ปี พ.ศ.2521 (ค.ศ.1978) เป็นห้วงเวลาที่รถยนต์เริ่มแพร่หลายไปทั่วในประเทศไทย โดยเฉพาะรถยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Alfa Romeo / BMW / Mercedes Benz / Audi / Volvo รวมถึงรถอเมริกันคันโตก็ยังได้รับความนิยมไม่น้อย รถยนต์ในยุคนั้นไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์รกรุงรังเหมือนรถยนต์สมัยใหม่ในทุกวันนี้ ความเรียบง่ายของเครื่องยนต์กลไกและชุดส่งกำลังทำให้เกิดความคงทน ไม่พังกันง่ายๆ ส่วนรถญี่ปุ่นที่ครองตลาดในประเทศไทยมาช้านาน ก็มีการปรับปรุงในด้านของความหรูหราสะดวกสบาย กลายเป็นยานพาหนะที่มีราคาไม่แพง สามารถใช้เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก มากกว่าการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่มักจะอัดกันเป็นปลากระป๋อง จากจำนวนรถประจำทางที่มีอยู่ไม่มาก

เกือบสี่สิบปีก่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเติบโตขึ้นพอสมควร แต่ไม่ได้เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ในยุคนั้นยังมีการปรับสัดส่วนการผลิตรถยนต์ในประเทศร้อยละ 50 สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และร้อยละ 40 สำหรับรถบรรทุกทั้งเล็กและใหญ่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลในห้วงเวลานั้นต้องการให้อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ในไทยรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จึงมีการประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ! ทำให้บริษัทผู้ประกอบการยานยนต์ต้องลดจำนวนรุ่นของรถยนต์ที่ออกขายจาก 84 รุ่น เหลือแค่ 42 รุ่น ด้วยนโยบายกระตุ้นการผลิตรถยนต์ในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเติบโต และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตำนานรถซิ่งเดอะพาเลซ เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางยุค 1980 หลังจากดิสโก้เธคใหญ่สุดในกรุงเทพฯ เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2526 จนถึงคืนวันสุดท้ายที่ต้องปิดตัวเองลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 วัยรุ่นนักเที่ยวในยุคนั้นนอกจากจะชอบเที่ยวดิสโก้เธคในคืนวันหยุดสุดสัปดาห์แล้ว ยังชอบนำรถของตัวเองมาตกแต่งเพิ่มความแรงของเครื่องยนต์ โดยมีการแข่งขันในช่วงดึกของวันศุกร์และวันเสาร์ ตั้งแต่สะพานลอยสุทธิสารจนถึงแยกลาดพร้าว กลายเป็นสนามแข่งวิภาวดีเซอร์กิตที่ต้องซิ่งหนีตำรวจกันหูตาแตก

...

วิภาวดี เซอร์กิต กลายเป็นที่ประลองความเร็วของเหล่าวัยแรงที่รักความเร็วในยุคนั้น และนี่คือการขุดกระดูกรถซิ่งโบราณและรถวัยรุ่นในยุคดิสโก้เฟื่องฟู... 

Toyota Corolla 1200
สามห่วงทนหายห่วงรุ่นนี้มีตัวถังให้เลือกสามรูปแบบ เช่น 4 ประตูซีดาน 2 ประตูฮาร์ดท็อป และสเตชั่นแวกอน 5 ประตู เครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 4 สูบ แคมเดี่ยว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปริมาตรความจุ 1,166 ซีซี กำลังสูงสุดแค่ 55 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 8.4 กิโลกรัม/เมตร หรือ 82 นิวตันเมตร ที่ 3,800 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยว ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด ระบบห้ามล้อแบบหน้าดิสก์หลังดรัมเช่นเดิม ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง ความเร็วสูงสุดของ Toyota Corolla 1200 รุ่นตัวถังซีดาน ทำได้ 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รุ่น 2 ประตู 158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรุ่นแวกอน 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนน้ำหนักตัวในรุ่นซีดานอยู่ที่ 840 กิโลกรัม รุ่น 2 ประตู 810 กิโลกรัม รุ่นแวกอน 850 กิโลกรัม

Toyota Corona 1600
ซีดานสามห่วงไฟท้ายสองชั้นต้นตระกูลของ Camry รุ่นนี้มาพร้อมเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร หรือ 1,587 ซีซี กำลังสูงสุดแค่ 90 แรงม้า ในรอบเครื่องยนต์ 5,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 11.6 กิโลกรัม/เมตร หรือ 113 นิวตันเมตร ที่ 3,000 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด (รุ่น 1800 ใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีด) ห้ามล้อใช้เบรกหน้าแบบดิสก์เบรก ส่วนเบรกหลังเป็นแบบดรัมเบรก ตัวหนักโคตรๆ ถึง 1,450 กิโลกรัม ทำให้วิ่งไม่ค่อยเร็วเท่าที่ควร

Corolla KE70
DX กะเทย คือสรรพนานโบราณที่นักเลงรถรุ่นลายครามใช้เรียก Corolla KE70 ซึ่งเป็นรุ่นที่เคยได้รับความนิยมสำหรับขาซิ่งในประเทศไทยช่วงปี 1980 Toyota Corolla DX ในยุคนั้นใช้รหัสตัวถัง KE70 มีทั้งแบบ 4 ประตูซีดาน 5 ประตูสเตชั่นแวกอน 3 ประตูแฮตช์แบ็ก และ 2 ประตูคูเป้ รุ่น 4 ประตู ซีดานนั้นกลุ่มนักเลงรถรวมถึงขาซิ่งนิยมเรียกกันว่า DX แท็กซี่ จากจำนวนของรถรุ่นนี้ที่แพร่หลายจนกลายเป็นรถยอดนิยมตลอดกาล ส่วนรุ่น 2 ประตูกลายเป็นรถที่วัยรุ่นในยุคดิสโก้ฝันถึงกันเกือบทุกคน รุ่นไมเนอร์เชนจ์เปลี่ยนไฟหน้าจากไฟกลมมาเป็นไฟหน้าทรงเหลี่ยมเล็กๆ เครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 4 สูบ ความจุ 1,300 ซีซี. กำลัง 75 แรงม้า เครื่องยนต์สำหรับรถรุ่นนี้เป็นที่รู้กันดีว่า โคตรทน ถลุงกันเป็นล้านกิโลเมตรก็ไม่ยอมลากลับญี่ปุ่น รถพังไปแล้วแต่เครื่องยังคงอยู่!!! พี่แท็กซี่บางคันวิ่งกันจนหลุดเป็นชิ้นๆ กระพือทั้งคันก็ยังวิ่งรับส่งผู้โดยสารกันได้สบายใจเฉิบ ช่วงล่างแมคเฟอร์สัน คอยล์สปริง ทั้งหน้าและหลังเป็น Corolla รุ่นแรกที่โยนแหนบหลังทิ้งทำให้ขับได้อย่างนุ่มนวลชวนฝัน เครื่องยนต์ของ Toyota Corolla KE70 เป็นเครื่องเบนซินแถวเรียง 4 สูบ มี 4 รุ่น คือ

...

4K 4 สูบ OHV 1,290 ซีซี 72 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที

3A 4 สูบ OHC 1,452 ซีซี 80 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.8 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที

13T 4 สูบ OHV 1,770 ซีซี 95 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม. ที่ 3,800 รอบต่อนาที

2T-GE 4 สูบ ทวินแคม 8 วาล์ว EFI 1,600 ซีซี 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 และ 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด

