
ฟื้นความเชื่อมั่นให้ประเทศ วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ
กกร.จี้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด–19 ให้คนไทย ดันตั้งคณะทำงานกำหนดเป็นวาระแห่งชาติหวังเริ่มได้ในเดือน ก.ค.นี้ คงกรอบการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 1.5%–3.5% ส่งออกโต 3–5%
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทยได้มีมติให้คงประมาณการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ว่า จะขยายตัวในกรอบ 1.5%-3.5% การส่งออกขยายตัว 3%-5% เงินเฟ้อทั่วไป 0.8% -1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมาตรการของรัฐบาล ที่อัดฉีดเศรษฐกิจได้มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เริ่มฟื้นคืนสภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวแนะนำ
ดังนั้น กกร.จึงขอให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานเตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วนและให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ
ขณะเดียวกัน กกร.ก็อยากเห็นประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในเดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไปจนถึงเดือน ธ.ค.นี้ และให้มีการทำใบรับรองยืนยันการฉีดวัคซีน (Vaccine Passport) ให้กับพนักงานต่างชาติที่ทำงานในไทย และต่างด้าวโดยในส่วนของต่างด้าวและต่างชาติ ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยขอลดหย่อนภาษีเรื่องการฉีดวัคซีน โดยเป็นโมเดลในการบริหารจัดการนำร่องในภาคท่องเที่ยวก่อนก็ได้
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกของปีนี้ ยอมรับถูกกดดันจากการระบาดรอบใหม่ที่ยังไม่คลี่คลายระยะเวลาสั้นๆ จึงอยู่ที่ 2 ปัจจัยหลักได้แก่ ความสามารถในการควบคุมที่รัฐบาลได้มีการเร่งตรวจเชิงรุกและแยกผู้ติดเชื้อซึ่งถือว่าทำได้ดี 2.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ กกร.ก็ยังกังวลปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้า และรองรับผลผลิตทางการเกษตร ที่กำลังจะทยอยออกมาตั้งแต่ มี.ค.นี้ จึงอยากเห็นการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อหามาตรการขับเคลื่อนร่วมกัน
การประกาศสถานการณ์ภาวะฉุกเฉิน ของเมียนมา กกร.มีข้อกังวลหากการเมือง จากต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกมีการแซงชั่น เมียนมา อาจส่งผลกระทบได้ แต่ระยะสั้น จำเป็นต้องติดตามนโยบายอีก 1-2 สัปดาห์ โดยหากยึดตามรัฐธรรมนูญเดิม ก็ไม่น่าจะกระทบมากนัก ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการลงทุนในเมียนมา 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจพลังงาน สถาบันการเงิน วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ และปีที่ผ่านมามีการลงทุน 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปีนี้อาจชะลอตัวลงเพราะประเด็นทางการเมืองและการระบาดรอบสอง.