
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอสกำลังจัดทำกฎหมายลำดับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 คาดว่ากฎหมายลำดับรองในกลุ่มที่ 1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มสำคัญจำเป็นเร่งด่วนจะได้เห็นร่างได้ก่อนวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จะมีผลครอบคลุมทุกกิจกรรมที่มีการดำเนินการในไทย ตลอดจนการโอนข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้จากการดำเนินธุรกิจในไทย เพื่อส่งผ่านไปทำการประมวลผลที่ต่างประเทศ และส่งกลับเข้ามาทำธุรกิจในไทยที่ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ของไทยทันที
นายภุชพงค์กล่าวว่า ดีอีเอสขอแนะนำให้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลให้บริการอยู่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศ แต่มีการประกอบกิจการ หรือธุรกิจร่วมในประเทศไทย ต้องปรับหลักเกณฑ์กฎหมาย เช่น ต้องระบุหลักเกณฑ์และวิธีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในสัญญาใช้บริการอย่างชัดเจน จุดประสงค์ในการขอข้อมูล และจะนำข้อมูลไปใช้ด้านใดบ้าง ไม่สามารถเอาไปใช้ เกินจากที่ระบุไว้ในคำขอความยินยอม เป็นต้น
ข่าวแนะนำ
ขณะที่ผู้ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องพึงระวังในการอ่านข้อความขอความยินยอม เจตนารมณ์ของกฎหมาย จะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัดแจ้งในกิจกรรมนั้นๆ เช่น มี 3 ข้อ ถ้านำไปใช้เพิ่มจากนั้น ผู้ใช้สามารถถอนความยินยอมได้ และอยากแนะนำผู้ใช้งาน ถ้าสมัครใช้แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ใดๆต้องระวังถึงจุดนี้ด้วย โดยเฉพาะแอปพลิเคชันสนทนาออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมล่าสุด เพราะแอปนี้เรียกเอาเบอร์โทร.ไปจัดเก็บโดยอัตโนมัติ ไม่มีการขอความยินยอมก่อน
นายภุชพงค์กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ไม่อยากให้มองว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ เป็นอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือการทำบิ๊ก ดาต้า (Big Data) ต้องมองมุมบวกว่ามีกฎหมายฉบับนี้ ต้องรีบแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ การใช้ big data เพื่อให้เกิดนวัตกรรม สิ่งใหม่ในการพัฒนาประเทศ.