Mitsubishi Colt Lancer GL
เต็นท์รถเก่าในไทยชอบเรียกเจ้า Colt Lancer GL ว่า โฉมไฟแอล เนื่องจากไฟท้ายรถมีลักษณะเหมือนตัว L ในด้านซ้าย และ L กลับข้างในด้านขวา (ตัว L กลับหน้ากลับหลังเข้าหากัน) ถือเป็นรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จในวงการแข่งขันแรลลี่ โดยมีการผลิตรถรุ่นนี้มากถึง 12 โมเดล ตั้งแต่โมเดลมาตรฐานเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี ไปจนถึงรุ่นสปอร์ตแรลลี่ เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี GSR ตัวถังมีให้เลือกใช้ 3 แบบ คือ Coupe 2 ประตู, Sedan 4 ประตู และ Station wagon 5 ประตู เครื่องยนต์ของเจ้าไฟแอลวางเครื่องเบนซินแถวเรียง 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป ปริมาตรความจุ 1,439 ซีซี กำลังสูงสุด 92 แรงม้า ที่ 6,300 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กิโลกรัม/เมตร หรือ 122 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ระบบเกียร์ใช้เกียร์ธรรมดาแบบ 4 สปีด รุ่นหลังๆ มีการปรับเกียร์มาเป็นแบบ 5 สปีด อัตราเร่งของ Colt Lancer GL จาก 0-100 ใน 14.6 วินาที ความเร็วปลายทำได้ 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

...

Mitsubishi galant sigma 2000
ซีดานอมตะจากแดนปลาดิบ หมอนี่คือ Mitsubishi galant sigma 2000 รุ่นท็อปสุด เครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง แคมเดี่ยว ปริมาตรความจุ 1,995 ซีซี กำลังสูงสุด 115 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 17.0 กิโลกรัม/เมตร หรือ 166 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ตัวเดียว เครื่องยนต์วางตามยาวพร้อมกลไกการขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง เกียร์มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด กับเกียร์ออโต้ 3 สปีด อัตราเร่งจาก 0-100 ใน 13.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เจ้า galant sigma 2000 เป็นรถครอบครัวที่ขายดิบขายดีในปี พ.ศ.2522 จากสมรรถนะของการขับขี่และรูปทรงที่สวยงามลงตัว

...

Datsun Stanza Coupe
ความหล่อของ Stanza Coupe ทำให้มันได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบรถสปอร์ต ในยุคเฟื่องฟู คุณสามารถเห็นเจ้า Stanza Coupe เฉิดฉายอยู่แถวไทยไดมารู หรือสยามสแควร์ ทรงแบบสปอร์ตที่โดนใจผู้คน ยังมีการขับขี่ที่ดีอีกด้วย Datsun Stanza Coupe วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ แคมเดี่ยว 1.6 ลิตร ความจุ 1,595 ซีซี กำลังสูงสุดจัดมาให้ 100 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 13.5 กิโลกรัม/เมตร หรือ 132 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์แค่ตัวเดียว ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด พร้อมกลไกการขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง สมรรถนะเร่งจาก 0-100 ใน 11.9 วินาที ความเร็วปลายทะลุ 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักตัวถังแค่ 905 กิโลกรัม ไม่ได้สร้างภารกรรมให้กับเครื่องยนต์ตัวเล็กมากนัก ทำให้รถรุ่นนี้วิ่งฉิวดีจริงๆ

Datsun Sunny 4 Door B310
ยานพาหนะหน้าตาบ้านๆ คันนี้มีดีที่ยอดขาย เจ้า Datsun Sunny 4 Door รหัสตัวถัง B310 ออกขายในไทยเมื่อปี พ.ศ.2522 หรือ ค.ศ.1979 วางเครื่องยนต์ตัวเล็กกระจิ๊ดริดแบบ 4 สูบเบนซิน ปริมาตรความจุ 1.2 ลิตร หรือ 1,171 ซีซี กำลังสูงสุดแค่ 79 แรงม้า พออาศัยขับไปจ่ายกับข้าว หรือส่งลูกๆ ไปโรงเรียน แรงบิด 9.7 กิโลกรัม/เมตร หรือ 95 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยว ระบบเกียร์ใช้เกียร์ธรรมดาแบบ 4 สปีด ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง อัตราเร่ง 0-100 ใน 14.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักตัวแค่ 810 กิโลกรัม ทำให้ Datsun Sunny 4 Door เป็นรถที่เบามากในยุคนั้น

