นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 1 ที่จะเสนอต่อ ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 6 มี.ค.นี้ เรื่องการแจกเงินนั้นเป็นแค่ 1 ในมาตรการจากทั้งหมด 10 มาตรการเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่อยากให้ไปใส่ใจเรื่องนี้มาก เพราะสิ่งสำคัญคือกระทรวงการคลังและรัฐบาลจะต้องทำให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถอยู่ได้ และรักษาการจ้างแรงงานไว้ ดังนั้น มาตรการออกมาจึงมีหลายด้าน ทั้งการช่วยเหลือด้านการเงินและการคลัง อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการชุดนี้จะเรียกความเชื่อมั่นจาก ประชาชนได้ว่า รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งและพร้อมดูแลประชาชน “เรื่องการแจกเงินมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าใช้งบถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะเรื่องแจกเงินเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการจากวงเงินหลายแสนล้านบาทที่จะนำเสนอ ครม.เศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมอาจจะไม่เห็นชอบแนวทางนี้ก็ได้”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในหลายประเทศที่ประสบปัญหาโควิด-19 ระบาด ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการแจกเงินเช่นกัน เช่น ฮ่องกง แจกเงินประชาชน 7 ล้านคน คนละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 40,500 บาท ส่วนสิงคโปร์แจกเงินให้กับประชาชนอายุ 21 ปีขึ้นไป ระหว่าง 100-300 เหรียญสิงคโปร์ ตามระดับรายได้ หรือ 3,000-7,000 บาท ดังนั้น หากไทยจะใช้แนวทางนี้ก็สามารถทำได้
ส่วนวงเงินงบประมาณที่นำมาใช้นั้น สำนักงบประมาณจะรายงานถึงตัวเลขโดยตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยมาตรการชุดนี้สามารถใช้เงินได้ทั้งจากงบกลาง และเงินกู้จากสถาบันการเงินของรัฐไม่เกิน 30% ของงบรายจ่าย เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลัง อย่างไรก็ตาม คงยังไม่สามารถระบุวงเงินที่ชัดเจนได้ว่าจะใช้เท่าใด เพราะกระทรวงการคลังเพียงแค่เสนอแนวทาง หลังจากนั้นต้องดูว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจจะมีความเห็นอย่างไร หลังจากนั้นจึงจะสรุปวงเงินได้.