ดวงอาทิตย์เพิ่งจะโผล่พ้นขอบฟ้าไปได้ไม่นั้นนักในเมืองมันน์ไฮม์ ประเทศเยอรมนี เบอร์ธา เบนซ์ ลุกจากที่นอน ในขณะที่ คาร์ล เบนซ์ นักประดิษฐ์ผู้ที่เป็นสามีของเบอร์ธากำลังหลับสนิทอยู่ข้างๆ คาร์ล เบนซ์ ใช้เวลานานหลายปี เพื่อทุ่มเทให้กับการสร้างยานพาหนะคันแรกของโลก ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน จนในที่สุด คาร์ล เบนซ์ ก็ได้ประดิษฐ์รถสามล้อที่มีชื่อว่า Benz Patent Motorwagen No.3 ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ยังไม่สามารถนำสุดยอดสิ่งประดิษฐ์นี้เข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างจริงจัง การทดลองขับที่ล้มเหลวถึงสองครั้ง ทำให้ คาร์ล เบนซ์ เริ่มไม่มั่นใจในผลงานของตนเอง และเขาก็ไม่ใช่คนที่มีหัวทางธุรกิจดีอีกตะหาก

Karl Benz

...

Bertha Benz

Benz Patent Motorwagen No.3 

แต่ผู้หญิงที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงอย่าง เบอร์ธา เบนซ์ ไม่ได้ลังเลเหมือนสามีของเธอ เพราะเธอคิดว่ารถที่แล่นได้ด้วยน้ำมันคันนี้จะต้องกลายเป็นดาวเด่นอย่างแน่นอน และถึงเวลาแล้วที่ผู้คนทั่วโลกจะได้สัมผัสและใช้ประโยชน์จากรถยนต์กันเสียที เธอและลูกชายวัยรุ่นอีกสองคน แอบย่องเข้าไปในโรงรถ ในขณะที่ คาร์ล เบนซ์ ยังคงนอนหลับอยู่ แล้วรถสามล้อคันแรกของโลกก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกมาจากโรงรถ แล้ววิ่งไปบนถนนลูกรังของเยอรมนี ในวันที่ 5 สิงหาคม 1885 โดยมี เบอร์ธา เบนซ์ เป็นคนขับ และลูกชายทั้งคู่นั่งอยู่ข้างๆ Benz Patent Motorwagen ใช้เครื่องยนต์สูบเดียวแบบ Single-Cylinder Engine มีความจุ 954 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงด้วย Evaporative Carburetor มีกำลังสูงสุด 0.75 แรงม้า ที่ 400 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ Single-Speed Transmission Lever-Actuated, ระบบเบรก Mechanical Rear Brakes ช่วงล่างหน้า Rigid Suspension ช่วงล่างหลัง Elliptical Leaf-Spring Suspension น้ำหนักรถทั้งคันประมาณ 100 กิโลกรัม 

แผนการของเบอร์ธา นับว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เป้าหมายของเธอก็คือ การขับทดสอบสมรรถนะของรถ ด้วยการขับเป็นระยะทางไกลถึง 100 กิโลเมตร เพื่อไปเยี่ยมพ่อและแม่ในเมืองฟอร์ซไฮม์ ในตอนนั้นสิ่งประดิษฐ์ของ คาร์ล เบนซ์ ผ่านการทดลองขับเพียงไม่กี่กิโลเมตร เบอร์ธาเองก็เชื่อมั่นว่ารถคันนี้ต้องทำได้มากกว่าการวิ่งในระยะทางสั้นๆ แต่ความเชื่อมั่นของเบอร์ธากลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เธอคิดเอาไว้ 

...

