อาการลื่นไถลควบคุมรถไม่ได้ เป็นอาการที่มีอัตราเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมา และเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ของนักขับทุกคน อาการลื่นไถลมักเกิดขึ้นจากตัวแปร องค์ประกอบและสาเหตุต่างๆ

ตัวแปรที่ทำให้รถของคุณเกิดอาการลื่นไถลควบคุมทิศทางไม่ได้ก็คือ
1-ความเร็วที่ใช้
2-สภาพของถนน
3-สภาพอากาศในขณะขับรถ
4-สภาพของยาง
5-ทัศนวิสัยในการมองเห็น
6-ฝีมือของผู้ขับ
ขับรถเร็วเกินไปบนถนนที่เปียกลื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเร็วที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ส่วนการแก้ไขต้องดูที่สาเหตุเป็นหลัก การลื่นไถลทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เป็นประสบการณ์ที่นักขับทุกคนเมื่อได้ประสบพบกับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่อยากจะจำหรือทำให้เกิดขึ้นอีก อาการลื่นไถลสามารถเกิดได้ตลอดเวลาจากการผสมผสานกันของแรงด้านต่างๆโดยประกอบเข้ากับพฤติกรรมการขับที่ผิดปกติของคนขับเอง เช่น
...

1-ออกตัวจากจุดหยุดนิ่งอย่างรวดเร็วและรุนแรง
2-การใช้เบรกกระทันหันหรือกระทืบเบรกแบบฉุกเฉินขณะที่ใช้ความเร็วสูง
3-ขับรถด้วยความเร็วสูงบนผิวถนนที่เปียกลื่น
4-หักพวงมาลัยอย่างรุนแรงขณะขับด้วยความเร็วสูง
5-การเบรกแรงๆในโค้งหรือใช้เบรกขณะตีวงเลี้ยว
6-เบรกและหักพวงมาลัยไปพร้อมๆกัน
7-เหยียบคลัตช์ขณะขับเข้าโค้งหรือเลี้ยวมุมแคบ
สาเหตุของการลื่นไถลหรืออาการหมุน
มีน้ำปกคลุมผิวถนน
ใช้ความเร็วสูงไม่สอดคล้องกับสภาพผิวถนน
ใช้ความเร็วสูงแล้วหักพวงมาลัย
เหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงในทันทีทันใด
เบรกอย่างรุนแรงหรือเบรกกะทันหัน

ยางคือชีวิต
ประสิทธิภาพการยึดเกาะของยางเป็นสิ่งสำคัญตราบใดที่ความฝืดของยางกับผิวถนนยังมีประสิทธิภาพดีอยู่ หมายความว่ายังมีแรงยึดเกาะของรถดีอยู่ บนถนนสภาพดีและแห้ง ยางยังคงอยู่ในสภาพใช้งาน การยึดเกาะกับถนนหรือความฝืดก็จะมีมาก เมื่อแรงยึดเกาะดี การควบคุมรถยนต์ก็จะดีตามไปด้วย สิ่งที่จะมาทำลายการยึดเกาะของยางกับผิวถนนมีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การใช้ความเร็วและการเบรก สภาพของรถและยาง การหมุนพวงมาลัย และสภาพของถนน พื้นฐานดังกล่าวนักขับควรเข้าใจองค์ประกอบขั้นพื้นฐานและควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้

...
สภาพของรถและยางที่ใช้
ยางที่หมดอายุการใช้งานจะแข็งและไม่มีแรงจิกเมื่อเบรก มีอาการลื่นไถลเมื่อเจอเข้ากับถนนลื่นๆ ลมยางที่ไม่เท่ากันทุกล้อก็อาจเป็นสาเหตุได้ รวมถึงดอกยางที่หมดจนกลายเป็นยางหัวโล้นไม่มีดอก ควรใส่ใจตรวจดูยางรวมถึงการบรรทุกของหนัก

เบรกเน่าเอาไม่อยู่
ระบบเบรกจับเท่ากันหรือไม่เมื่อใช้เบรก ผ้าเบรกยังมีเหลือพอหรือไม่สำหรับการใช้งานปกติ ระบบช่วยเบรกต่างๆรวมถึงระบบรักษาเสถียรภาพของรถจะช่วยคุณได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากความเร็วที่ใช้สูงเกินไป ระบบอะไรก็เอาไม่อยู่ พวงมาลัยที่ฟรีมากไปจากอายุการใช้งานทำให้ขาดความแม่นยำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญขณะขับรถ ช่วงล่างที่ถูกปล่อยปะละเลยมานาน เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการลื่นไถล ลักษณะของรถแต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกัน อาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้คุณไปสู่อาการที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

...
ยางกับผิวถนนในขณะนั้น
แม้จะขับบนถนนแห้งด้วยยางใหม่เอี่ยม การยึดจับของยางกับผิวถนนจะลดลงทันทีเมื่อเริ่มขับเร็วขึ้น ยิ่งเร็วมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น ยิ่งฝนตกถนนลื่นมีน้ำฉาบอยู่บนผิวของถนนจะยิ่งทำให้ลื่นได้ง่ายมากแม้จะใส่ยางฝนหากห้อมาเต็มสูบโอกาสที่จะเกิดอาการลื่นไถลก็จะยิ่งสูงมากกว่าการขับช้าลง

การแก้ไขอาการลื่นไถล
การแก้ไขเมื่อเกิดอาการลื่นไถลนั้นยากเย็นเหมือนลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเป็นยุงตีกัน แม้แต่นักแข่งมือเก๋ามือเทพก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด แทบจะทุกคนที่เป็นครูฝึกสอนการควบคุมรถยนต์จะแนะนำว่าไม่ควรทำให้เกิดอาการลื่นไถลแล้วมาตามแก้ ควรป้องกันอาการนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ทำให้อาการลื่นไถลเกิดขึ้นด้วยการขับให้ช้าลง หรือใช้ความเร็วตามที่กฏหมายกำหนดก็จะข่วยลดอาการลื่นไถลลงไปได้มาก ความเร็วคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดอาการลื่นไถลเสียหลัก หากใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตรงหน้า รู้ว่าฝนตกถนนลื่นก็ควรลดความเร็วลงมา ขับแบบไปเรื่อยๆ ทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้า ไม่ขับแบบรีบร้อนเปลี่ยนช่องทางเร็วๆ หรือขับเร็วอย่างต่อเนื่องบนผิวถนนที่เปียกชื้น แค่นี้คุณก็จะอยู่ไกลจากอาการลื่นไถลแล้วครับ
...

ใช้เบรกเมื่อเสียหลัก
เมื่อขับเร็วจนรถเสียหลักหมุนหรือแถให้ลดความเร็วลงทันที หรือใช้เบรกเต็มกำลัง การพยายามควบคุมทิศทางรถด้วยการประคองพวงมาลัย (อย่างนิ่มนวลตามตำราบอก) พูดง่ายแต่ทำยากมากในการพยายามให้ทิศทางของรถกลับมาอยู่กับร่องกับรอย คุณมีเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีซึ่งเป็นเวลาที่น้อยมากในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เมื่อรถเริ่มต้นสูญเสียแรงยึดเกาะ อย่างที่บอกว่าแม้แต่มือขั้นเทพยังไม่อยากเจอกับท่ายากแบบนี้นอกจากจะเป็นนักแข่งแบบดริฟ สำหรับมือใหม่ เมื่อรถที่คุณขับเสียหลักอย่างรุนแรง ให้ถอนเท้าออกจากคันเร่ง จับพวงมาลัยให้มั่นคง แล้วเบรกเต็มแรงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่ารถจะเป๋ปัดไปทางไหนก็เบรกให้เต็มที่ไว้ก่อน หากไม่มีสิ่งกีดขวางอาจตกข้างทางแต่ไม่ได้พุ่งไปฟาดกับต้นไม้ ตกลงไปในคลองชลประทาน หรือฟาดเสาไฟฟ้าซึ่งจะอันตรายมาก อย่าลืมรัดเข็มขัดนิรภัยเวลาขับและช่วยลดความเร็วเมื่อฝนตกถนนลื่นด้วยนะครับ.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/