Isuzu Gemini Coupe
เจ้าแห่งรถปิกอัพในปัจจุบันนั้นก็เคยผลิตรถสปอร์ตที่ใช้งานได้ดี หมอนี่คือ Isuzu Gemini Coupe สปอร์ตคาร์คันเล็กที่เคยได้รับความนิยมไม่ใช่น้อยในช่วงปี พ.ศ.2521 เครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป ความจุจิ๋มๆ แค่ 1,584 ซีซี แต่มีเรี่ยวแรงพอตัวที่ 100 แรงม้า ในย่าน 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 14.0 กิโลกรัม/เมตร หรือ 137 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยวแบบท่อคู่ ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 สปีด บนกลไกการขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง อัตราเร่งของ Isuzu Gemini Coupe จาก 0-100 ใน 12.1 วินาที เร็วเอาเรื่องในยุคนั้น ส่วนความเร็วท็อปสปีดทำได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถสปอร์ตราคาถูกที่มีประสิทธิภาพดีอีกคันในวงการ และเป็นรถของคนเบี้ยน้อยหอยน้อยที่มีเงินไม่มากแต่อยากขับรถสปอร์ต เอาไปแต่งแบบซิ่งก็หล่อใช้ได้ แถมยังอึดไม่พังง่ายๆ อีกด้วย

Mazda 323
แฮตช์แบ็ก 5 ประตูตัวเล็กในเจเนอเรชั่นที่ 3 นั้น แพร่หลายอย่างมากในช่วงปี พ.ศ.2521 นี่คือรถเล็กรุ่น 323 จากแบรนด์ Mazda เป็นรถราคาไม่แพง แถมยังมีประสิทธิภาพพอตัว เอาไปแต่งเสริมความหล่อก็ยังดูดี เป็นรถยนต์ที่ผมใช้หัดขับเป็นครั้งแรกแล้วก็ชน จากความไม่เป็นมวย หรือไม่เคยขับรถมาก่อน เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียง ความจุ 1.3 ลิตร หรือ 1,272 ซีซี กำลังสูงสุดทำได้ 72 แรงม้า ที่ 5,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กิโลกรัม/เมตร หรือ 102 นิวตันเมตร ที่ 3,500 รอบต่อนาที ระบบเกียร์ใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด ระบบห้ามล้อหน้าดิสก์หลังดรัม อัตราเร่ง 0-100 ใน 15.7 วินาที ความเร็วปลายพอท้วมๆ แค่ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Mazda 626
นี่คือซีดาน 4 ประตูที่เคยวิ่งกันให้เกลื่อนถนนในกรุงเทพฯ เจ้า Mazda 626 เป็นรถซีดานไซส์กลางในอดีตที่ได้รับความนิยมใช้ได้ มันวางเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร ความจุ 1,586 ซีซี กำลัง 90 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 13 กิโลกรัม/เมตร หรือ 127 นิวตันเมตร ที่ 3,500 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยวโดดๆ แบบท่อคู่ เกียร์ธรรมดา 5 สปีดในรุ่นประหยัดกับเกียร์ออโต้ 3 สปีดในรุ่นท็อปสุด ระบบขับเคลื่อนยังใช้การขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง เบรกเป็นแบบหน้าดิสก์หลังดรัม อัตราเร่ง 0-100 ใน 14.1 วินาที อืดเป็นเรือเกลือถ้าเทียบกับ Skyactiv ในปัจจุบัน ความเร็วปลายทำได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่กว่าจะถึงก็นานแสนนานจนรำคาญกันเลยทีเดียว

Mazda 929 Hardtop
สปอร์ตคูเป้สุดสวยในอดีตคันนี้วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียง แคมเดี่ยวแบบซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ตัวเดียวโดดๆ แรงม้าสูงสุดทำได้ 100 ตัวที่ 6,000 รอบต่อนาที ส่วนแรงบิดไม่ใช่เล่นๆ จัดเต็มถึง 15.2 กิโลกรัม/เมตร หรือ 149 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด ล้อขอบ 13 นิ้วไม่ใหญ่ ทำให้วิ่งใจขาด อัตราเร่ง 0-100 ใน 11.2 วินาที ท็อปสปีดทำได้ 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Mazda RX-7 FB 
เครื่องยนต์โรตารี่ และรุ่น RX นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนในวงการยานยนต์เกิดการจดจำ จาก RX-2 รุ่นแรกสุดในปี 1970 มาจนถึง RX-7 รหัส FB ซึ่งถูกส่งออกขายในปี 1978 ปัจจุบัน เจ้า FB ผู้น่าสงสารถูกทิ้งให้นอนอย่างอ้างว้างเดียวดายในโกดัง RX-7 FB จาก Mazda เป็นรถสปอร์ตคูเป้ที่ถูกสนิมกินได้ง่าย มูลค่าขายต่อแทบไม่หลงเหลือราคาค่าตัวรถเก่าคลาสสิก เจ้าของส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะจอดมันทิ้งเอาไว้จนผุกร่อนสนิมรับประทานทั้งคันมากกว่าจะนำมาบูรณะปรับปรุง ขนาดที่เล็กกะทัดรัดของตัวถัง ย้อนไปไกลถึงสัดส่วนอันงดงามของสปอร์ตคาร์จากฝั่งยุโรป ด้านหน้าที่ลาดต่ำ ไฟหน้าแบบป๊อปอัพทำออกมาคล้ายกับ Porsche 924 ซึ่งเป็นรถสปอร์ตจากเยอรมนีที่ Mazda ใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบเรือนร่าง ห้องโดยสารเล็กและแคบ เบาะนั่งต่ำราวกับรถแข่ง พวงมาลัยสามก้านแบบสปอร์ต และมาตรวัดที่สวยงามในยุคสมัยของมัน ก้านคันเกียร์สั้นกุดและคันเบรกมือหน้าตาแปลกประหลาด เจ้า RX-7 รหัส FB วางเครื่องยนต์สูบหมุนโรตารี่แบบ 12A Twin-Rotor 573 c.c.x2 มีกำลังแรงม้าสูงสุด 128 ตัว ในย่าน 7,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 161 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังวางเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ส่งกำลังจากเครื่องลงไปยังเกียร์ถ่ายไปที่เพลากลางจนไปถึงเฟืองท้ายในรูปแบบขับหลัง

Mazda 323 Astina POP-UP
Mazda 323 หรือที่นักเลงรถซิ่งเรียกขานกันว่า ติ้นา รุ่นไฟ POP-UP สำหรับ 323  Astina เจเนอเรชั่นแรกใช้รหัสตัวถัง BG ในยุคนั้นนับว่าเป็นรถที่มีเครื่องยนต์แรงเอาเรื่อง ทรงแบบ Sport Hatchback 5 ประตูนับว่าทันสมัยโดนใจวัยรุ่น ต่างจากรถทั่วไปในสมัยนั้น ไฟหน้าแบบ Popup คล้ายกับคู่แข่งอย่าง Toyota MR2 AW11 และ SW20 ราคาในยุค 90 อยู่ที่ 720,000 บาท เครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 4 สูบ รหัส BPD 1.8 จ่ายน้ำมันด้วยระบบหัวฉีด EGI ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีด มีเรี่ยวแรง 140 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 16.6 กก.ม. หรือ 160 นิวตันเมตร ที่ 4,700 รอบต่อนาที ช่วงล่างด้านหน้าและด้านหลังเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท อิสระ 4 ล้อ ช่วงล่าง TTL (Twin Trapezoidal Link) หรือปีกนกคู่ เกาะเป็นตุ๊กแก