บททดสอบแรกมาถึง เมื่อรถ Patent Motorwagen No.3 เชื้อเพลิงหมดที่ระยะทาง 50 กิโลเมตร เธอตั้งสติแล้วหยุดรถหน้าร้านขายยาแห่งหนึ่งในย่านนั้น เพื่อเติมลิโกรอิน หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า ปิโตรเลียมอีเธอร์ หลังจากนั้นท่อระบายไอเสียก็มีทีท่าว่าจะขาดออกจากกันและส่งไอร้อนขึ้นมาจนนั่งแทบไม่ได้ แต่โชคดีที่เบอร์ธาเองก็มีหัวทางวิศวกรอยู่บ้าง เนื่องจากเคยช่วยเหลือสามีในการประกอบเครื่องจักรกลอยู่บ่อยครั้ง เธอดึงเอาถุงน่องของตัวเองออกมา แล้วเอามาพันรอบๆ ท่อไอเสียเพื่อทำเป็นฉนวนป้องกันความร้อน เบอร์ธาเองก็ยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่คิดค้นระบบเบรกของรถ เพราะเธอเป็นคนบอกให้ช่างทำรองเท้า เปลี่ยนเอาพื้นรองเท้ามาแทนแป้นเหยียบเบรกที่ทำจากไม้และกำลังใกล้พังเต็มทนในระหว่างเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังเมืองฟอรซ์ไฮม์

...

ความตั้งใจและความเชื่อมั่นในสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคของสามี ทำให้ภารกิจการขับรถยนต์ทดสอบระยะทางไกลเป็นครั้งแรกของโลกประสบผลสำเร็จ เบอร์ธาเดินทางไปถึงบ้านของพ่อและแม่พร้อมลูกชายทั้งสองคนที่โดยสารมาด้วย ความพยายามในการขับทดสอบครั้งแรกในระยะทาง 100 กิโลเมตร สิ้นสุดลงที่หน้าบ้านหลังจากดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า โดยมีพ่อและแม่ของเบอร์ธาออกมายืนดูด้วยความประหลาดใจ 

ข่าวผู้หญิงคนแรกของโลกขับเครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการเดินทางแทนม้าสะพัดไปทั่วยุโรป คนเยอรมันเองก็ไม่เคยเห็นผู้หญิงขับรถวิ่งอยู่บนเส้นทางรถม้ามาก่อน ผู้ที่เห็นเหตุการณ์บางคนถึงกับเอาข่าวการเดินทางอันน่าเหลือเชื่อนี้ไปป่าวประกาศจนทั่ว การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ บรรลุเป้าหมายตามที่เบอร์ธาได้วางแผนเอาไว้ สิ่งประดิษฐ์นี้จะกลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไปทั่ว หลังจากนั้นโรงรถเล็กๆ ของคาร์ล เบนซ์ ก็กลายเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พรีเมียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคนงาน 400 คน และสามารถขายรถยนต์ในปีแรกที่เข้าสู่สายการผลิตได้มากถึง 600 คัน

...

Benz Patent-Motorwagen ผลิตในปี ค.ศ.1886 ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นรถยนต์คันแรก กล่าวคือ เป็นพาหนะซึ่งออกแบบมาให้ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ราคาเดิมของพาหนะใน ค.ศ.1885 อยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ พาหนะดังกล่าวได้รับสิทธิบัตรของเยอรมนี หมายเลข 37435 ซึ่ง คาร์ล เบนซ์ ขอจดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ.1886 หลังจากนั้น คาร์ล เบนซ์ เปิดตัวประดิษฐกรรมของเขาต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1886 บนถนนริงชตราเซอในมันไฮม์ ประเทศเยอรมนี

หลังจากเครื่องยนต์สันดาปภายในของ คาร์ล เบนซ์ ประสบความสำเร็จ พวกมันถูกนำไปต่อยอด และกลายเป็นเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการขับเคลื่อนรถ เรือ รถไฟ หรือแม้แต่เครื่องบินในเวลาต่อมา ช่วยทำให้ผู้คนทั่วโลกเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายยิ่งขึ้น.

เอกสารอ้างอิงจาก
นิตยสารวิทยาศาสตร์ science illustrated

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-5253692475053