อัยการคดีพิเศษ 4 พร้อมสั่งฟ้อง อดีตพระเณรคำ 2 สำนวนคดี 5 ข้อหา ต่อศาลอาญาแล้ว พร้อมค้านประกันทั้ง 2 สำนวน ขณะที่เจ้าตัว ปฏิเสธทุกข้อหา ขอสู้คดีชั้นศาล ส่วนเรื่องปาราชิก อ้างอยู่ต่างประเทศ ไม่รู้ต้องปาราชิก ยอมถอดจีวร แต่ไม่เปล่งวาจาสึก ...
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การของ นายวิรพล สุขผล อดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรือ อดีตเณรคำ อดีตประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ ในข้อหาพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี, กระทำอนาจารเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี, ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ได้นำตัวไปส่งให้อัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล
โดยการสอบปากคำมีทนายความส่วนตัวของ นายวิรพล ประมาณ 3 ทีม มาร่วมรับฟังการสอบสวน ซึ่งนายวิรพล หรือ อดีตเณรคำ ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะขอไปให้การต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ต้องหา
ซึ่งข้อหา อนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และพาเด็กไปเพื่อการอนาจารนั้น คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2543-2544 ทำให้คดีนี้ ขาดอายุความไปแล้ว อัยการจึงยุติการดำเนินคดี
สำหรับข้อหาฉ้อโกงประชาชนนั้น ตามกฎหมาย กำหนดให้อัยการร้องขอเงินคืนให้กับผู้เสียหาย เมื่ออัยการฟ้องนายวิรพล ในข้อหานี้ อัยการจึงระบุในคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ นายวิรพล คืนเงินกว่า 28.6 ล้านบาท แก่ผู้เสียหายรวม 29 ราย ด้วย
อย่างไรก็ตาม อัยการ จะนำตัวนายวิรพล ไปยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในวันนี้ พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า จำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องปาราชิก เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้อ่านใบปาราชิกให้รับทราบ ซึ่ง นายวิรพล อ้างว่าไปพำนักอยู่ในต่างประเทศไม่รู้ว่าต้องปาราชิก ซึ่งนายวิรพล หรือเณรคำ ได้ยินยอมถอดจีวร แต่ไม่เปล่งวาจาสึก
...
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวด้วยว่า ในช่วงพูดคุยถึงในขั้นตอนการรับตัวได้มีการสอบถาม นายวิรพล ถึงเหตุผลที่ไม่อุทธรณ์คำสั่งส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ก็ได้รับคำตอบว่า ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ แต่นายวิรพล ได้สั่งห้ามไม่ให้อุทธรณ์ เพราะอยากกลับเมืองไทย พร้อมจะสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมของไทย
ด้าน อัยการคดีพิเศษ 4 ระบุเช้าวันนี้ ศาลแพ่ง นัดฟังคำสั่งคดีร้องศาลให้ยึดทรัพย์อดีตพระเณรคำ กับพวกรวม 8 คน จำนวน 43 ล้านบาทเศษ ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฟอกเงินฯ