เกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม ผสมผสานสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งฟิสิกส์ ไฮดรอลิกส์ อิเล็กทรอนิกส์ และทฤษฎีเชิงกล ทำอัตราเร่ง 0-100 เร็วกว่าเกียร์ธรรมดา แถมยังทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ประหยัดกว่า เกียร์ออโต้ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวและอยู่นิ่งหลายร้อยชิ้น เซนเซอร์และโซลินอยด์วาล์ว ปั๊ม คลัตช์ เฟืองต่างขนาด ทั้งหมดล้วนอาบไปด้วยน้ำมันไฮดรอลิก และ TCM (โมดูลควบคุมระบบเกียร์) หนึ่งตัว เพื่อควบคุมการทำงานทั้งหมด ชิ้นส่วนการทำงานในแต่ละหน้าที่ของเกียร์อัตโนมัติอาจเข้าใจได้ยาก แต่การทำความเข้าใจเพื่อขับใช้งานอย่างถูกต้องนั้นช่วยยืดอายุเกียร์ได้

...

ระบบส่งกำลังเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของรถยนต์ เนื่องจากต้องส่งกำลังแรงบิดจากเครื่องยนต์ไปยังล้อ ผ่านเพลาขับ ไม่ว่าจะขับหน้า ขับหลัง หรือขับเคลื่อนสี่ล้อ หากเครื่องยนต์เชื่อมต่อกับล้อโดยตรง ความเร็วขั้นต่ำอาจเป็น 700 รอบต่อนาที ซึ่งแปลงเป็นมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเหยียบคันเร่งเต็มที่แล้วยางจะหมุนเร็วพอที่จะวิ่งได้เกือบ 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ 3,000 รอบต่อนาที (คำนวณจากยางขนาด 225/60R16 ที่หมุนด้วยความเร็ว 782 รอบต่อกิโลเมตร) แน่นอนว่าล้ออาจไหม้ ถ้าไม่ทำให้เครื่องยนต์พังก่อน

การเปลี่ยนเกียร์ ขึ้น-ลง ภายในระบบส่งกำลัง กลายเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ด้วยโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย นอกจากนี้ อัตราทดเกียร์ที่หลากหลายยังช่วยให้เครื่องยนต์อยู่ในช่วงที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ความเร็วแตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีใดวิธีหนึ่ง ในการปลดการเชื่อมต่อเครื่องยนต์ออกจากระบบเกียร์เมื่อรถจอดอยู่ เกียร์อัตโนมัติทำงานโดยแทบไม่มีการจัดการของคนขับเลย นอกจากการปรับโหมดขับเคลื่อน หรือใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift แต่การเปลี่ยนเกียร์ด้วยตนเองบนเส้นทางปกติ โดยเฉพาะทางราบ ไม่ใช่เส้นทางขึ้น-ลงเขา ก็แทบจะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของเกียร์จะเข้ามารับหน้าที่ทั้งหมดและทำการปรับอัตราทดให้สมดุลกับความเร็วและการใช้คันเร่ง ลองมาดูข้อควรระวังทั้ง 8 ข้อ เมื่อใช้เกียร์อัตโนมัติเพื่อยืดอายุการใช้งานกันดีกว่า....... 

1. Walking Speed ของเกียร์ออโต้ เมื่อใส่เกียร์ D รถจะไหลเดินหน้าได้เองโดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง เป็นคุณลักษณะพิเศษของเกียร์อัตโนมัติที่คุณควรระมัดระวัง เมื่อติดสัญญาณไฟนานๆ ควรใส่เกียร์ว่างในตำแหน่ง N แล้วดึงเบรกมือไว้เพื่อป้องกันรถไหล การใช้เบรกมือทุกครั้งเมื่อต้องจอดรอสัญญาณไฟนานๆ พร้อมเปลี่ยนไปที่ตำแหน่งเกียร์ว่าง ทำให้เกียร์ไม่ต้องทำงานต่อเนื่องทั้งๆ ที่กำลังจอด การเลื่อนคันเกียร์จาก D ไป N สลับไปมาบ่อยๆ ไม่ได้ทำให้เกียร์สึกหรอเร็วกว่ากำหนดอย่างที่เข้าใจ จอดรอสัญญาณไฟนานๆ แล้วยัดเกียร์ D เหยียบเบรกเอาไว้คุณอาจเผลอคลายเท้าออกจากแป้นเบรก ทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนเสยเข้ากับท้ายรถคันหน้าแบบไม่ได้ตั้งใจ การใส่เกียร์ D เหยียบเบรกเอาไว้ในขณะที่รถติด เกียร์ยังคงทำงานและอาจทำให้เกิดความร้อนสะสมในระบบ เนื่องจากยังอยู่ในเกียร์เคลื่อนที่ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง N หรือเกียร์จอด P 

...

2. ระบบเบรกมือ ไม่ว่าจะเป็นแบบเก่าที่ใช้สายเบรก หรือเป็นเบรกมือแบบไฟฟ้า เบรกมือเป็นอุปกรณ์สำคัญของรถเกียร์อัตโนมัติ ควรตรวจสอบการทำงานของเบรกและเบรกมืออยู่เสมอๆ เมื่อเบรกมือใช้งานไม่ได้ จะทำให้การขับรถเกียร์อัตโนมัติไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

3. จากความเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่า เลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอนั้นไม่จริงเสมอไป การคา เกียร์ D เอาไว้นานๆ แล้วเหยียบเบรกขณะรอสัญญาณไฟ จะทำให้เกียร์ร้อนขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น ความร้อนที่สะสมเป็นเวลานานจะทำให้เกียร์สึกหรออายุการใช้งานหดสั้นลง นอกจากนั้นยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความพลั้งเผลอหลงเกียร์ได้ง่าย ควรใส่เกียร์ว่างหรือเกียร์ N แล้วดึงเบรกมือหรือกดใช้งานเบรกมือไฟฟ้า เพื่อป้องกันรถไหล ได้พักขาไปในตัว ลดอุณหภูมิการทำงานของเกียร์ขณะรถติดหนักในวันที่ร้อนจัดอีกด้วย 

...

