การปรับตั้งศูนย์ล้อคือการปรับทางเรขาคณิตซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ รถแต่ละคันมีความแตกต่างกันทั้งระบบขับเคลื่อน ขนาด น้ำหนัก ส่วนสูงและรูปแบบของช่วงล่าง ทำให้แต่ละคันแต่ละค่ายมีปฏิกิริยาตอบสนองการปรับตั้งแตกต่างกันออกไป รวมถึงการปรับตั้งตามใจต้องการของเจ้าของรถ ที่มีทั้งเตี้ยลากพื้น อมซุ้มกำลังพอดีหรือแค่ปรับให้ช่วงล่างตอบสนองต่อการซับแรงสะเทือนและยึดเกาะกับถนนได้ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญก็คือ คุณต้องเข้าใจพื้นฐานการทำงานของระบบรองรับ สภาพผิวถนนในประเทศไทยที่คุณต้องขับผ่านทุกวัน หรือแม้แต่การปรับตั้งเพื่อทำให้เวลาต่อรอบในสนามแข่ง ลดลง! 

...

บริษัทรถยนต์ เสียเงิน เวลา และทรัพยากรมากมาย เพื่อคำนวนหาความสมดุลสูงสุดของมุมล้อเพื่อทำให้การปรับตั้งมีความเหมาะสมกับสมรรถนะการทรงตัวของรถยนต์รุ่นนั้นๆ นอกจากจะทำให้รถเกิดเสถียรภาพ ค่าการสึกหรอของยางที่รับได้ การปรับแต่งช่วงล่างให้ดีที่สุดเพื่อคงสมรรถนะสูงสุดทั้ง เร่ง เลี้ยว และเบรก การจะปรับตั้งศูนย์ล้อหรือปรับแต่งให้ช่วงล่างเกาะถนนมากขึ้นนอกจาการรับตั้งมุมต่างๆ ของล้อแล้ว ยางรถก็ถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การปรับตั้งมาจากโรงงานรองรับความต้องการของลูกค้าในวงกว้าง แต่ก็ยังมีนักเลงรถอีกไม่น้อยที่ยังไม่พอใจการเซตอัปช่วงล่างเดิมๆ คุณอาจต้องทำใจ เมื่อปรับตั้งมุมต่างๆ จนทำให้เข้าโค้งได้เร็วขึ้นแต่ทางตรงกลับวิ่งไม่ค่อยดี เมื่อปรับจนรถมีการเข้าโค้งดีขึ้น ประสิทธิภาพการทรงตัวทางตรงก็จะด้อยลง การปรับตั้งมุมต่างๆ ของล้อเป็นขั้นตอนที่วุ่นวายยุ่งยากและใช้เวลากว่าจะปรับให้ลงตัว เมื่อปรับจนจุดหนึ่งดีแล้วแต่อีกจุดดันด้อยลง แต่ถ้าปรับตั้งแล้วทำให้รถวิ่งเกาะถนนได้ดีขึ้นก็ถือว่าคุ้มสำหรับคนที่ชอบขับเร็ว 

CAMBER
มุมแคมเบอร์ หมายถึง มุมของล้อที่เอียงออกจากแนวดิ่งหรือแนวตั้งฉากกับพื้นถนน 0 คือตำแหน่งที่ล้อตั้งฉากกับพื้น ส่วนมุมแคมเบอร์ที่ตั้งเป็น + หมายถึงจุดสูงสุดของล้อทำมุมผายออกจากตัวรถ สำหรับมุมแคมเบอร์ที่เป็น - (ลบ) หมายถึงส่วนบนสุดของล้อทำมุมหุบเข้าด้านใน แคมเบอร์เป็น + ไม่มีประโยชน์อะไรต่อการยึดเกาะ ส่วนแคมเบอร์ที่เป็น - จะช่วยให้ยางล้อฝั่งด้านนอกสัมผัสกับผิวถนนหรือแทร็กได้อย่างเต็มที่ เมื่อขับเข้าโค้งยางล้อฝั่งนอกจะเกิดอาการบิดตัวหรือเสียรูปดันดอกยางเข้าหาตัวรถขณะที่ไหล่ยางฝั่งนอกจะเบียดเข้าหาถนน มุมแคมเบอร์ที่เป็นลบจะช่วยแก้อาการด้วยการปรับมุมยางฝั่งนอก เพื่อทำให้ดอกยางสัมผัสกับพื้นถนนเป็นระนาบเดียวกันมากที่สุด

...

มุมแคมเบอร์ลบ ทำให้ยางสึกหรอที่ขอบในด้านบนของยางฝั่งใน ลดแรงฉุดลากหรือแรงเร่งเมื่อขับทางตรง ลดสมรรถนะทั้งการเร่งและการเบรก เนื่องจากเราไม่ได้ขับเข้าโค้งตลอดเวลา นอกจากจะเซตในสนามแข่งที่อุดมไปด้วยโค้ง ข้อดีของแคมเบอร์ลบก็คือเข้าโค้ง และต้องปรับไม่เยอะถึงจะช่วยได้ ช่วงล่างแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท ซึ่งมีจังหวะในการเคลื่อนตัวสูงสุดมุมแคมเบอร์แทบจะไม่ขยับ สามารถรองรับการปรับมุมแคมเบอร์ที่เป็นลบได้ ส่วนช่วงล่างแบบดับเบิลวิชโบนปีกนกคู่ และมัลติลิงก์ จังหวะกดหน่วงจะเกิดมุมแคมเบอร์ที่เป็นลบสูงกว่า การปรับมุมแคมเบอร์เป็นลบในระบบรองรับดังกล่าวส่งผลลัพธ์น้อยกว่าแบบอื่น

...

CASTER
มุมคาสเตอร์ Caster ช่วยทำให้ล้อหน้ากลับคืนสู่ตำแหน่งตั้งตรงหลังการเลี้ยว เพื่อทำให้รถมีเสถียรภาพขณะขับขี่ การคำนวนหามุมแคสเตอร์ ทำโดยการลากเส้นแนวดิ่งตัดผ่านล้อและตัดแบ่งด้วยเส้นแนวแทนคอ ซึ่งหมุนตามพวงมาลัยลากผ่านแกนกลางส่วนบนของลูกหมากดุมล้อไปจนถึงแกนของลูกหมากส่วนล่าง มุมระหว่างเส้นทั้งสองคือมุมคาสเตอร์ ส่วนบนของเส้นแนวแกนคอจะเบนไปทางด้านหลัง ส่วนล่างจะทิ่มลงพื้นเลยหน้าสัมผัสยางไปเล็กน้อย ขณะหมุนพวงมาลัยเพื่อเลี้ยว มุมคาสเตอร์จะปรับให้มุมแคมเบอร์ของล้อฝั่งนอกเป็นลบ เรียกว่า Dynamic Camber และเนื่องจาก Dynamic Camber ไม่มีผลต่อแรงฉุดลากทางตรง การเพิ่มมุมคาสเตอร์ให้เป็นบวกจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เว้นแต่จะต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยมากขึ้น ในกรณีดังกล่าว พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับรถยนต์ยุคใหม่ในปัจจุบัน 

...

มุม Toe-in
คือระยะหน้ายางเอียงเข้าหากัน ตามทิศทางหน้ารถ (เมื่อมองจากด้านบน ลงสู่พื้นถนน) โทอิน จะมีค่าเป็นบวก เมื่อระยะห่างของยางด้านหน้า น้อยกว่าระยะห่างของยางด้านหลัง และโทอิน จะมีค่าเป็นลบ เมื่อระยะห่างของยางด้านหน้ามากกว่าระยะห่างของยางด้านหลังโทอินจะทำไม่ให้ล้อสั่น จากความต้านทางกลิ้ง ลดระยะหลวมของลูกหมากคันส่ง และทำให้ล้อรถ เคลื่อนที่ขนานไปอย่างคงที่

มุม Toe-out
คือผลต่างของมุมเลี้ยวล้อหน้า ที่อยู่ด้านนอกวงเลี้ยว และด้านในวงเลี้ยว หรือรัศมีการเลี้ยวนั่นเอง มุมโทเอาต์ จะทำให้ล้อหมุนเลี้ยวได้อย่างราบรื่น ทำให้จุดศูนย์กลางการหมุนเลี้ยว แต่ละล้อร่วมกัน ป้องกันการสึกหรอของยาง และอาการเสียงดังขณะเลี้ยวได้ระดับหนึ่ง

หากช่วงล่างปรับตั้งมุมโท-อิน มากกว่าปรกติ ไหล่ยางด้านนอกจะสึกไม่เรียบและสึกเร็วกว่าปรกติ

ในทางตรงกันข้าม หากรถมีการปรับตั้งให้มุมโท-เอาต์มากเกินไป ไหล่ยางด้านในจะสึกไม่เรียบและสึกเร็วกว่าปกติ

การปรับตั้งช่วงล่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกับการทรงตัว การเลี้ยว หรือการเบรก และความรู้สึกของพวงมาลัย ควรให้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญทำการปรับตั้งด้วยเครื่องมือเฉพาะ ค่าเดิมๆ จากโรงงานอาจเหมาะสมกับการขับปกติ แต่ถ้าต้องการการยึดเกาะหรือการเข้าโค้งที่เฉียบคมมากยิ่งขึ้น ก็ต้องลงมือลงแรงและลงเงินกันมากพอสมควร ทำช่วงล่างไปแล้วก็ต้องทำเบรกให้ดีขึ้นด้วย ช่วงล่างแบบเดิมในรถยนต์บางรุ่นโดยเฉพาะรถเยอรมันสำหรับบางคนอาจคิดว่านุ่มไป แต่บางคนกลับคิดว่าพอดิบพอดีที่สุดแล้วการปรับตั้งช่วงล่างจึงขึ้นอยู่กับความรู้สึกและความชอบของนักขับแต่ละท่าน หรือไม่ปรับตั้งเลยแล้วขับใช้งานแบบเดิมๆ ก็มีอยู่เยอะมาก ช่วงล่างแบบนุ่มหนึบนั้นเซตยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนช่วงล่างที่ให้ค่าการยึดเกาะระดับเดียวกับรถแข่ง รับรองว่าภรรยาหรือแม่ยายขึ้นมานั่ง มีหวังด่าเปิงครับ.