“วิทยา สุริยะวงค์” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เร่งดำเนินงาน สร้างการรับรู้ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ก.ค.60 ที่ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส.นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร ครั้งที่ 1/2560 โดยมีคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย นายนิยม เติมศรีสุข รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการปกครอง กรมประชาสัมพันธ์ กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตํารวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 35 คน ร่วมประชุมกำหนดแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการสร้างการรับรู้ด้านการป้องกันยาเสพติดในประเด็นความรู้ ยาเสพติด
นายวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน กลุ่มนักค้ายาเสพติดมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า การจำหน่าย และการติดต่อสื่อสาร ตลอดจนพบการแลกเปลี่ยนและเสนอแนะความคิดเห็นในเรื่องของยาเสพติด รวมทั้งการการเผยแพร่ข่าวสารผ่านทางสื่อสารธารณะมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.) ได้มีคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 10/2559 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสารด้านป้องกันยาเสพติดเป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
...

"โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร ครั้งที่ 1/2560 โดยมีคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมเพื่อพิจารณาแนวทางความร่วมมือในการสร้างความรับรู้และความเข้าใจต่อประชาชนในประเด็นผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ 8-9/2559 และการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกำหนดแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการลดปัญหายาเสพติด โดยสร้างการรับรู้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1. “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ต้องเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่มีความผิดทางอาญา 2. รัฐบาลให้การส่งเสริมอาชีพและให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัด ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขในสังคม 3. สร้างความตระหนักในโทษพิษภัยและผลกระทบของยาเสพติด 4. เฝ้าระวังการซื้อขายยาเสพติดทางโซเชียลมีเดีย บทลงโทษของผู้กระทำผิด และช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด 5. การปรับแก้กฎหมายยาเสพติด และนโยบายใหม่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล 6. การดำเนินการและการให้บริการต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด" นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นต่างๆ และได้พิจารณาแนวทาง การดำเนินการที่ยังต้องเร่งดำเนินงานต่อไป คือ การสร้างการรับรู้เรื่อง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” โดยผู้เสพ/ผู้ติดสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เสียประวัติ พร้อมทั้งรัฐบาลให้การสนับสนุนส่งเสริมให้มีอาชีพ และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข, การสร้างการรับรู้ความคืบหน้าในการปรับแก้กฎหมายยาเสพติด เรื่อง “กัญชาและกระท่อม” รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนกลไกการสร้างการรับรู้ด้านการป้องกันยาเสพติด ในประเด็นความรู้ยาเสพติดในภาพกว้าง ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด.