จริงๆ แล้ว Raptor ในร่างทรงของ Ford Ranger แตกต่างจากรถกระบะทั่วไปอย่างสิ้นเชิง มีแค่เรือนร่างของมันเท่านั้นที่แสดงออกถึงความเป็นรถกระบะสายลุย แต่ช่วงล่างและระบบส่งกำลังนั้น ถูกทำให้แตกต่างจากรถกระบะราวกับรถคนละคลาสเลยทีเดียว Ford Ranger Raptor ถือกำเนิดขึ้นในสำนัก Ford Performance ซึ่งเป็นแผนกที่ปรับแต่งรถรุ่นมาตรฐานให้กลายเป็นรถสมรรถนะสูง ผลงานที่โดดเด่นของ Ford Performance ก็คือ การปรับแต่งรถแรงเพื่อวางขายอย่าง Mustang GT / Focus ST / Fiesta ST /GT40 และ F150 Raptor


...




Ranger Raptor เผยโฉมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ทีมผู้บริหารของ Ford ในขณะนั้น แถลงว่า Ranger Raptor ผ่านขั้นตอนการออกแบบ ผลิต และทดสอบจากทีม Ford Performance เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเซ็กเมนต์ตลาดรถกระบะในฐานะรถกระบะของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก Ranger Raptor มีระบบขับเคลื่อนและช่วงล่าง ที่ออกแบบมาเพื่อขับออฟโรดเต็มรูปแบบ พัฒนาเพื่อยกระดับการขับ สำหรับนักเลงรถกระบะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก วันเปิดตัวที่ทะเลสาบเมืองทองธานียังเต็มไปด้วยสื่อมวลชนทั่วโลก ที่ถูกเชิญมาชมการเปิดผ้าคลุมของเจ้าไดโนเสาร์นักล่าในประเทศไทย

...



...



...



หน้าตาและขนาด คือจุดเด่นของ Ranger Raptor มิติตัวรถยังใหญ่ขึ้น โดยมีความสูง 1,873 มิลลิเมตร กว้างมากถึง 2,180 มิลลิเมตร ยาว 5,398 มิลลิเมตร ระยะห่างช่วงล้อหน้าและหลังกว้างขึ้นเป็น 1,710 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถเพิ่มขึ้นเป็น 283 มิลลิเมตร มุมไต่ที่ 32.5 องศา มุมคร่อมที่ 24 องศา และมุมจากที่ 24 องศา ในฐานะที่เป็นรถลุยเอาไว้ขับสมบุกสมบัน ก็ย่อมมีอุปกรณ์ที่ออกแบบให้มีความแข็งแรงเป็นธรรมดา เพื่อรองรับการใช้งานหนัก


บันไดข้างรถของ Raptor ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้เศษหินกระแทกกับตัวถังรถด้านหลัง และรูที่ถูกเจาะนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ระบายทราย โคลน และหิมะ โดยผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอยเพื่อเพิ่มความคงทน ผ่านการทดสอบด้วยการกดน้ำหนัก 100 กิโลกรัมถึง 84,000 ครั้ง เพื่อจำลองการใช้งานในสนามทดสอบจริงกว่า 10 ปี มีการเคลือบถึงสองชั้น โดยทำการพ่นสี powder-coated ก่อนพ่น grit-paint ทับอีกชั้น เพื่อทำให้ทนทานต่อรอยขีดข่วนและรอยเปื้อนที่เกิดจากอากาศและสภาพแวดล้อม เป็นอีกจุดที่ใช้ประโยชน์ได้จริงและล้างทำความสะอาดได้ง่าย ส่วนกันชนท้ายเพิ่มชุดตะขอเกี่ยวจำนวน 2 ชุด Ford เคลมว่า หูเกี่ยวรองรับการลากจูงน้ำหนักได้ 3.8 ตัน ส่วนท้ายรถมีกรอบตัวเซนเซอร์ที่เรียบเสมอกับตัวถัง ตัวเชื่อมขอลากที่ได้รับการติดตั้งและออกแบบพิเศษ พื้นที่ส่วนท้ายกระบะขนาด 1,560 x 1,743 มิลลิเมตร




ทุกแง่มุมของ Ranger Raptor ราคา 1,690,000 บาท ได้รับการออกแบบโดยยึดโยงกับการทำความเร็วบนทางฝุ่นหรือทางลูกรัง รวมไปถึงการขับด้วยความเร็วต่ำในสถานการณ์ที่มีความยากลำบากของเส้นทาง มีสมรรถนะของเครื่องยนต์ ระบบเกียร์และระบบรองรับเป็นหัวใจหลัก ช่วงล้อที่ถูกขยายให้กว้างขึ้น บวกกับความสูงของตัวรถที่เพิ่มขึ้น แก้มข้างรถที่ขยายออกเพื่อให้มีความสอดคล้องกับแทรคของล้อที่กว้างกว่า Ranger รุ่นมาตรฐาน โช้คอัพของ FOX Racing Shox ปีกนกอะลูมิเนียม รวมถึงล้อและยางที่ถูกออกแบบให้สามารถรองรับการขับขี่แบบออฟโรด รูปลักษณ์ที่ดุดันสื่อถึงสมรรถนะที่เหนือกว่ารถกระบะไซส์กลางทุกรุ่นที่มีขายในประเทศไทย Ranger Raptor ที่มีดีเอ็นเอของ Ford Performance ได้กลายมาเป็นรถออฟโรดสมรรถนะสูงที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย






Ranger Raptor เป็นดีเอ็นเอของ Ford Performance อุปกรณ์และชิ้นงานต่างๆ ประดับประดาอยู่ทั่วทั้งภายนอก ลามไปจนถึงภายในห้องโดยสาร เบาะที่นั่งรองรับการใช้งานการขับขี่แบบออฟโรดความเร็วสูง เลือกใช้หนังกลับ Alcantara microfiber เป็นวัสดุหุ้มเบาะสลับกับหนัง การเลือกใช้หนังในลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้ขับและผู้โดยสารยึดกับที่นั่งได้ดีจากหนัง Alcantara microfiber หลังพวงมาลัยมีรายละเอียดบริเวณคอนโซลหน้ารถ เช่น เดินด้ายสีน้ำเงินและการเลือกใช้วัสดุหนัง แผงหน้าปัดแสดงฟีเจอร์ช่วยเหลือผู้ขับขี่แบบต่างๆ พวงมาลัยพร้อมกับแป้น Paddle Shift ผลิตจากแมกนีเซียมน้ำหนักเบา วงพวงมาลัยด้านบนสุดมีแถบหนังสีแดงเพื่อการกำหนดมุมของการเลี้ยวในแบบรถแข่ง ดีเอ็นเอของ Ford Performance มีบทบาทสำคัญในการออกแบบ Ranger Raptor แถบบอกตำแหน่งองศาพวงมาลัย On-Centre Marker ที่เป็นแถบสีแดงด้านบนของพวงมาลัย ช่วยให้นักขับออฟโรดทราบถึงตำแหน่งองศาของพวงมาลัยขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง สลักลายโลโก้ Raptor ลงบนขอบพวงมาลัย






เบาะปรับไฟฟ้าครอบคลุมการปรับน่านั่งขับได้ดีไม่ว่าคุณจะมีสรีระแบบไหน หนัง Alcantara microfiber นั่งนิ่มสบายก้นใช้ได้ สอดรับกับระบบกันสะเทือนที่ปรับมาให้ขับลุยได้อย่างนิ่มนวล กึ่งกลางตัวเบาะแปะตัวอักษร Raptor เย็บเดินตะเข็บด้วยด้ายสีฟ้า เบาะผ่านการใช้งานหนักมาสองปี ก็ยังคงดูดีและไม่มีรอยขาด เบาะหลังมีพื้นที่พอเพียงสำหรับการนั่งโดยสารสองคน พื้นที่วางเท้าหากคนนั่งหน้าไม่ได้มีหุ่นอย่างหมีแพนด้าคนนั่งหลังก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับพื้นที่ที่มีให้ นอกจากจะมีการใช้ด้ายสีฟ้าบริเวณตัวเบาะแล้ว ยังลามไปถึงถุงหนังหุ้มคันเกียร์และเบรกมือกับที่เท้าแขนบริเวณแผงประตูอีกด้วย







แดชบอร์ดคอนโซลมีการปรับรายละเอียดในด้านของสีสันและผิวสัมผัสที่ให้ความแตกต่างกันในแต่ละโซน โดยเพิ่มความหรูหราของงานตกแต่งซึ่งส่วนใหญ่ใช้พลาสติก ช่องแอร์ทรงเหลี่ยม จอแสดงผลส่วนกลางขนาดความกว้าง 8 นิ้วสั่งงานด้วยระบบสัมผัสที่หน้าจอหรือ touch screen สามารถสั่งการด้วยระบบเสียงแบบใหม่ล่าสุดโดยออกแบบให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วในการเลือกใช้โปรแกรมการปรับตั้ง เช่น การเลือกเพลง หรือสั่งงานเสียงในระบบปรับอากาศก็ยังทำได้อีกด้วย จอแสดงผลกลางขนาด 8 นิ้ว เปรียบเหมือน Center Control ของการควบคุมระบบต่างๆ ในรถ เช่น ระบบปรับอากาศ แสดงผลในรูปแบบดิจิตอล สามารถควบคุมผ่านหน้าจอ 8 นิ้ว การสั่งงานด้วยระบบสัมผัสมีความเร็วแค่ใช้นิ้วแตะไปที่หน้าจอเพื่อสั่งงาน ระบบ SYNC 3 สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือทุกรุ่นที่มีระบบบลูทูธได้อย่างรวดเร็ว SYNC 3 ยังมาพร้อมกับระบบนำทางด้วยดาวเทียมหรือเนวิเกเตอร์

ระบบเสียงติดตั้งลำโพงมากถึง 10 ตำแหน่ง 10 ทิศทาง คอยสร้างความกระหึ่มขณะเล่นเพลงผ่านอุปกรณ์ i-Pod / USB / AUX ซับวูฟเฟอร์ 1 ตำแหน่งคอยสร้างพลังเสียงเบสที่หนักแน่นใช้ได้ ส่วนคุณภาพเสียงที่ขับออกมาจากลำโพงทั้ง 10 ตำแหน่งก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เมื่อลองเปิดเครื่องเสียง แล้วเล่นเพลงผ่าน CD / MP3 ที่มีการบันทึกรายละเอียดที่คมชัดก็ยังถือว่าคุณภาพของเสียงเพลงที่ขับผ่านลำโพงออกมานั้นพอรับได้ Ford Ranger Raptor มีช่องเชื่อมต่อ AUX และ USB มาให้หลายช่อง พร้อมกล้องมองหลังขณะถอยจอด ระบบนำทางผ่านดาวเทียมหรือ GPS ที่ติดตั้งมาให้นั้นใช้งานได้ดี แต่ความละเอียดยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร










หน้าปัดมาตรวัดอ่านค่าได้ง่าย ให้มาทั้งวัดรอบและวัดความเร็ว เข็มวัดระดับเชื้อเพลิงและเข็มวัดระดับอุณหภูมิเครื่องยนต์ ใจกลางมาตรวัดทั้งสองข้างติดตั้งจอแสดงผล MID multi information display คอยแจ้งข้อมูลที่สำคัญขณะขับเคลื่อน เช่น อัตราสิ้นเปลือง คำนวนเชื้อเพลิงในถังต่อระยะทางที่สามารถวิ่งไปถึง ทริปมิเตอร์ เข็มทิศ อุณหภูมิภายนอก โหมดการขับเคลื่อน ฟังก์ชั่นระบบช่วยขับ ตำแหน่งของเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด แสดงผลระบบโทรศัพท์ไร้สายและการเล่นเพลงหรือภาพในโปรแกรม Entertainment องศาและทิศทางของหน้ารถ การปรับตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง Lane Keeping System ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) การเปิด-ปิดประตู และอื่นๆ อีกเพียบ





พวงมาลัยหุ้มหนังแท้แบบ 4 ก้าน ติดตั้งแป้น Paddle Shift ทำจากแมคนีเซียมอย่างเท่ พวงมาลัยหุ้มหนังแท้ มีก้านวงทั้งซ้ายและขวาอุดมไปด้วยสวิตช์สั่งงาน พวงมาลัยมีขนาดพอดีออกแบบให้จับได้ถนัดมือ ปรับตั้งได้ 4 ทิศทางทั้งใกล้-ไกลและสูง-ต่ำ ก้านพวงมาลัยมีสวิตช์มัลติฟังก์ชันใช้สำหรับการปรับตั้งค่าต่างๆ เช่น ระบบปรับตั้งความเร็วอัตโนมัติ Cruise control สวิตช์เลือกดูข้อมูลการขับขี่ผ่านจอ Multi information display ที่ด้านขวาและซ้าย ปรับความดังของลำโพง ปุ่มรับหรือวางสายโทรศัพท์ในระบบบลูทูธ ปุ่มระบบสั่งงานด้วยเสียง


สิ่งที่ทำให้ Ranger Raptor เป็นรถลุยโหดได้เหนือกว่ากระบะทั่วไปก็คือแชสซี โครงสร้างของของ Ranger Raptor ในขั้นตอนของการพัฒนา ได้รับการออกแบบใหม่มาเป็นพิเศษ สำหรับรองรับการขับออฟโรดความเร็วสูง ช่วงล่างแบบปีกนกคู่ทั้งหน้าและหลัง ติดตั้งโช้คอัพและสปริงประสิทธิภาพสูง สามารถรับแรงกระแทกที่เกิดจากการขับลุย ร่วมกับระบบกันสะเทือนหลังแบบใหม่ รวมถึงระบบที่มีประสิทธิภาพอย่างวัตต์ลิงค์ และสปริงคอยล์โอเวอร์ช็อก ทำให้เพลาเคลื่อนที่อย่างมั่นคง ช่วยเรื่องการทรงตัวและการควบคุมรถเมื่อขับบนถนนขรุขระด้วยความเร็วสูง อันนี้ตอนไปทดสอบที่ดาร์วิน ที่ความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนทางลูกรัง ดูเหมือนจะน่ากลัวแต่ Ranger Raptor นั้นวิ่งฉิวและว่องไวไร้ที่ติราวกับนกโรดรันเนอร์!! บนทางทรายในเกาะพระทอง มันก็ยังวิ่งได้ในขณะที่รถอื่นพากันติดทรายจอดไม่ต้องแจว!


มาดูจุดเด่นๆ ของตัวรถกันอีกที Ford แจ้งว่า แชสซีที่ถูกปรับใหม่ในระหว่างการพัฒนา เพื่อรองรับระบบช่วงล่างที่ใหญ่ขึ้น มีการเพิ่มระยะช่วงล้อคู่หน้าและหลัง และเพิ่มระยะการให้ตัวของล้อ แชสซีผลิตจากเหล็กอัลลอย HSLA (High-Strength Low-Alloy) เกรดต่างๆ เสริมความแข็งแรงด้านข้างของแชสซี (side-rails) เพื่อรองรับแรงกระแทก แชสซีส่วนหน้า มีการเพิ่มความแข็งแรงของจุดยึดหูโช้คที่ถูกขยายความสูงขึ้นมา ระบบกันสะเทือนหลังเป็นแบบคอยล์โอเวอร์ช็อก รวมถึงระบบวัตต์ลิงค์ ช่วยให้เพลาเคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้อย่างอิสระ โดยที่มีการขยับตัวในแนวราบลดลง ชุดตะขอเกี่ยว 2 ชุดด้านหน้าและด้านหลังที่รองรับน้ำหนักจากการลากจูงได้ 3.8 ตัน ถูกเชื่อมกับแชสซีอย่างแน่นหนา โครงสร้างแท่นยึดยางอะไหล่ที่ถูกเสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับยางอะไหล่ขนาด 17 นิ้ว





โช้คแบบ Position Sensitive Damping (PSD) ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษโดยสำนัก Fox Racing Shox ใช้ลูกสูบขนาด 46.6 มิลลิเมตร ทั้งคู่หน้าและหลัง ช่วงล่างถูกออกแบบมาให้มีระยะการให้ตัวของล้อสูงเพื่อความสามารถในการซับแรงกระแทกขณะขับออฟโรด ด้วยระบบบายพาสภายใน (Internal Bypass technology)ปีกนกที่ทำจากอะลูมิเนียม โดยปีกนกบนทำด้วยวิธีการฟอร์จและปีกนกล่างใช้วิธีการหล่อ





อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมความเป็น Raptor ก็คือ ล้อและยางติดรถจากโรงงาน ยาง All-terrain BF Goodrich 285/70 R17 ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับ Ranger Raptor โดยเฉพาะ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 838 มิลลิเมตร กว้าง 285 มิลลิเมตร แก้มยางแข็งแรงสูง เหมาะในการลุยทุกสภาพพื้นผิว ด้วยดอกยางขนาดใหญ่พิเศษ ใชัลุยพื้นผิวที่เปียกลื่น โคลน พื้นทราย และหิมะ สารภาพตามตรงว่ามันเป็นยาง AT ประสิทธิภาพสูง มีความแข็งแกร่งทนทานมากกว่ายาง AT ทั่วไป แก้มยางที่แข็งแรง แม้จะผ่านการบดขยี้จากอีเวนต์ต่างๆ ทั้งลูกค้าและสื่อที่ผลักกันขึ้นมาขับอย่างโหด ในรถทดสอบคันนี้ที่วิ่งไปแล้ว 17,000 กิโลเมตร สภาพของยาง ยังคงดีอยู่มาก ดอกยางสึกเล็กน้อย แต่บริเวณแก้มยางนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายแต่อย่างใดทั้งสิ้น


ใต้กันชนหน้าไปจนถึงใต้ห้องเครื่องยนต์ มีการติดตั้งแผงกันกระแทกด้านล่าง ผลิตจากเหล็กกล้า (High-strength steel) ความหนา 2.3 มิลลิเมตร และมีความทนทาน แผงกันชนหน้าสีเงิน ชุดกันกระแทกด้านล่างที่ป้องกันเครื่องและระบบส่งกำลัง (transfer case) ทั้ง 3 ส่วนนี้ที่ช่วยปกป้องชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ เช่น หม้อน้ำ ระบบพวงมาลัยไฟฟ้า (Electric Power Assisted Steering - EPAS) ชุดสายพานหน้าเครื่อง (Front End Accessory Drive - FEAD) คานล่างด้านหน้า (Front cross-member) อ่างน้ำมันเครื่อง และชุดเฟืองขับส่วนหน้า

ระบบ Terrain Management System (TMS) ทำงานด้วยซอฟแวร์ที่ได้รับการปรับตั้งอย่างละเอียดอ่อน ออกแบบสำหรับโหมดการขับขี่ทั้งหมด 6 รูปแบบ สามารถเลือกโหมดจากปุ่มบนพวงมาลัย ซึ่งแต่ละโหมดได้รับการทดสอบและปรับแต่งเพื่อให้เทคโนโลยีทั้งหมดทำงานประสานกัน ประกอบด้วย
โหมดขับเคลื่อนของ Ranger Raptor
ขับเคลื่อน 2 ล้อ (2WD)
Normal : โหมดปกติ
Sport : สปอร์ต เกียร์เปลี่ยนไวขึ้น คารอบเครื่องไว้สูง
4WD ขับเคลื่อน 4 ล้อ Grass / Gravel / Snow : หญ้า กรวด/หิน หิมะ เปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลขึ้น ออกตัวด้วยเกียร์ 2 ลดการลื่นไถลของล้อรถ
Mud / Sand : ใช้เกียร์ต่ำ ปรับการตอบสนองของระบบ Traction Control
Rock : หิน ใช้ความเร็วต่ำ
Baja : บาฮา ปรับการตอบสนองเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับแบบ Off-Road ความเร็วสูง ตัดการทำงานระบบ Traction Control ปรับการตอบสนองของระบบส่งกำลัง (เกียร์) และคารอบเครื่องไว้สูง


ระบบส่งกำลังของ Ranger Raptor มีการปรับจูนการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ เพลา พวงมาลัย เบรก และระบบควบคุมพวงมาลัยแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Steering Program) ให้ทำงานสอดประสานกันทั้งหมด สำหรับการขับขี่แบบออฟโรด เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ที่ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ดีเซลใหม่แบบ Bi-Turbo (เทอร์โบคู่) ขนาด 2.0 ลิตร

เครื่องยนต์ดีเซลแถวเรียง 4 สูบ ความจุ 2.0 ลิตร ทวินเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ใช้เทอร์โบแรงดันสูง (HP) ที่เชื่อมต่อกับเทอร์โบแรงดันต่ำ (LP) ที่มีขนาดใหญ่กว่า และถูกควบคุมด้วยวาล์วบายพาสที่ทำหน้าที่ควบคุมลำดับการทำงานของเทอร์โบทั้งสองลูก โดยขึ้นอยู่กับความเร็วของเครื่องยนต์ เมื่อรอบเครื่องยนต์ต่ำ เทอร์โบทั้ง 2 ตัว จะทำงานตามลำดับเพื่อช่วยเพิ่มแรงบิดและการตอบสนอง เมื่อช่วงรอบเครื่องยนต์สูง อากาศจะไม่ไหลผ่านเทอร์โบแรงดันสูง ทำให้เทอร์โบแรงดันต่ำที่ใหญ่กว่าช่วยเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น





