เบรก (Brake) เป็นอุปกรณ์สำคัญในลำดับต้นๆ ของการใช้รถ เบรกทำหน้าที่ชะลอความเร็วของรถ หรือทำให้รถหยุด ตามความต้องการของผู้ขับ รถยนต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ใช้การถ่ายทอดแรงเหยียบ ที่แป้นเบรก ไปถึงตัวอุปกรณ์หยุดล้อ ด้วยระบบไฮดรอลิก (Hydraulic) ในขณะที่เหยียบเบรกลงที่แป้นเบรก แรงเหยียบนี้ จะถูกส่งไปที่แม่ปั๊มน้ำมันเบรก (Master Cylinder) เพื่อทำหน้าที่อัดแรงดันน้ำมันเบรก ออกไปตามท่อน้ำมันเบรก ผ่านวาล์วแยก ส่วนน้ำมันเบรก ไปจนถึงตัวเบรก ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณดุมล้อ และที่ตัวเบรก ก็จะมีลูกปั๊มน้ำมันเบรก เมื่อได้รับแรงดันมา ลูกปั๊มน้ำมันเบรกจะดันให้ผ้าเบรก ไปเสียดทานกับชุดจานเบรกที่อยู่ใกล้ กับจานดิสก์เบรก หรือ ดรัมเบรก เมื่อเกิดความฝืดขึ้น ล้อก็เริ่มหมุนช้าลง เมื่อเพิ่มน้ำหนักเหยียบเบรกเข้าไปอีก แรงดันน้ำมันเบรกเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีความฝืดที่ล้อเพิ่มขึ้น รถก็จะชะลอความเร็วลงจนหยุดในที่สุด

ดิสก์เบรก (Disc Brake)
ชุดดิสก์เบรก ประกอบด้วย แผ่นจานดิสก์ ติดตั้งลงบนแกนเพลาล้อ เมื่อรถเคลื่อนที่ แผ่นจานดิสก์ จะหมุนไปพร้อมล้อ จากนั้นจะมีอุปกรณ์ที่เราเรียกว่า คาลิปเปอร์ (Caliper) ที่เรียกกันทั่วไปว่า "ก้ามปูเบรก" สำหรับตัวคาลิปเปอร์ จะติดตั้งโดย ครอบลงไปบนจานดิสก์ (ไม่หมุนไปพร้อมล้อ) ภายในคาลิปเปอร์ มีการติดตั้งผ้าเบรกประกอบอยู่ทางด้านซ้าย และขวาของจานดิสก์ และจะมีลูกปั๊มน้ำมันเบรกติดตั้งอยู่ด้วย ซึ่งท่อน้ำมันเบรก ก็จะติดตั้งเชื่อมต่อกับลูกปั๊มเบรกนี้ เมื่อใดที่มีการเหยียบเบรก ลูกปั๊มเบรก ก็จะดันให้ผ้าเบรก เลื่อนเข้าไปเสียดทาน กับแผ่นจานดิสก์ เพื่อให้เกิดความฝืด
...

ดรัมเบรก (Drum Brake)
ในชุดเบรกแบบดรัมซึ่งมักติดตั้งอยู่ในรถยนต์ราคาไม่แพง โดยทั่วไปดรัมเบรกจะใช้ติดตั้งที่ล้อหลัง ประกอบด้วยตัวดรัม (Drum) เป็นโลหะวงกลมยึดติดกับดุมล้อ หมุนไปพร้อมล้อ และชุดฝักเบรก ซึ่งประกอบด้วยผ้าเบรก กลไกปรับตั้งเบรก สปริงดึงกลับ และลูกสูบปั๊มเบรก ซึ่งสายน้ำมันเบรก ก็จะมาเชื่อมต่อกับตัวลูกสูบในการดันผ้าเบรกให้ไปเสียดทานกับดรัมเพื่อให้เกิดความฝืดสำหรับชะลอความเร็วรถ ดรัมเบรก เป็นอุปกรณ์เบรกมาตรฐาน สำหรับรถยนต์ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีราคาไม่แพงและมีกำลังไม่มากนัก ปัจจุบัน รถยนต์ที่ติดตั้งดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ หรือระบบดิสก์เบรกสำหรับล้อคู่หน้า และดรัมเบรกสำหรับล้อคู่หลัง การจะใช้ระบบเบรกแบบดิสก์หรือดรัมเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบเบรกของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรุ่นที่มีขนาดของตัวถัง น้ำหนักรถและย่านของกำลังแรงม้าและแรงบิด ลักษณะของการวางเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน (ขับเคลื่อนล้อหน้าหรือล้อหลัง) เป็นตัวกำหนด

