เมื่อรถติดแล้วเราเหยียบเบรกไว้ และรอให้เบรกมือไฟฟ้าทำงานสมบูรณ์แล้ว (ถ้าเบรกมือไม่ได้เป็นระบบไฟฟ้า ก็ดึงด้ามขึ้นเอง) ก่อนยกเท้าขวาออกจากแป้นเบรก เราจะเลื่อน / โยกคันเกียร์ไปที่ N + Hold ทุกครั้งที่รถติด หรือหยุด เพื่อประโยชน์ในการยืดอายุการใช้งานของเกียร์อัตโนมัติ และองคาพยพส่วนควบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เช่น 
1. ลดความร้อนของน้ำมันเกียร์ไม่ให้สูงเกินไป
2. ลดแรงดันในระบบเกียร์
3. ลดรอบการหมุนของเครื่องยนต์
4. ลดการจุดระเบิดอย่างรุนแรง
5. ลดความร้อนของเครื่องยนต์
6. ลดแรงเสียดทานของแผ่นคลัตช์
7. ลดแรงขบแรงเฉียดของเฟืองเกียร์

...

และขออธิบายพอสังเขปโดยภาพรวม ดั้งนี้

1. ทำไมการใส่เกียร์ N จึงลดความร้อนของน้ำมันเกียร์ได้ มันต่างจากการใส่เกียร์ D อย่างไร?

เบื้องต้นต้องเรียนให้ทราบก่อนนะครับว่า เกียร์จะทำงานได้ต้องอาศัยข้อเหวี่ยงเครื่องยนต์ในการหมุนปั๊มเกียร์ และทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ทุกครั้งที่เครื่องยนต์ทำงาน จะส่งผลต่อการทำงานของเกียร์อัตโนมัติโดยทันที ยกตัวอย่างโหมดเกียร์ P & N จะเป็นดังนี้
คือ...
A. ข้อเหวี่ยงเครื่องยนต์หมุนปั๊มเกียร์
B. ปั๊มเกียร์ดูดน้ำมันจากก้นอ่างผ่านกรองเกียร์
C. จากกรองเกียร์ไหลเข้าสู่ทอร์คคอนเวอร์เตอร์
D. ทอร์คผลักดันน้ำมันผ่านวาล์วบอร์ดี้ (สมองเกียร์)
E. จากสมองเกียร์ไหลเข้าไปในห้องคลัตช์
F. ผ่านห้องคลัตช์แล้วไหลออกไประบายความร้อน
G. ย้อนกลับไหลลงไปรวมกันที่ก้นอ่าง
ไหลวนเป็นอนุกรมย้อนกลับไปที่ A.

ตามลำดับแบบนี้ ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงานอยู่ การไหลวนเพื่อหล่อลื่น ชำระสิ่งสกปรกที่อยู่ในระบบ และออกไประบายความร้อน ย้อนไหลลงสู่ก้นอ่าง จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุดพักครึ่งแต่อย่างใด

สรุปความในข้อนี้ได้ว่า เมื่อเครื่องยนต์หมุน เฟืองเกียร์อัตโนมัติก็ต้องหมุนตามตลอดเวลา เราจึงเรียกเกียร์แบบนี้ว่า “เกียร์เฟืองดาวเคราะห์” หรือ Planetary Gear (จะเรียก ATF ก็ได้) ชุดแผ่นคลัตช์ และแผ่นเพลตกั้นกลางที่สลับกันอยู่ก็จะหมุนแบบหลวมๆ โดยไม่ถูกดันให้ชิดติดแน่น ไปพร้อมกับการเดินเบาของเครื่องยนต์ ต่อเมื่อมีการเลื่อน / โยกคันเกียร์ไปที่ D กล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติก็จะส่งสัญญาณให้โซลินอยด์ควบคุมแรงดันเปิด / ปิด เพื่อจ่ายน้ำมันให้ลูกสูบเกียร์ดันชุดแผ่นคลัตช์ให้ชิดสนิทแนบแน่น หรือที่เรียกว่าคลัตช์จับ เกียร์ 1 เกียร์อาจใช้ชุดคลัตช์ 2-3 ชุด เพื่อทำงานร่วมกันกับเฟืองเกียร์นั้นๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ต่อเมื่อเลื่อน / โยกคันเกียร์ไปที่ N ชุดคลัตช์ก็จะแยกห่างออกจากกัน พร้อมกับหมุนฟรีไปพร้อมกับข้อเหวี่ยง และชุดเฟืองเกียร์ดาวเคราะห์เหมือนเดิม

ในช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงแห่งการที่น้ำมันเกียร์ได้ทำความสะอาดเศษชิ้นส่วนที่สึกหรอ จากการบีบรัดอัดแน่นของแผ่นคลัตช์ ให้หน้าสัมผัสได้สะอาดเนียนเหมือนเพิ่งล้างหน้า และผ่อนคลายความตึงเครียดอีกครั้งหนึ่ง

...

เมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่ง N มันก็เป็นเหตุให้แรงดันน้ำมันในระบบเกียร์ต่ำลง ด้วยเหตุว่าน้ำมันไม่ต้องถูกรีดเพื่อส่งให้ลูกสูบ ไปดันชุดคลัตช์ให้ชิด น้ำมันก็ไหลคล่องสบาย รอบเครื่องยนต์ก็ต่ำลง ตัวชดเชยรอบเดินเบา ก็ไม่ต้องทำงานหนัก การจุดระเบิดจากคอยล์ และหัวเทียนก็เบา ความร้อนในห้องเผาไหม้ก็ย่อมลดลงเป็นเงาตามตัว แค่เลื่อน / โยกคันเกียร์ไปที่ N ก็ช่วยยืดอายุการทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติไปในตัว

...

มาถึงสาระสำคัญที่ผมอยากนำเสนอที่สุดคือ “การลดแรงเสียดทานของแผ่นคลัตช์” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความสกปรกที่เกิดขึ้น ภายในระบบเกียร์อัตโนมัติที่มีทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ผงฝุ่นที่ปนเปื้อนอยู่ในระบบจนทำให้น้ำมันมีสีคล้ำ หรือดำนั้น ....มาจากที่เราใส่เกียร์ D และห้ามล้อไม่ให้หมุนไว้ จะด้วยการเหยียบแป้นเบรก หรือใช้เบรกมือไฟฟ้าก็ตาม เมื่อเลื่อน / โยกคันเกียร์ไปที่ D นั่นหมายความว่าเราต้องการเคลื่อนรถยนต์ไปข้างหน้า ชุดคลัตช์จับชิดสนิทกัน ตามแรงดันของน้ำมัน ฟันเฟืองดาวเคราะห์หมุนส่งกำลังไปที่เฟืองท้าย แต่เฟืองท้ายหมุนเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะถูกห้ามล้อไว้ด้วยความประสงค์ของผู้ขับขี่ “การหมุนฟรีของชุดคลัตช์” (ฟรีคลัตช์ทิ้ง) จึงเกิดขึ้น เมื่อแผ่นคลัตช์หมุนเสียดทานกับแผ่นเพลตเหล็ก ซึ่งเป็นตัวกั้นกลาง และช่วยควบการหมุน ย่อมเกิดการลื่น ร้อน และอาจหลุดล่อนได้

บางทีเพลตเหล็กถึงกับไหม้ก็มีมาแล้ว ท้ายสุดก็หนีไม่พ้นชุดเฟืองเกียร์ดาวเคราะห์ที่ต้องฝืนหมุนรอบตัวเองในภาวะคลัตช์จับ อีกทั้งยังถ่ายทอดกำลังไม่ได้... แรงเค้น และความเครียดย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้เขียนเล่ามาพอเป็นสังเขปนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่รักในการทะนุถนอม หรือบำรุงรักษาเกียร์อัตโนมัติให้มีการใช้งานได้เต็มตามสมรรถนะ และมีอายุการใช้งานยาวนานตามที่ควรจะเป็นจริง การใช้งานเกียร์อัตโนมัติเป็นแนวทางในการใช้ดุลยพินิจเลือกปฏิบัติตามแต่สถานการณ์เฉพาะหน้า แต่หากท่านใดที่ไม่ประสงค์จะทำเฉกเช่นนั้น ที่ผมได้แนะนำ และให้ข้อมูลไว้... ก็หาได้เป็นเรื่องที่ผิดจารีต ประเพณี ศีลธรรม หรือเป็นเรื่องเสียหายแต่ประการใดไม่ เพราะคนเราให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ “ไม่เท่ากัน” ก็เท่านั้นเองจร้า....

...

ป.ล. งานเขียนชิ้นนี้หมายถึงเกียร์ที่มีทอร์คคอนเวอร์เตอร์ทำงาน

ผลกระทบจากน้ำมันเกียร์ที่เสื่อมสภาพแล้ว
เล่าให้ฟังพอสังเขปเบื้องต้นได้ดังนี้...
1. แรงดันน้ำมันเกียร์ต่ำต้องใช้รอบเครื่องสูงขึ้น
2. อุณหภูมิน้ำมันเกียร์สูงขึ้นมากกว่าปกติ
3. เกิดการควบแน่น และมีน้ำในระบบง่ายมาก
4. ซีลยาง-โอริงที่อยู่ในระบบแข็ง / หดตัว
5. ฟันเฟืองขบกันแน่นกว่าเดิมทำให้เกิดเศษโลหะ
6. คลัตช์ลื่น ถ่ายทอดกำลังได้ไม่ดีเหมือนเดิม

ข้อมูลจาก ศูนย์ฟอกเกียร์ https://www.facebook.com/thutiya