Subaru ST1600
นี่คือรถซีดานที่ทันสมัยสุดๆ ในช่วงปี พ.ศ.2521 Subaru ST1600 วางเครื่องยนต์แถวเรียงแบบ 4 สูบเบนซิน ระบายความร้อนด้วยน้ำ เครื่องยนต์ของมันมีความจุ 1,361 ซีซี ให้กำลัง 93 แรงม้า ที่ 6,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 11.0 กิโลกรัม/เมตร หรือ 107 นิวตันเมตร ที่ 4,800 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์คู่ ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีด หรือเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด พร้อมกลไกการขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า นับเป็นรถญี่ปุ่นเจ้าแรกๆ ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อในภายหลัง อัตราเร่ง 0-100 ของ ST1600 ทำได้ที่ 12.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนน้ำหนักตัวรถทั้งคันแค่ 850 กิโลกรัม

Subaru GFT1600
รถจากแบรนด์หมู่ดาวคันนี้มีรูปทรงที่ปราดเปรียวเพรียวลมมากในช่วงปี พ.ศ.2522-2528 เครื่องยนต์สูบนอน Boxer แบบ 4 กระบอกสูบ 1.6 ลิตร หรือ 1,595 ซีซี เป็นเครื่องยนต์แบบซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป กำลังสูงสุด 75 แรงม้า ที่ 6,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 12.3 กิโลกรัม/เมตร หรือ 120 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์คู่เหมือนกับ ST1600 ระบบส่งกำลังมีสองแบบให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด กับเกียร์ออโต้ 3 สปีด พร้อมกลไกการขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า ระบบห้ามล้อหน้าดิสก์หลังดรัม อัตราเร่งจาก 0-100 ใน 12.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนน้ำหนักตัวแค่ 855 กิโลกรัม เบามากๆ

Alfa Sud 1.3
แฮตช์แบ็กรุ่นคุณป้ายังสาว เป็นรถ 5 ประตูขนาดกะทัดรัดของอิตาลี ได้รับความนิยมพอสมควรในคนกลุ่มวัยทำงานที่ชื่นชอบการขับรถเล่น เครื่องยนต์ของพญางูลำนี้เป็นเครื่องสูบนอน Boxer แบบ 4 กระบอกสูบสุดพิเรนทร์! ความจุ 1,286 ซีซี การระบายความร้อนด้วยอากาศที่ไม่เหมาะกับประเทศไทย ทำให้ผู้คนที่เดินทางในยุคนั้นเห็นรถรุ่นนี้จอดตายกลางแดดเปรี้ยงกันมามากต่อมาก Alfa Sud 1.3 มีพละกำลังแค่ 68 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 10.2 กิโลกรัม/เมตร หรือ 100 นิวตันเมตร ทำได้แค่ไหลไปเรื่อยๆ ระบบเชื้อเพลิงคาร์บูเรเตอร์จูนยังไงก็ไม่นิ่ง เพราะไม่ชอบอากาศที่ร้อนปานนรกของกรุงเทพฯ แต่ช่วงล่าง และระบบเบรกแบบอิตาเลียนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มันเป็นรถเล็กที่ขับได้สนุกพอสมควร ปัจจุบัน สนิมกินกระจายกลายเป็นกระถางสะระแหน่ไปเป็นที่เรียบร้อย