เบรกแล้วเกิดอาการสั่นที่พวงมาลัย
พวงมาลัยเกิดอาการสั่นสะท้านเมื่อกดเบรก เกิดจากจานเบรกสึกหรออย่างหนักและมีผิวสัมผัสที่ไม่มีความสม่ำเสมอ หรือจานเบรกคดงอเสียหายสิ้นสภาพที่จะใช้งานได้ต่อไป จานเบรกเสียความสมดุลหรือจานเบรกคดบิดโก่ง หนาบางไม่เท่ากัน ผิดรูปไม่ขนานตอนแนวแกน เมื่อจานส่วนที่ไม่เรียบ ไม่ว่าจะนูนหรือยุบลงไปวิ่งผ่านผ้าเบรกซึ่งถูกลูกสูบกดไว้ หากเจอผิวหน้าจานเบรกที่นูน ผ้าเบรกก็จะถูกผลักออกมาและส่งผลมาตามระบบแรงดันน้ำมันเบรก ซึ่งก็จะไปบรรจบเอาที่แป้นเบรกรถยนต์ของผู้ขับขี่ แต่ถ้าเจอหน้าสัมผัสจากเบรกในส่วนที่ยุบหรือบุ๋มลงไป ลูกสูบก็จะดันออกไปได้มากกว่าเดิมนิดนึง ซึ่งมีผลทำให้ระยะแป้นเบรกก็จะตกลงมาหน่อย

จานเบรกสึกหรอเกิดจากการใช้เบรกอย่างหนักหน่วงยาวนานแล้วขาดการบำรุงดูแลรักษาเปลี่ยนจานใหม่ ส่วนจานเบรกคดงอนั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้งานหนักแล้วเกิดความร้อนสะสมจนอุณหภูมิของจานร้อนจัดแล้ววิ่งผ่านน้ำท่วมขังหรือวิ่งมาร้อนๆ แล้วนำรถไปล้างฉีดน้ำไปยังจานเบรกที่กำลังร้อนรุ่มกลุ้มอุรา จานเบรกที่ทำจากโลหะเหล็กเมื่อเจอเข้ากับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันทันทีทำให้เกิดอาการเบี้ยวคดได้ พอเบรกปุ๊บพวงมาลัยที่เป็นตัวรับแกนซึ่งเต็มไปด้วยจุดยึดโยงกับช่วงล่างที่ต่อตรงมาจากจานเบรกและโช้คอัพจึงสั่นสะท้าน
...

อาการเบรกแล้วพวงมาลัยสั่นแก้ได้ด้วยการถอดจานเบรกออกมาเจียผิว หรือเจียประชิดติดกับรถโดยตรง หรือหากคดงอมากๆ ก็เปลี่ยนจานใหม่ไปเลยจะดีกว่า ขณะเหยียบเบรกในย่านความเร็วสูงมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป เจียจานดิสก์เบรกหรือเปลี่ยนจานใหม่ อาการสั่นของพวงมาลัยหายไปสักระยะแล้วกลับมาสั่นเหมือนเดิม ควรตรวจสอบการแกว่งตัวและระยะรุนของตลับลูกปืนล้อหรือชุดเสื้อดุมล้อ ด้วยชุดไดแอลเกจ หากพบว่ามีการแกว่งตัวและระยะรุนเกินค่ากำหนดให้ขันปรับหรือเปลี่ยนตลับลูกปืนล้อหรือชุดเสื้อดุมล้อใหม่ไปเลย

...
เบรกแตก
เป็นอาการที่อันตรายสุดๆ หากห้อมาเต็มเหนี่ยว เบรกแตกเกิดจากน้ำมันเบรกรั่วออกจากระบบจนหมด ชิ้นส่วนของระบบเบรกหลวมคลอน ลูกยางแม่ปั๊มเบรกและตัวแม่ปั๊มเสียหายจนทำให้น้ำมันเบรกรั่วออกจากระบบจนหมด หมั่นเปิดฝากระโปรงหาตำแหน่งของกระปุกน้ำมันเบรกซึ่งมีอยู่ในคู่มือประจำรถ (ยอมรับเถอะว่าคุณไม่เคยแม้แต่จะเปิดมันเพื่ออ่านทำความเข้าใจในการใช้งาน) ตรวจสอบระดับของน้ำมันเบรกให้อยู่ในตำแหน่งที่กำหนด และตรวจสอบชิ้นส่วนของระบบเบรกด้วยการพึ่งพาอู่ซ่อมเบรกที่มีฝีมือและไม่ฟันลูกค้าโดยใช่เหตุ ปัจจุบันน้ำมันเบรกได้มีมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลโลก ส่วนมากจะมีมาตรฐาน “DOT” หรือ Department of Transportation ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักของสหรัฐอเมริกา โดยมาตรฐาน DOT เป็นการบ่งบอกถึงการจุดเดือดของน้ำมันเบรก ยิ่งน้ำมันเบรกมีจุดเดือดสูงมาก ก็จะเป็นผลดีเพราะสามารถทนอุณหภูมิได้มากกว่า แต่หากน้ำมันเบรกมีจุดเดือดต่ำก็จะทำให้น้ำมันเบรกร้อนเร็วและทำให้สภาวะของเหลวกลายเป็นไอ ซึ่งเมื่อน้ำมันเบรกกลายเป็นไอหรือฟองไอน้ำมันเบรก ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการส่งถ่ายแรงดันน้อยลงเพราะช่องว่างซึ่งเป็นฟองไอน้ำมันเบรกสามารถถูกบีบตัวได้มากกว่าของเหลว รวมถึงการนำพาความร้อนจากชุดเบรกก็จะด้อยลงด้วย เป็นผลทำให้ชุดเบรกและระบบเบรกเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากความร้อนสะสมในระบบสูงเกินไป ควรใช้น้ำมันเบรกที่มี DOT ตรงตามค่าโรงงานที่กำหนดไว้ เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระบุให้ใช้น้ำมันเบรกมาตรฐาน DOT 3 ก็ควรใช้น้ำมันเบรกมาตรฐาน DOT 3 เติมลงไปในระบบเท่านั้น ไม่ควรใช้ DOT อื่นๆ เพราะจะทำให้มีผลต่อลูกยางไฮโดรลิคภายใน รวมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในระบบเบรกอีกด้วย

...
เบรกแข็ง
เบรกแล้วเกิดอาการแข็งๆ แป้นเบรกกดแทบไม่ลง ไม่ค่อยจะนิ่มนวลเหมือนกับตอนปกติ เป็นอาการของหม้อลมเบรกเกิดการรั่วซึม ชุดผ้าใบภายในหรือวาล์ว PVC หรือ Combo Valve เสียหาย ทำให้แรงดันสุญญากาศในหม้อลมเบรกลดลง

เบรกแล้วดัง
กดแป้นเบรกแล้วมีเสียงเหมือนหมูนับสิบตัวถูกทำร้าย เสียงเสียดสีดังสนั่นหวั่นโลกจนชาวบ้านร้านตลาดพากันหันมามอง เกิดจากผ้าเบรกหมดหรือมีฝุ่นเศษหินเข้าไปติดขัดระหว่างจานเบรก อาการนี้เคยพบกับตัวเองตอนไปทดสอบ BMW M3/M4 ที่ฟาโร โปรตุเกส จานเบรกคาร์บอนเซรามิกราคาแพงลิบของรถ M3 มีหินเข้าไปขัดอยู่ระหว่างจานกับแผ่นโลหะระบายความร้อน เมื่อกดเบรกก็เลยมีเสียงเสียดสีดังสนั่นจนต้องวกรถกลับมาจอดให้เจ้าหน้าที่ของ BMW เอาหินเจ้ากรรมออก

เบรกจม
เบรกแล้วแป้นจมยวบลงไปแต่พลังในการหยุดยั้งกลับห่วยแตกจนเกือบวิ่งไปอัดร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีผู้คนนั่งกินกันอยู่บานตะไท เกิดจากลูกยางแม่ปั๊มเบรกตัวบนสึกหรอ รีบนำไปเข้าศูนย์หรืออู่ใกล้บ้านโดยด่วนที่สุดเพราะอาการต่อไปคือเบรกแตกครับ สำหรับอาการเบรกแตก คืออาการที่เมื่อกดแป้นเบรกแล้วเบรกไม่อยู่ ไม่สามารถชะลอความเร็วด้วยการเบรกได้ หรือเบรกไม่ตอบสนอง ต้นตอของปัญหาเบรกแตกนั้นเกิดได้ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเรื่องของระบบแรงดันน้ำมันเบรก เส้นทางเดินของน้ำมันเบรก ลูกสูบเบรกติดขัด ผ้าเบรกไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้อีกต่อไป.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/