียวกันแบบนี้ไปตลอด"

ล่าสุดหลังเกิดเหตุการณ์โจรใต้ยิงถล่มโรงพัก อยู่ไกลขนาดนี้ อยู่ในที่ที่หลายคนอาจลืมเราไปแล้ว แต่เพื่อนไม่เคยลืม เพื่อนทราบข่าว พวกเขาไม่ทิ้ง ระดมเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้บาดเจ็บ และเอาเงินมาซ่อมแซมพัฒนาโรงพัก ทั้งเพื่อน "นตท.34 - นรต.50" รวมทั้งสิ้นเป็นเงินเกือบ 2 แสนบาท รู้สึกว่าทั้งหมดนี้มันคือคุณค่าทางจิตใจ มันคือคำตอบของมิตรภาพที่เพื่อนไม่ทิ้งเพื่อน เป็นเหตุการณ์ที่จะจดจำ เล่าสืบต่อกันไปจนรุ่นหลาน...."น้ำใจ และกำลังใจจากเพื่อน มันทำให้เรามีแรงลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ เพื่อประเทศชาติได้อีกครั้ง"

.....เชื่อค่ะว่าไม่ใช่แค่เพียง "นตท.34 - นรต.50" ที่คอยส่งแรงใจความห่วงใยให้กับเขา เพราะยังมีตำรวจอีกกว่า 2 แสนนายทั่วประเทศ รวมไปถึงประชาชนคนไทยทุกคน ต่างก็คอยส่งกำลังแรงใจ และความห่วงใยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ - ทหาร 3 จังหวัดชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่หลายนาย ต้องทิ้งบ้านเกิด ห่างไกลครอบครัวนับสิบปี มายืนอยู่ตรงจุดนี้ก็เพื่อปกป้องประชาชนคนไทย เราทุกคนไม่มีใครอยากฟังข่าวร้าย มีแต่จะภาวนาให้รอดปลอดภัย และพบเจอแต่สิ่งดีๆ

...."ขอบพระคุณ ในความเสียสละทุกลมหายใจ" ....

Police Community