4. ใช้ความเร็วให้เหมาะสม ไม่ควรขับเร็วมากจนเกินไป เกียร์ออโต้นั้นสามารถเชนเกียร์ได้ แต่ประสิทธิภาพของการลดเกียร์จะด้อยกว่าเกียร์ธรรมดาแบบมีคลัตช์ เมื่อใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดจะช่วยทำให้ควบคุมทิศทาง หรือแม้แต่เบรกได้ดีกว่าขับด้วยความเร็วที่สูงเกินกว่ากฎหมายจราจร โดยเฉพาะในเขตเมืองและเขตโรงเรียน

5. ใช้ความเร็วที่เหมาะสมและปลอดภัย เมื่อขับลงเนินด้วยรถเกียร์ออโต้ ทางลาดชันหรือโค้งบนเขาที่คุณไม่มีความคุ้นชิน ให้ลดความเร็ว ลดเกียร์ลงต่ำ ปรับความเร็วของรถให้เข้ากับสภาพเส้นทางขณะขับลงเนินเขาสูงชัน นั่นก็คือไม่ขับเร็วเกินไป เกียร์ต่ำเช่นเกียร์ 2 หรือแม้แต่เกียร์ 1 ในเกียร์ออโต้ช่วยหน่วงไม่ให้รถแล่นลงเนินมาเร็วมากจนอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุวิ่งแหกโค้งลงเขา การเบรกเบาๆ ลดความเร็วก่อนเข้าโค้งควบคู่กับการใช้เกียร์ต่ำขับลงเขาเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ นอกจากจะปลอดภัยแล้วยังช่วยลดอุณหภูมิของเบรกอีกด้วย ขับวางตำแหน่งรถโดยพยายามหลีกให้ห่างจากเส้นทึบ ไม่ขับตัดโค้งที่มองข้างหน้าไม่เห็นอย่างเด็ดขาด

...

6. สตาร์ตที่ตำแหน่งเกียร์ P ทุกครั้ง ก่อนเหยียบเบรกกดปุ่มสตาร์ตหรือบิดกุญแจเพื่อสตาร์ต ควรตรวจการณ์รอบๆ รถว่ามีเด็กเล็กหรือหมาแมวอยู่ใกล้กับรถหรือไม่ รถเก่าดูให้แน่ใจว่าเท้าเหยียบเบรกไม่ใช่คันเร่งก่อนที่จะย้ายคันเกียร์มายังตำแหน่ง R หรือ D ค่อยๆ ปล่อยเท้าออกจากเบรก อัตราทดเกียร์ออกตัวของเกียร์อัตโนมัตินั้นปรับมาให้ตอบสนองอย่างรวดเร็วว่องไวเป็นพิเศษ ไม่ควรใช้คันเร่งหนักๆ ออกตัว หากมีรถอยู่ข้างหน้าและอยู่ในระยะที่ไม่ไกลนัก แรงออกตัวของเกียร์ 1 จะทำให้คุณเบรกไม่ทัน หลังจากนั้นเพียงเสี้ยววินาทีก็จะไปหวดเข้ากับท้ายรถคันข้างหน้าอย่างจัง

7. สำหรับคนที่คุ้นชินกับการขับรถเกียร์ธรรมดา หากที่บ้านมีรถหลายคัน ต้องใช้รถสลับไปมาระหว่างรถเกียร์ออโต้และรถเกียร์ธรรมดา ต้องระวังการใช้เกียร์อัตโนมัติให้มากยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่เลื่อนคันเกียร์เพื่อเดินหน้าหรือถอยหลัง ต้องดูให้แน่ใจว่าเลื่อนเกียร์ไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ และเหยียบเบรกก่อนเลื่อนคันเกียร์ทุกครั้งเสมอ ควรฝึกทำให้เป็นนิสัย จะช่วยทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

8. คิกดาวน์เพื่อแซง ควรคำนึงด้วยว่าเกียร์จะไม่ตอบสนองทันทีหากคุณไม่ได้ขับรถสปอร์ตเกียร์ทวินคลัตช์แรงม้าท่วม สำหรับรถยนต์ทั่วไปที่มีเรี่ยวแรง 150-180 แรงม้า การคิกดาวน์เพื่อแซงจะมีการหน่วงระยะเวลาแป๊บนึง ควรกะระยะหรือกะจังหวะของการแซงให้พอดี และขึ้นตรงกับความปลอดภัยเป็นหลัก การเร่งแซงที่ผิดจังหวะผิดระยะนำมาซึ่งอุบัติเหตุรุนแรงถึงชีวิต การลดคันเกียร์ออโต้ด้วยมือ หรือใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์ เพื่อลดตำแหน่งเกียร์ในการแซงแบบรถเกียร์ธรรมดา ไม่ควรลดตำแหน่งเกียร์ในขณะที่อยู่ในรอบเครื่องยนต์สูงมากจนเกินไป.