เครื่องยนต์ดีเซล Bi-Turbo (เทอร์โบคู่) ขนาด 2.0 ลิตร และเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ Ford ในการส่งถ่ายกำลังแรงบิดที่ได้รับจากเครื่องยนต์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เครื่องยนต์ดีเซลแถวเรียง 4 สูบ ทรงพลังและมีขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา ปล่อยมลพิษต่ำ แรงบิดและแรงม้าจัดเต็มด้วยการบูสอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ด้วยเทอร์โบ 2 ลูก และอัตราทดเกียร์ที่แคบลง เครื่องยนต์ดีเซล EcoBlue TDCi 4 สูบแถวเรียง ขนาด 2.0 ลิตร 1,996 ซีซี. อัดอากาศด้วยเทอร์โบคู่ High-Pressure (HP Turbo) เทอร์โบแรงดันสูง และ Low-Pressure (LP Turbo) เทอร์โบแรงดันต่ำ ควบคุมด้วยวาล์ว Bypass) สายพานไทม์มิ่งแบบจุ่มในน้ำมันเครื่อง Belt-in-oil Primary Drive ฝาครอบเครื่องยนต์ พร้อมโฟมดูดซับเสียง เพื่อลด NVH : Noise Vibration Hashness ฝาครอบ Compressor ระบายความร้อนด้วยน้ำ ลูกสูบอะลูมิเนียม มีการหล่อซ้ำที่ขอบแอ่งหัวลูกสูบ Bowl Edge Re-Melt ระบบกรองน้ำมันเกียร์ Sump Filtration and ULV ปั๊มน้ำมันเกียร์ชนิดใบพัดแปรผันแบบเยื้องศูนย์ Off-Axis Variable-Displacement Vane Pump คลัตช์แบบ Rollover One-way Clutch (OWC) เครื่องยนต์ของ Ranger Raptor ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift




ระบบเบรกที่คอยลดความเร็วของ Ranger Raptor น้ำหนักกว่า 2 ตันก็คือระบบเบรกแบบคาลิปเปอร์เบรกคู่หน้าลูกสูบคู่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 54 มิลลิเมตร เบรกคู่หน้าดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน ขนาด 332 x 32 มิลลิเมตร เบรกคู่หลัง ดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน ขนาด 332 x 24 มิลลิเมตร ดิสก์เบรกด้านหลัง พร้อมระบบ Brake Actuation Master Cylinder




แม้จะมีคนนิยมและอยากได้ Ford Ranger Raptor เอาไว้ขับลุยเท่ๆ แต่ก็มีคนอีกไม่น้อย ที่ยังออกอาการกล้าๆ กลัวๆ เมื่อเข้าไปส่องตามคลับคนใช้ Raptor แล้วรูดไปพบกับเจ้าของที่เจอปัญหาหลังการใช้งาน รถชุดใหม่ปี 2020 ที่ Ford แจ้งว่า ได้รับการปรับแก้จนแข็งแรงขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนที่คิดจะซื้อได้บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่ากับการได้รับบริการดีๆ จากศูนย์บริการของ Ford ที่ยังจะต้องปรับงานบริการบวกฝีมือของช่างในบางศูนย์ที่ยังไม่ค่อยจะลงตัว รวมถึงการเคลมชิ้นส่วน ให้มีความรวดเร็วและมีฝีไม้ลายมือในการซ่อมบำรุงดีเทียบเท่ากันทุกศูนย์ พูดง่ายแต่ทำยากอยู่เหมือนกัน และถ้าทำได้ ปากต่อปากของลูกค้าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนที่สุด การจ่ายเงิน 1.7 ล้านแล้วต้องมาพบกับปัญหาจะทำให้ Ford รักษาฐานลูกค้าเก่าได้ยากขึ้น แต่การแก้ใขและใส่ใจดูแล จากการรีบเข้ามาสอบถามถึงอาการของรถและการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเป็นเรื่องที่ดี แต่เอาเข้าจริงๆ Ford ควรทดสอบชิ้นส่วนให้แน่ใจในความคงทนก่อนผลิตออกขาย เรื่องดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้น





รถทดสอบ Ranger Raptor ของ Ford Motor Thailand คันนี้ วิ่งมาแล้ว 17,000 กิโลเมตร ผ่านการทารุณกรรมซ้ำซากมานับสิบๆอีเว้นท์ ทั้งลูกค้าและสื่อต่างผลัดกันขึ้นมากระทืบกันชนิดนับครั้งไม่ถ้วน เพราะไม่ใช่รถของตัวเองและเป็นอีเวนต์ หรืองานกิจกรรมที่ Ford เชิญให้มาขับ ถ้าเป็นคนมันคงผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการขับลุยทางฝุ่นลูกรังด้วยความเร็วสูง ขับออฟโรดท่ามกลางสเตชั่นฟันฝ่าที่โหดสุดจากดินลูกรังเละๆ ลุยข้ามแอ่งน้ำและทางที่เต็มไปด้วยโคลนเลนที่ลึกราวกับปลักควาย และกระโจนข้ามเนินดินแบบเหะเหินเดินอากาศ ซึ่งภาพต่างๆ เหล่านั้น ลูกค้าและคนที่ชอบ Raptor เห็นมาหมดแล้วในสื่อโฆษณา รวมถึงการรายงานผลการทดสอบของสื่อมวลชนสายยานยนต์ นับเป็น 17,000 กิโลเมตรที่โหดเอาเรื่อง แต่เจ้าไดโนเสาร์สีเทาคันนี้ก็ยังคงมีสภาพดีอยู่มาก ตัวถังมีริ้วรอยที่เกิดจากประสบการณ์ของลูกค้าและสื่ออยู่ทั่วไปหมด โดยเฉพาะแผ่นกันกระแทกใต้ห้องเครื่องยนต์นั่น มีร่องรอยที่บ่งบอกว่ามันต้องเจอกับอะไรมาบ้าง! อย่างน้อยๆ ก็น่าจะโดนกับหินขนาดย่อมๆเพราะมีรอยครูดยาวที่ทำให้บุบเข้าไปด้านในเล็กน้อย ส่วนภายในห้องโดยสารที่ผ่านการวิ่งมาเฉียดๆ 2 หมื่นกิโลเมตร ยังคงดูดี ไม่มีเสียงดังออดๆ แอดๆ เวลาวิ่งผ่านผิวถนนที่ไม่เรียบ แสดงให้เห็นถึงงานประกอบภายในและการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีความแข็งแรงหนาแน่ใช้ได้


เปิดฝากระโปรงดู เครื่องยนต์แดงเถือกไปด้วยฝุ่นและดินลูกรัง เพราะมันเพิ่งจะเสร็จจากงานทดสอบของลูกค้าที่จัดขึ้นในลักษณะของงานล่อซื้อ! ผมพยายามมองหารอยรั่วซึมที่มักจะสร้างปัญหาให้กับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร Bi Turbo แต่หาไม่เจอ นอกจากคราบของฝุ่นแล้วก็ไม่ได้พบกับการรั่วซึมจากของเหลวที่ใช้ในการหล่อลื่น และจากที่เคยถามเพื่อนๆ สื่อสายยานยนต์ที่ลงทุนควัก 1.7 ล้าน เพื่อแลกกับการได้ใช้เจ้า Raptor ซึ่งก็มีสื่อบางคนที่ลากไปแล้วเฉียดๆ 8 หมื่นกิโลเมตร ก็ยังไม่พบกับปัญหาอะไรที่มากวนใจ ลองสตาร์ตเครื่องแล้วจับอาการฟังเสียงดู พบว่า แรงสั่นสะเทือนจากมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เสียงการทำงานของเครื่องยนต์ทั้งในรอบเดินเบา และรอบสูงขณะทำความเร็วยังคงปกติดีทุกอย่าง




ช่วงล่างที่เปรียบเหมือนหัวใจของการทรงตัวยังคงดีอยู่ ผมสามารถปล่อยมือจากพวกมาลัยโดยที่รถไม่วิ่งเอียงเข้าซ้ายหรือขวา นั่นเป็นเรื่องที่ดี และบ่งบอกได้ถึงความคงทน อย่าลืมว่าเจ้าไดโนเสาร์สีเทาคันนี้ผ่านการกระโดดมาแล้วเป็นร้อยครั้ง! น้ำหนักส่วนหน้าที่กดทับขณะล้อสัมผัสพื้นสร้างแรงเครียดให้กับชิ้นส่วนของช่วงล่างอย่างแสนสาหัส แต่มันก็ยังมีสภาพที่ดีอยู่มาก อย่างที่บอกว่าศูนย์ของรถก็ดี ไม่มีกินซ้ายป่ายขวาให้น่าเสียวสยอง จุดที่แสดงให้เห็นถึงความสึกหรอก็มีแค่ริ้วรอยบนตัวถังเท่านั้น การวิ่งออกทางไกลบนราชาของรถกระบะคือความสบายอย่างแท้จริง จุดเด่นของช่วงล่างแบบอิสระทั้งหน้าและหลัง รวมกับโช้คและสปริงคุณภาพสูง บนเบาะที่นั่งนิ่มสบายก้นนั้นทำให้คุณสามารถควบมันได้ทั้งวันโดยหลังไม่พังหรืออ่อนเปลี้ยเพลียแรงจากอาการกระเด้งกระดอนของปิกอัพทั่วไป







คนที่มี X5 /GLE / Cayenne หรือแม้แต่ Range Rover นั้น เอาไปลุยหนักได้ก็จริง แต่ไม่คุ้มกับค่าซ่อม เมื่อคุณต้องจอดออฟโรดราคาแพงที่มีทั้งระบบยกช่วงล่างและระบบขับเคลื่อนขั้นเทพเอาไว้ในบ้าน โดยหันมาพึ่งพากระบะตัวจริงอย่าง Raptor นั่นเป็นเรื่องของการลงทุนที่พอจะคุ้มอยู่บ้าง ความสบายและย่านของกำลังแรงบิดเมื่อขับบนไฮเวย์เป็นจุดเด่นของ Raptor ในชีวิตจริงที่ไม่ได้อยู่ในป่าในเขากันทุกวัน การวิ่งบนทางหลวงข้ามจังหวัดที่เต็มไปด้วยความสบายนั้นหาได้ยากในรถปิกอัพยกสูงแต่เจ้า Raptor มีให้คุณอย่างเหลือเฟือ!




เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร Biturbo ไม่ได้แรงสุดลิ่ม แรงบิดมาแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ก็ดึงรถให้พุ่งทะยานขณะเร่งแซงได้ดี อย่าลืมว่ามันมีน้ำหนักมากถึง 2.1 ตัน เครื่องดีเซลตัวเล็กทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีมากแล้ว แค่แก้ในเรื่องของความเหนียวให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่กำลังอยากได้ (มานานมากแล้ว) การตอบสนองของเครื่องยนต์ผ่านระบบเกียร์ 10 สปีดลื่นไหลใช้ได้ แรงบิด 500 นิวตันเมตร โผล่ออกมาเร็วจนปั่นล้อฟรีทิ้งได้ไม่ยาก การใช้ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ขณะขับทางไกลบนไฮเวย์เรียบๆ ช่วยทำให้อัตราสิ้นเปลืองไม่สูงมากจนเกินไป มันกินน้ำมันเฉลี่ย 10.7 กิโลเมตรต่อลิตร เป็นการขับแบบสลับเดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้าไปตามสภาพจราจร พอออกนอกเขตเมืองและพบกับทางโล่งๆ เจ้าไดโนเสาร์ก็ออกอาการร่าเริงทันที




Raptor เป็นรถกระบะที่ใช้พวงมาลัยไฟฟ้า ในประเทศไทย มีกระบะแค่ 2 แบรนด์เท่านั้นที่ชุดบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยไฟฟ้าทั้งหมด นั่นก็คือ Chevrolet Colorado และ Ford Ranger พวงมาลัยไฟฟ้าของ Ranger Raptor จูนระยะการเลี้ยวมาดี น้ำหนักมั่นคงและมีการเลี้ยวที่เฉียบคมใช้ได้ แม้จะใส่ยาง AT เส้นเขื่องแต่ลองเลี้ยวเร็วๆก็ถือว่ามีความแม่นยำใช้ได้ มันเป็นรถที่มีพวงมาลัยดีเอาเรื่องเอาราว โดยเฉพาะอัตราทดหรือน้ำหนักที่ขึ้นตรงกับโหมดและความเร็วที่ใช้ขับเคลื่อนในขณะนั้น ขับช้าพวงมาลัยก็ลดระดับความหนัก ปรับให้เบาพอใช้ได้ไม่หนักเหมือนพวงมาลัยสายพานเพาเวอร์ในปิกอัพทั่วไป เมื่อขับเร็วขึ้น ECU ที่ควบคุมการทำงานของพวงมาลัยไฟฟ้าจะปรับน้ำหนักแบบอัตโนมัติ ให้มีความกระชับรัดกุม เพื่อส่งถ่ายความแม่นยำ แค่ขยับพวงมาลัยนิดเดียว หน้ารถก็จะหันไปตามทิศทางที่ต้องการ ทำให้การควบคุมทิศทางมีความง่าย แถมยังมั่นคงเมื่อวิ่งทางตรง ไม่ต้องมานั่งแต่งนั่งขยับพวงมาลัยเหมือนรถกระบะบางรุ่น! อันนี้เจ้าของ Raptor ทุกคนน่าจะรู้ดี





จุดเด่นของ Ranger Raptor นอกจากเครื่องยนต์และช่วงล่างแล้ว ชุดส่งกำลังหรือเกียร์แบบ 10 สปีด ยังเป็นระบบเกียร์ที่ Ford มีความภูมิใจในการนำเสนอ และมีประสิทธิภาพดีในการทดกำลัง เกียร์ออโต้ 10 อัตราทดเชื่อมโยงกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อหรือเกียร์ขับสี่ของ Raptor นั้นตอบสนองได้อย่างไหลลื่น เมื่อวิ่งด้วยความเร็วคงที่ 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงในย่านความเร็วเดินทาง ลืมบอกไปว่า เกียร์ชุดนี้ ถูกนำไปปรับอัตราทดใหม่ และยกไปใช้ใน Ford Mustang ทั้งรุ่น 2.3 และรุ่น GT V8 ละครับ สำหรับอัตราทดในเกียร์ 10 ช่วยลดรอบเครื่องยนต์ ทำให้เกิดความประหยัด เมื่อลองเร่งความเร็วเพื่อจับการทำงานของระบบเกียร์ การเปลี่ยนอัตราทดของเกียร์ 10 สปีด ยังคงลื่นไหลไม่มีรอยต่อของเกียร์ให้รู้สึก เป็นชุดส่งกำลังที่ไม่มีอาการกระตุกหรือกระชาก เกียร์ 10 สปีด เปลี่ยนจังหวะด้วยตัวของมันเอง ไปตามความเร็วรอบเครื่องยนต์ที่ไหลขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา





แป้น Paddle Shift ทำงานได้เร็ว เมื่อขับบนเส้นทางภูเขา ที่ต้องใช้เกียร์เยอะกว่าการขับบนทางราบ เมื่อคุณต้องการควบคุมการเปลี่ยนจังหวะของอัตราทดด้วยตัวเอง แป้น Paddle Shift ที่โค้งคล้ายกับแป้นเกียร์ซุปเปอร์คาร์ใช้งานได้จริง บนทางคดเคี้ยว พวงมาลัยไฟฟ้าตอบสนองอย่างว่องไวในการบังคับทิศทาง แม้จะมีอาการโคลงออกมาบ้างในย่านความเร็วสูง แต่ก็ถือว่าพอรับได้ และขับสบายได้อารมณ์กันอย่างครบๆ คุณสามารถขับลุยแบบถึงพริกถึงขิง พอเบื่อก็โผล่ขึ้นมาบนทางราบ ก็จะพบความสบายตั้งแต่ต้นยันปลายเลยทีเดียว ช่วงล่างที่ดี ยังทำให้การนั่งโดยสารบนเบาะด้านหลังมีความสบายเนื้อสบายตัว เนื่องจากอาการโคลงตัวที่น้อยกว่ารถกระบะทั่วๆไป





หลังจากเคยทดสอบ Raptor ที่ดาร์วิน และกลับมาขับทดสอบในประเทศไทย ที่เกาะพระทอง รวมถึงการเอามาขับเองอีก 2 ครั้ง หลังจากผ่านระยะทาง 17,000 กิโลเมตร ท่ามกลางการลุยแหลกชนิดไม่ต้องกลัวพัง! Ranger Raptor มีจุดเด่นที่ช่วงล่าง เพราะช่วงล่างที่โดนทารุนกรรมมาอย่างหนักยังคงรับใช้ได้ดี บนทางลาดยาง มันวิ่งอย่างเนียน ทรงตัวดีและนั่งสบาย เครื่องยนต์กำลัง 213 แรงม้า บนน้ำหนักตัว 2 ตันไม่ได้ดึงหนักดึงนานอะไร อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำได้ 11.89 วินาที สูสีกับรถคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่าเยอะ แต่สิ่งที่แตกต่างจากกระบะทั่วไป นั่นก็คือช่วงล่างขั้นเทพที่วิ่งได้เนียนทั้งทางเรียบและออฟโรด นี่คือจุดเด่นที่แท้จริงของ Raptor ช่วงล่าง Fox Racing สอดรับกับการทำตัวเป็นรถกระบะจากสำนัก Ford Performance ผมคิดว่า Raptor ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้ช่วงล่างชุดนี้ เป็นระบบรองรับที่ดีที่สุดสำหรับรถกระบะที่มีขายในประเทศไทย เมื่อรูดผ่านทั้งทางลูกรัง ทางที่มีผิวขรุขระด้วยความเร็วสูงในโหมด Baja หรือลุยโหดไต่ระห่ำด้วยองศาที่ลาดชัน ทั้งคนนั่งและคนขับจะรู้สึกได้ถึงความสบาย จากอาการโคลงตัวและอาการกระเด้งกระดอนที่น้อยมาก เบาะหลังในกระบะทั่วไปนั่งแล้วคล้ายกับการนั่งหลังช้างที่โยกไปโยกมา แต่การนั่งในเบาะหลังของ Raptor จะทำให้คุณนั่งหลับได้ง่ายๆ ถ้าวิ่งบนที่ราบเรียบๆ การถ่ายเทน้ำหนักขณะเปลี่ยนทิศทางหรือเบรกก็ถือว่าทำออกมาได้ดี





เรื่องการลุยแหลกนั้นหายห่วง ด้วยความที่มีโหมดขับเคลื่อนเยอะมากถึง 6 โหมด คุณสามารถวางตำแหน่งที่ถูกต้องของรถด้วยความง่ายดายและเอาตัวรอดในเส้นทางที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะขับบนทางลูกรัง ทราย โคลน หินหรือหญ้า เมื่อเทียบกับกระบะทั่วไปที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อก็สามารถลุยได้เหมือนกัน แต่ไม่มีโหมดที่จะช่วยให้ฟันฝ่าเส้นทางที่เป็นทรายลึก ใน Raptor ทุกอย่างง่ายๆ แค่กดปุ่มเลือกใช้โหมดให้ตรงกับสภาพของเส้นทางแค่นั้นก็พอ Ranger Raptor มีทุกอย่างที่จะช่วยให้การขับลุยกลายเป็นเรื่องง่ายดาย แค่คนขับมีทักษะในการควบคุมทิศทางและการใช้คันเร่งก็สามารถลุยฝ่าอุปสรรคได้อย่างสบายๆ จุดเด่นที่ดีงามของ Ranger Raptor อีกจุดก็คือการประกอบที่แน่นหนา เมื่อขับลุยฝ่าร่องสวนหรือหล่มลึกๆ แล้วไต่ขึ้นมาในลักษณะเอียงกระเท่เร่ ไม่มีเสียงลั่นของตัวถังดังเข้ามาให้ได้ยินแม้แต่น้อย รวมถึงคอนโซลและแดชบอร์ดก็ยังเงียบไม่ปรากฏว่ามีเสียงดังออดๆ แอดๆ ให้รำคาญใจ เป็นอีกจุดที่ทำออกมาได้โดนอยู่เหมือนกัน



Ranger Raptor เป็นรถกระบะที่แพง แต่มีประสิทธิภาพสูงสมราคา รถรุ่นปี 2020 มีการแก้ใขจุดบกพร่องที่เคยเกิดปัญหากับรถบางคัน โดยมีการพัฒนาระบบใหม่ เปลี่ยนซัพพายเออร์ ในส่วนที่เคยมีปัญหาก็ได้รับการปรับแก้ใข รวมถึงการเพิ่มความมั่นใจ ด้วยการรับประกัน 10 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร แต่ทางที่ดีที่สุด การทดสอบระยะยาวก่อนดันเข้าสู่สายการผลิตจะทำให้รู้ถึงจุดอ่อนของเครื่องยนต์ เพื่อปรับให้เกิดความคงทนมากกว่านี้ Raptor นั้น ออกแบบมาสำหรับการขับบนเส้นทางวิบากท่ามกลางความสบายเนื้อสบายตัว และปัญหาการรั่วซึมหรือปัญหาระบบระบายความร้อน ก็ไม่ได้เป็นเหมือนกันทุกคัน บางคันเข้าใกล้ 100,000 กิโลเมตร และถูกผลิตในลอตแรกๆ ก็ยังปกติดีอยู่ เพียงแต่เจ้าของรถไม่ได้ออกมาโพสต์เท่านั้น
Raptor มีขุมกำลังขนาดเล็ก ไม่ได้แรงจนทำให้คุณเสียวสยอง แค่มีไว้เร่งแซงอย่างปลอดภัย และใช้แรงบิดรอบต่ำที่ยอดเยี่ยม เพื่อเอาตัวรอดจากอุปสรรค คนที่ไม่มีโอกาสได้ลองขับแบบเต็มๆ ก็อาจมองว่าแพงหรือไร้สาระ แต่ถ้าได้ลองขับบนเส้นทางโหดๆ หรือหวดเร็วจี๋บนทางลูกรังแค่ครั้งเดียว ก็จะเปลี่ยนความคิดนั้นทันที Ford เองก็ต้องดูแลลูกค้าให้ดีๆ โดยเฉพาะศูนย์บริการบางแห่งที่ยังต้องมีการปรับแก้ รถนั้นทำออกมาขับดีอยู่แล้ว แค่ปรับชิ้นส่วนให้มีความคงทนมากกว่าเดิม เน้นบริการหลังการขาย เอาใจลูกค้าให้มากเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของ Ranger Everest หรือ Raptor คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ชอบรถของ Ford แทบทั้งนั้น ถ้าทำออกมาแล้วขับดี พร้อมกับความทนทาน ใช้งานนานปีไม่มีจุกจิกกวนใจ รับรองว่าพวกเค้าไม่หนีไปไหนอย่างแน่นอนครับ.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/