ไทยรัฐออนไลน์วันอาทิตย์นี้ เราจะพาไปดูรถเก่ามีมนตร์ขลังจากค่ายคุณน้าตราดาวเขาสักหน่อย หลายคนจะบอกว่า รถตราดาวหลายรุ่นมักจะหายากหรือแพงเกินเอื้อม ผู้อ่านไทยรัฐอาจจะไม่สนใจ ในกรณีของ AMG C 36 นี้ ต้องบอกตามตรงว่าถ้าจะหารถ AMG แท้ทั้งคันจากโรงงานให้ได้สักคันในประเทศไทย น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าคุณไม่ได้เน้นว่าต้องแท้แบบสุดๆ รถที่แปลงโดยนำ C-Class W202 มาทำ ก็ไม่ได้แย่นะครับ บางคันทำออกมาเนียนสวยไม่แพ้รถแท้ ในราคาที่ฟังแล้วคนจนๆ ยังพอมีหวังซื้อมาไว้ขับไปมีตติ้งรถคลาสสิกได้บ้าง..แต่นั่นก็คือคุณต้องเข้าใจว่ารถอายุขนาดนี้ เครื่องยนต์หกสูบเบนซินบล็อกโตๆ แบบนี้ ทั้งค่าบำรุงรักษาและค่าน้ำมัน มันย่อมไม่ใช่ Corolla Altis นะครับ

เจ้า Mercedes-Benz C 36 AMG นี้ เผยโฉมถลกผ้าครั้งแรกในงานมอเตอร์โชว์ที่ Frankfurt ในเดือนกันยายนปี 1993 ก็คือนี่เป็นวาระครบ 30 ปีที่มันเกิดมาบนโลกพอดีในปี 2023 นี้ ความสำคัญของรถอย่าง C 36 ก็คือ มันเป็นรถรุ่นแรกที่ Mercedes-Benz จับมือกับสำนัก AMG แล้วขายเป็นโมเดลทางการ มีตัวตนอยู่บนใบราคาจากโชว์รูมดาวสามแฉกเลย ทั้งๆ ที่ความจริง AMG นี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1967 และสรรค์สร้างรถที่มีชื่อเสียงให้เบนซ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น 300SEL 6.3 ตัวแข่งคันสีแดง เจ้า Hammer ที่จับ 124 มาวางเครื่อง 388 แรงม้า หรือบรรดารถแข่ง DTM ที่ AMG มีส่วนช่วยในการสร้างรถ 190E ให้หลายทีมซื้อไปหวดแข่งกับ BMW M3 และ Ford Sierra RS จนคว้าแชมป์ทั้ง Driver/Constructor ในปี 1992 ทว่ารถพิเศษเหล่านั้น คือรถที่ AMG ต้องนำรถของเบนซ์มาโมดิฟายต่อ ในขณะที่ C 36 นี้ คุณเดินเข้าไปซื้อ ณ โชว์รูมเบนซ์ได้เลย โดยรถที่เป็นรถ AMG แท้นับแต่ปี 1993 เป็นต้นมา จะมีตัวเลขรุ่นสองหลัก เช่น C 36 หรือ E 60 ในขณะที่รถเบนซ์ทั่วไปใส่พาร์ตAMG เอาฮา จะยังมีเลขสามหลักอยู่

...

ความสัมพันธ์นี้ตัดไม่ขาด AMG กลายเป็น “Motorsport Arm” ชั้นดีให้กับ Mercedes-Benz มาตลอด จนในปี 2005 ก็ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกิจการ Daimler-Chrysler ในสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันก็คือ Daimler AG

วิธีการสร้าง C 36 ก็คือ เบนซ์จะเริ่มต้นด้วยการไปเอา C-Class รุ่น C 280 เครื่องหกสูบเรียงใน Trim การตกแต่งแบบ Sport มาโดยไม่มีเครื่องยนต์ ทาง AMG จะไปใช้เครื่องยนต์ 3.2 ลิตรที่ปกติจะวางอยู่ใน E 320 มาใช้ จากนั้นตัวเครื่องก็จะถูกโมดิฟายโดยการคว้านเสื้อสูบ ให้มีขนาดปากกระบอกสูบกว้างขึ้นเล็กน้อย จาก 89.9 เป็น 91 มม. และเปลี่ยนเพลาข้อเหวี่ยง เพิ่มระยะช่วงชักจาก 84 เป็น 92.4 มม. ทำให้เปลี่ยนสถานะจากการเป็นเครื่องปากกว้างชักสั้น เป็นเครื่องประเภทชักยาวที่ขนาดความจุแต่ละกระบอกคือ 0.6 ลิตร ไอ้ข้อเหวี่ยงของ C 36 นี้ มันก็คือข้อเหวี่ยงจากเครื่องยนต์ดีเซลหกสูบ 3.5 ลิตร OM 605 D 35 ของเบนซ์เอง แต่มากลึงเอา Counterweight ออกหน่อย และปรับแต่งบาลานซ์ใหม่หมด ไม่ได้ยกมาแล้วเสียบเลย ส่วนระบบเบรก ด้านหน้า ก็ไปเอาของ SL 600 R 129 โรดสเตอร์ V12 มา เบรกหลังก็ไปใช้ของ E 420 V8 ตัวถัง W124 ซึ่งแน่นอนว่า เบรกระดับนี้ เคยรับใช้รถหนัก 2 ตันมาแล้ว เจอรถหนัก 1.5 ตันอย่าง C 36 ย่อมสบายหายห่วง

ถ้าคุณคิดจะซื้อ C 36 มาใช้ ไม่ว่ารถแท้หรือทำ เช็กเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีเถอะครับ เพราะหน้าตาเครื่องเหมือน E 320 แต่ไส้ในต่างกันหลายจุดมาก ปะเก็นฝาสูบใช้ร่วมกันไม่ได้ ลูกสูบของ C 36 สร้างมาเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับแบริ่งเพลาข้อเหวี่ยง เครื่อง M104 นี่มีหัวฉีดน้ำมันเครื่องใต้ลูกสูบด้วย และในกรณีของ C 36 ตัวหัวฉีดนี้ก็ต้องปรับลดระดับเพื่อหลบลูกสูบที่ระยะชักยาวขึ้น ฝาสูบก็ไม่เหมือนเครื่อง 320 นัก เพราะพอร์ทไอดี/ไอเสีย C 36 โตกว่า ขนาดท่อทางเดินอากาศจากกรองมาชุดท่อไอดีก็ไม่เท่ากัน แต่ผลจากการปรับปรุงทั้งหมด ก็ทำให้เครื่อง M104 ในเวอร์ชัน 3.6 ลิตรนี้ มีแรงม้ามากถึง 280 แรงม้า ที่ 5,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตรตั้งแต่ 4,000-4,750 รอบต่อนาที

...

ไม่ได้เยอะนักหรอก..ถ้าคุณเทียบกับยุคที่ใครๆ ก็สามารถซื้อ All-new D-Max 1.9 ในราคาฉันมิตรแล้วลงเงินอีกห้าหมื่นเจ็ดหมื่นก็เป็นเจ้าของรถ 300 ม้าได้..แต่ในปี 1993 น่ะ Isuzu Faster Z 2500Di โคตรของพ่อของพ่อของน้องออลนิวน่ะ ยังมีม้าแค่ 90 ตัว เบนซ์ในตลาดหลักเมืองไทยน่ะม้าเกิน 200 ก็คุยได้ไปเป็นเดือนแล้ว ดังนั้น 280 แรงม้าในปี 1993 นี่ไม่มีใครบอกว่าธรรมดาหรอกครับ พละกำลังของเครื่องตัวนี้ สูสีกับเครื่องยนต์ VQ35DE ของ Nissan 350Z ที่เปิดตัว 10 ปีให้หลังด้วยซ้ำไป บอกแล้วว่า AMG เนี่ย..ถ้ากระจอก เบนซ์คงไม่จับมาทำเพื่อนหรอกครับ

...

