
ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันของทุกองคาพยพของแต่ละประเทศ องค์ประกอบของการเติบโตจึงอาจมองได้จากทั้ง 1) มุมของกิจกรรมที่ขับเคลื่อน อาทิ การบริโภค การลงทุนการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และ การใช้จ่ายภาครัฐ 2) มิติของปัจจัยการผลิต คือ แรงงาน ทุน และเทคโนโลยี หรือผลิตภาพรวม และ 3) ด้านสาขา ได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว และ การเงิน เป็นต้น
น่าสังเกตว่า คน เป็นจุดร่วมที่เชื่อมโยงที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพราะเป็นทั้งผู้ดำเนินกิจกรรม เป็นปัจจัยการผลิตให้กับแต่ละสาขา ในวันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนความคิดถึงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง โดยจะเจาะจงไปที่กลไกสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
ข่าวแนะนำ
กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นกลไกเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับการเทียบโอนประสบการณ์ กล่าวคือ หากคุณ ก. จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น เมื่อออกไปทำงานได้แสดงผลงานอย่างโดดเด่นและมีทักษะความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง กรอบคุณวุฒิแห่งชาติก็จะเทียบโอนค่าประสบการณ์ให้กับคุณ ก. ซึ่งไม่เพียงทำให้คุณ ก. ได้รับความสะดวกในการรับรองความสามารถ แต่จะเอื้อให้นายจ้างมีทางเลือกในคัดสรรแรงงานเพิ่มขึ้นตลอดจน เปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินนโยบายด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะแรงงาน และการจัดหางานให้กับคนไทย สามารถถอดแบบประสบการณ์ของคุณ ก. เพื่อนำไปจัดทำหลักสูตรพัฒนากลางให้กับแรงงานโดยทั่วไปได้อีกด้วย
เหตุผลหลักสามประการที่กรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคนไทย คือ
ประการแรก แรงงานพ้นวัยศึกษาในระบบแต่ยังต้องการพัฒนาทักษะ คนไทยส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่สูงและเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ดังนั้นการใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นเครื่องมือเอื้อให้แรงงานสามารถยกระดับ/ปรับทักษะและเทียบโอนคุณวุฒิของตนให้สอดคล้องกับประสบการณ์และความสามารถ
ประการต่อมา การพัฒนาทักษะแรงงานในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอให้เท่าทันความต้องการทักษะแรงงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกระแสเทคโนโลยีและโครงสร้างประชากร โดยปัจจุบันมีแรงงานที่เป็นลูกจ้างเอกชนได้รับการอบรมเพียง 28% โดยการอบรมที่ผ่านมา บางส่วนเป็นการอบรมภาคบังคับและไม่ได้รองรับทักษะใหม่ๆ เช่น ความปลอดภัย สุขอนามัย ซึ่งครอบคลุมประมาณ 16% ของแรงงานที่อบรมโดยเอกชน ดังนั้น หากแรงงานใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นมาตรวัดระดับการพัฒนาทักษะของตน จะช่วยเปิดโอกาสให้ขวนขวายเรียนรู้ได้ต่อเนื่อง
ประการสุดท้าย การศึกษาในระบบเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทักษะเฉพาะทางสำคัญ คือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEAM) แต่ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ควรเชื่อมโยงกับทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการด้วย จึงควรวางแนวทางพัฒนานักเรียนภายใต้ความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการเกือบ 12 ล้านราย ตั้งแต่ต้นวัย เพื่อวางแผนอาชีพและชีวิต แทนที่จะรอจนกระทั่งแรงงานใกล้จะสำเร็จการศึกษาซึ่งมีอยู่ประมาณปีละ 1 ล้านราย และในจำนวนนี้มีน้อยกว่า 30% ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
เป็นที่น่ายินดีว่า คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาคนไทยตามเหตุจำเป็นทั้ง 3 ประการ และอยู่ระหว่างพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลแรงงานและระบบการศึกษาเพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถออกแบบนโยบายบนหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy) ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการพัฒนาคนไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดจึง คือ การผสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจและแรงงานเพื่อให้นำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติมาใช้จริงในทางปฏิบัติ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **