เรื่องที่น่าหงุดหงิดในช่วงอากาศร้อนจัดก็คือ รถที่คุณขับอยู่ดีๆ ก็เกิดอาการโอเวอร์ฮีต หรืออาการเครื่องยนต์ร้อนจัด เข็มความร้อนกวาดขึ้นไปจนถึงขีดแดง ตามด้วยอาการเครื่องน็อก หรือดับไปดื้อๆ สตาร์ตเท่าไรก็ไม่ติด หรือรอจนเย็นแล้วเติมน้ำ สตาร์ตเครื่องได้เดี๋ยวเดียวก็กลับมาร้อนอีกอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่รถเก่าอายุการใช้งานเยอะ จะเป็นโรคไข้ตัวร้อน รถใหม่ป้ายแดง บางทีหากระบบระบายความร้อนเกิดปัญหาขึ้นมาก็จอดไม่ต้องแจวได้เหมือนกัน ในรถยนต์ยุคใหม่มักไม่ใส่เกตวัดความร้อนมาให้ ใช้งานกันเพลินด้วยความวางใจในรถใหม่ป้ายแดง ลืมดูระดับน้ำในหม้อน้ำ รู้ตัวอีกที หน้าจอก็เตือนเรื่องความร้อนของเครื่องยนต์ พาลจะพังกันไปยกใหญ่ เพราะน้ำแห้ง เครื่องยนต์ร้อนจัดควันโขมง น้ำเดือดพล่าน จอดยาวไม่ต้องไปต่อกันเลยทีเดียว


...
ขับอยู่ดีๆ เข็มความร้อนขยับอย่างเร็ว อุณหภูมิเครื่องยนต์เกินเกณฑ์ปกติที่ระดับ 90 องศาเซลเซียส แล้วทะลุไปถึง 100 ในหม้อน้ำระบบปิดที่มีแรงดันสูง น้ำเดือดร้อนจัดจะพุ่งสวนออกมาที่ฝาหม้อน้ำ หรือตามข้อต่อท่อยางของระบบระบายความร้อน อาการไข้ตัวร้อนขึ้นจนเครื่องยนต์หยุดทำงาน ไปต่อไม่ได้ สตาร์ตยังไงก็ไม่ติด
เครื่องยนต์ร้อนจัดเกิดจาก

น้ำในหม้อน้ำ
ระดับน้ำในหม้อน้ำต่ำเกินไปกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หม้อน้ำรั่ว หรือท่อยางกรอบแตก ควรตรวจระดับน้ำในหม้อน้ำทุก 3-4 วัน ต่อครั้ง หรืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เปิดดูฝาหม้อน้ำ และสังเกตดูว่าน้ำในหม้อพัก น้ำลดระดับลงหรือไม่ เมื่อเห็นว่าระดับน้ำในหม้อน้ำลดลงแต่ไม่มาก ก็เติมน้ำยาหม้อหล่อเย็นผสมน้ำลงไปที่หม้อพักน้ำตามขีดสูงสุดที่กำหนดไว้ หากน้ำหายมากเกินไป ควรให้ช่างหาสาเหตุที่น้ำในหม้อพักน้ำขาด เพื่อทำการแก้ไข

สายพานปั๊มน้ำ
สายพานที่คล้องอยู่กับพูเลย์ปั๊มน้ำ เมื่อหย่อน ขาด หรือเกิดอาการลื่น เนื่องจากใช้งานมานาน ทำให้ปั๊มน้ำหยุดทำงานไปด้วย เมื่อปั๊มน้ำหยุดทำงาน ทำให้การหมุนวนน้ำเพื่อระบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์หยุดไปด้วย เครื่องยนต์จึงเกิดอาการร้อนจัด

พัดลมไฟฟ้า
พัดลมไม่ทำงาน ใบพัดลมแตกหักเสียหาย หรือทำงานแต่หมุนเอื่อยๆ เหมือนคนใกล้ตาย ทำให้แรงลมไม่พอที่จะเป่าหม้อน้ำเพื่อระบายความร้อน พัดลมจู่ๆ ก็หยุดทำงาน ลองเปิดดูที่ฟิวส์ควบคุมพัดลมอาจแค่ฟิวส์ขาดก็ได้ หรือถ้าพัดลมไฟฟ้าพังก็ทำให้เครื่องร้อนจัดได้เช่นเดียวกัน

...
สนิมในระบบระบายความร้อน
สนิมหรือตะกรันอาจจับตัวเกาะอุดตันได้ในระบบระบายความร้อน ที่มีทั้งท่อทางเดินของระบบระบายความร้อนที่ทำจากอะลูมิเนียมหรือเหล็ก สนิมอาจเกาะในท่อน้ำหรือในหม้อน้ำ สนิมจับทางระบายน้ำในเสื้อสูบ ปั๊มน้ำใช้งานมานานจนเกิดตะกรันหรือเป็นสนิม ใบพัดปั๊มน้ำแตกเสียหายอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์

ระบบระบายความร้อนแบบปิด
ระบบระบายความร้อนแบบปิด หากเกิดความผิดพลาดในระบบ ความร้อนจะขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว อาจมีอากาศรั่วซึมเข้าไปในระบบระบายความร้อนในหม้อน้ำ ทำให้การระบายไหลเวียนของน้ำในหม้อน้ำไม่ดีพอ

...
เทอร์โมสตัท
สวิตช์ควบคุมการเปิดปิดของวาล์วน้ำในระบบระบายน้ำร้อน ไม่ทำงาน หรือเทอร์โมสตัทเสีย ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัดอย่างรวดเร็ว วาล์วน้ำไม่ทำงาน ระบบน้ำหล่อเย็นไม่หมุนวนเพื่อลดอุณหภูมิการทำงานของเครื่องยนต์ ทำให้อุณหภูมิเครื่องยนต์สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนโอเวอร์ฮีต

ฝาปิดหม้อน้ำ
ฝาปิดหม้อน้ำเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานภายใต้แรงดัน และอุณหภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา หากฝาหม้อน้ำชำรุดเสียหาย หรือเกิดสนิม จะทำให้ระบบที่สร้างสุญญากาศในหม้อน้ำไม่ทำงาน น้ำไม่ไหลวนในระบบ จนทำให้ความร้อนขึ้นสูงถึงอุณหภูมิน้ำเดือด

...
ปะเก็นฝาสูบ
ปะเก็นฝาสูบที่สมบูรณ์ ช่วยทำให้กำลังอัดดีขึ้น หากปะเก็นฝาสูบรั่ว นอกจากกำลังอัดจะตกแล้ว ยังทำให้น้ำในหม้อน้ำไหลเข้ากระบอกสูบอีกด้วย คราวนี้พังกันยาว

น้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่อง ช่วยทำให้ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ของเครื่องยนต์ทำงานเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก และช่วยลดอุณหภูมิการทำงานของเครื่องยนต์ เมื่อน้ำมันหล่อลื่นต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด น้ำมันเครื่องรั่วหยดจนเหลือไม่เพียงพอต่อการหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ทำให้การระบายความร้อนทำงานไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถระบายได้ดี เกิดปัญหาที่เพลาข้อเหวี่ยง ทำให้เกิดความร้อนสะสม ตามมาด้วยอาการชาร์ปละลายติดกับเพลาข้อเหวี่ยง

ปัญหาเครื่องยนต์ร้อนจัดที่เกิดจากน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำไม่พอ น้ำแห้ง ทำให้เกิดความร้อนสูงถึงขีดสุดจนฝาเสื้อสูบโก่งตัว แตก เสื้อสูบแตกเสียหาย เครื่องพังต้องยกเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือยกเครื่องใหม่กันวุ่นวาย ปัญหาเครื่องยนต์ร้อนจัดที่เกิดจากน้ำมันเครื่องขาด ทำให้ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ภายในเครื่องยนต์ร้อนจัด ตามด้วยอาการโหดๆ เช่น ปะเก็นละลายติดกับเหล็กเพลาข้อเหวี่ยง หรือลูกสูบติดกับเสื้อสูบ เพลาลูกเบี้ยวติดขัดจอดไม่ต้องแจว.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/