ช่วงล่างของ C 36 ก็ถูกปรับจูนให้แข็งขึ้นกว่า C 280 SPORT อีกประมาณ 20% แต่ยังคงแนวทางให้เป็นรถที่มีบาลานซ์ระหว่างการขับขี่ที่สนุก และการใช้งานที่สบาย ดังนั้น C 36 ช่วงล่างเดิมๆ ก็จะเป็นรถแบบที่ขับทางไกลเร็วๆ แล้วนิ่งมาก ยิงโค้งเอาฮาก็พอได้ แต่ถ้าขับในสนามแข่งอย่างซีเรียสมาก ตัวรถก็จะยังมีอาการยวบเยอะตามสไตล์เบนซ์ยุคเก่าที่ Stroke ช่วงล่างยาวให้เห็น ระบบส่งกำลังที่มาจากโรงงาน ยังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ซึ่งไม่ว่าเอกสาร PR ของ AMG จะเขียนไว้ดูเพริดพริ้งยังไง ในความเป็นจริงการทำงานของเกียร์ 4 สปีดเบนซ์ยุคนั้น..ซึ่งก็คือเกียร์ 722.4 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1981 ยังไงก็ไม่นุ่ม ไม่แสนรู้ ไม่ตอบสนองไวแบบรถญี่ปุ่นที่เป็นเกียร์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ครับ ต่อให้ในช่วงปีท้ายๆ ของ C 36 จะมีเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีดโผล่มา รุ่นนี้เป็นที่ต้องการมากกว่า และวิ่งทางไกลประหยัดกว่า แต่การทำงานของเกียร์ยังติดนิสัยลุงอยู่ดีครับ

C 36 นี้ จะมีแต่เกียร์อัตโนมัติเท่านั้น ในขณะที่คู่แข่งอย่าง M3 E 36 มีเกียร์ธรรมดา 5 และ 6 จังหวะ ดังนั้นกลุ่มลูกค้าที่เลือกรถเหล่านี้ก็จะต่างกัน หากเทียบวัดความสำเร็จจากยอดขาย BMW ขาย M3 E36 ทุกบอดี้ได้ราว 70,000 คัน ในขณะที่ C 36 นั้น ต่อให้รวมยอดกับ C 43 V8 ที่เป็นเวอร์ชันปรับปรุงไมเนอร์เชนจ์แล้ว ก็ยังไม่ถึง 10,000 คันเลย Mercedes-Benz และ AMG สร้าง C 36 ออกมาบนโลกใบนี้ทั้งสิ้นประมาณ 5,200 คัน ซึ่งนั่นคือยอดผลิตระหว่างปี 1993-1997 นะครับ ส่วน C 43 ที่มาแทน ขายได้น้อยกว่านั้นอีก ยอดขาย D-Max ในประเทศไทยเพียงเวลาเดือนเดียวยังมากกว่านี้สองเท่าเลย ซึ่งนักเขียนสายรถยนต์บางเจ้าเขาจะบอกว่า C 36 นี้ ไม่ใช่โมเดลที่ประสบความสำเร็จ และไม่นับเป็น AMG แท้..ผมก็งงๆกับเขาว่า ถ้ามองว่ายอดขายน้อย อันนี้พอได้ แต่ถ้าบอกว่าไม่ใช่ Official-AMG อันนี้ผมก็งงนิดหน่อยครับในเมื่อรอยนิ้วมือของ AMG ก็มีอยู่ทั่วทั้งคัน ตั้งแต่ล้อ เครื่องยนต์ ไปจนถึงช่วงล่าง ก็มันเป็นรถที่เบนซ์ต้องขนส่งบอดี้ไปให้ AMG แต่งกับวางเครื่อง จะไม่เป็น Official-AMG ได้ยังไงกัน C 43 V8 นู่นปะไร ทุกคนบอกว่าเป็น AMG แท้ แต่สร้างที่โรงงานของเบนซ์ตั้งแต่ต้นยันจบ

...

ในการขับ C 36 ซึ่งผมเคยมีโอกาสขับรถไม่แท้แต่ทำมาเนียนเมื่อสมัยเข้าวงการสื่อรถยนต์ใหม่ๆ สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของ C 36 ก็คือ ความแรงแบบไม่ค่อยตะโกนบอกชาวบ้านชาวช่องของมัน อัตราเร่ง 0-100 อาจจะไม่ได้เร็วไปกว่ารถยุโรป 2.0 ลิตรเทอร์โบสมัยนี้ แต่ด้วยความเป็นเครื่องหายใจตามแรงดันบรรยากาศ ไม่มีเทอร์โบ และคันที่ผมขับเป็นเกียร์ 4 จังหวะทดยาวๆ เวลากระแทกคันเร่ง แทนที่เราจะได้สัมผัสความแรงแบบหลังติดเบาะ ก็กลับได้รสชาติแบบที่ไม่ได้ชวนตื่นตระหนกขนาดนั้น C 36 เป็นเบนซ์ที่มาพร้อมกับระบบแทร็คชั่นคอนโทรลรุ่นเก่าของทางค่าย ซึ่งยังทำงานไม่แม่นเท่าพวกรถรุ่นใหม่ กระทืบออกตัวยังมีล้อฟรีให้รู้สึก แต่ตัวรถเอียงไม่มาก แรงดึงสูงสุดจะมาแค่ตรงนั้น ส่วนที่เหลือไป เป็นการดึงแบบต่อเนื่องเบาๆ แต่พลังไม่ลดน้อยถอยลงแม้จะเริ่มความเร็วสูง เสียงเครื่อง 6 สูบกับพัดลมฟรีเบลดชวนให้นึกถึง E 280 ของเพื่อนที่ผมชอบขยี้เล่นประจำ แค่กังวานกว่า และทุ้มกว่า เมื่อเกียร์สองจบลง เราก็วิ่งเกือบ 130 กม./ชม. และสุดเกียร์สามก็ปาเข้าไป 180 กม./ชม. แทนที่จะน่ากลัวและข่มขวัญผู้ขับ เครื่อง 3.6 ลิตร AMG บล็อกนี้ จะชวนให้คุณเหยียบคันเร่งส่งมันไปเรื่อยๆ และมอบพลังให้คุณใช้ไปจนทะลุ 200 กม./ชม. ที่เกียร์ 4 ได้สบาย

C 36 คันนั้นละครับคือรถคันแรกที่ผมขับใช้ความเร็วทะลุ 250 กม./ชม. เป็นครั้งแรกในชีวิต เจ้าของรถบอกว่าคันนั้นได้กล่อง Performance Pack ที่ปลดล็อก 250 มาด้วย และเคยพามันไปวิ่งกินลมแถว 270 กม./ชม. มาแล้ว ผมขอกับทางเจ้าของรถว่าอยากลองวิ่ง 270 บ้าง เจ้าของรถบอกอย่างสุภาพโดยกล่าวถึงพ่อผมเบาๆแล้วบอกว่า “เอ็งไปซื้อของเอ็งมาขับเองนะ” ส่วนวิ่งที่ไหนแช่ยาวได้ระดับนั้น ผมไม่บอกละกัน ผมว่าบางท่านทราบแล้วละว่าที่ไหนทำได้

บุคลิกของรถ C 36 ต่างจากเบนซ์ AMG สมัยนี้มาก AMG ตัวเล็กรสเผ็ดของทุกวันนี้ แข็งกระด้างนัก ไวจนบางทีก็รู้สึกตอบสนองห้าวเกิน แต่เวลาขับในสนามแข่ง คม ตอบสนองตามมือเท้าสั่ง ดุดันสุดติ่ง แต่รถซิ่งรุ่นลุงอย่าง C 36 เวลาขับแบบเหมือนรถแข่ง ออกจะรู้สึกอุ้ยอ้ายนิดๆ ช่วงล่างยวบโยนไปบ้าง แต่บนทางด่วน หรือวิ่งมอเตอร์เวย์ แม้กระทั่งขับในซอย ก็รู้สึกนุ่มสบายก้นดีแท้ AMG Car ในยุคนั้นน่ะ นุ่มสบายกว่าเบนซ์ A200 บ้านๆ ของทุกวันนี้อีกครับ

พูดถึง AMG และ Mercedes-Benz ก่อนจะจากลากันก็จะเรียนแจ้งว่า ความแน่นแฟ้นของ Mercedes-Benz และ AMG ในวงมอเตอร์สปอร์ตเยอรมันอย่างรายการ DTM ทำให้มีแชมป์ฝีมือฉกาจโผล่มาในยุค 90s มากมาย นักแข่งอย่างคุณ Bernd Schneider ก็เคยใช้ C-Class W202 DTM ที่ใช้เครื่องแรงกว่า C 36 มากมาย ลงแข่งกวาดแชมป์ในเยอรมนีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และในช่วงปลายเดือนนี้ ทาง Mercedes-Benz Thailand จะมีการจัดกิจกรรมที่สนาม Chang International Circuit จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะมีทั้งกิจกรรมของ AMG Experience on Track และการมีตติ้งของคนรัก Mercedes-Benz แชมป์ DTM 5 สมัย หน้าตาหวานสุภาพแต่ขับโหดราวเสือดาวหิวอย่าง Bernd Schneider ก็ถูกเชิญมาร่วมงานนี้ด้วย ใครสนใจ ลองไปส่อง Facebook Mercedes-Benz Thailand ดูนะครับ.

Pan Paitoonpong