Alfa Romeo Giulietta 1.6
สปอร์ตซีดานจากแบรนด์พญางูคันนี้กลายเป็นที่หมายปองของวัยรุ่นนักเลงรถในยุค 80' มันมีรูปทรงที่สวยงาม โดยเฉพาะฝากระโปรงท้ายที่งอนขึ้นนิดๆ แบบตูดเป็ด นักเลงรถซิ่งหน้าเดอะพาเลซที่ขับ Alfa Romeo Giulietta 1.6 สีแดง กลายเป็นวัตถุที่ดึงดูดสายตาของสาวนักเที่ยวในยุคดิสโก้ พญางูคันนี้วางเครื่องยนต์เบนซินแถวเรียงแบบทวินแคม 4 สูบ 16 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำและพัดลม ความจุ 1,570 ซีซี แรงม้าสูงสุดพอซิ่งกันได้ที่ 109 แรงม้า ส่วนแรงบิดสูงสุดพอขำๆ ที่ 14.5 กิโลกรัม/เมตร หรือ 142 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 ใน 11.3 วินาที ฉีกรถญี่ปุ่นเครื่อง 1.6 ในยุคเดียวกันแบบไม่เหลือซาก คาร์บูเรเตอร์คู่สุดงามของ dellorto วิ่งใจขาดช่วงหน้าหนาวแต่พอร้อนเข้าก็สั่นสะท้านทรวง ความประหลาดของรถรุ่นนี้ก็คือดิสก์เบรกหลังที่ติดอยู่ข้างเฟืองท้าย ไม่ได้อยู่ที่ล้อหลังเหมือนรถทั่วไปด้วย กลไกการขับเคลื่อนล้อหลังกับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ทำให้เจ้าอิตาเลียนคันนี้กลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นในยุคนั้นไปโดยปริยาย มันคือ Alfa Romeo Giulietta 1.6 รุ่นสุดท้ายที่ค่ายสยามกลการเอามาประกอบในไทย หลังจากนั้น 156 ก็มาคว้าตำแหน่งนี้ไป มีอยู่ปีนึงทั้งปีขายได้แค่คันเดียว!!! (จากข้อมูลของน้องจิมมี่)

BMW 320 e21
ฉายาหน้าฉลามของ Series-3 e21 ได้มาเพราะหน้าที่ยื่นงุ้มกับสัญลักษณ์กระจังไตคู่ทำจากอัลลอยสีเงิน สปอร์ตคูเป้เยอรมันคันนี้มีเครื่องยนต์ให้เลือกหลายรุ่น เริ่มจาก 1.6 ลิตร 316 / 1.8 ลิตร 318 / 2.0 ลิตร 320/ 2.3 ลิตร 323 ส่วนรุ่นปี 1978 วางเครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 2.0 ลิตร 1,990 ซีซี กำลังสูงสุด 109 แรงม้า ที่ 5,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 16.0 กิโลกรัม/เมตร หรือ 156 นิวตันเมตร ที่ 3,700 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยว Solex แบบท่อคู่ดูดลงล่างที่จูนยากเอาเรื่อง! ระบบเกียร์มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 4 สปีด หรือเกียร์อัตโนมัติจาก ZF 3 สปีด ระบบเบรกแบบหน้าดิสก์หลังดรัม อัตราเร่ง 0-100 ใน 10.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เจ้าหน้าฉลามกลายเป็นรถสปอร์ตยอดนิยมของดารานักร้องในยุคนั้น จากประสิทธิภาพของการขับและความหล่อของเรือนร่าง

BMW 520 e12
ซาลูนหรู 4 ประตูสุดสวยของผู้บริหารในอดีต BMW Series-5 รุ่น 520 รหัสตัวถัง e12 วางเครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 6 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป ความจุ 1,990 ซีซี กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดจัดเต็ม 16.3 กิโลกรัม/เมตร หรือ 160 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเดี่ยวของ Solex 4A1 แบบดูดลงล่างอีกเช่นกัน อัตราเร่งจาก 0-100 ใน 12.1 วินาที ความเร็วปลาย 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในยุคนั้นถือว่าเร็วมาก BMW 520 เป็นรถที่เข้าฉากหนังไทยในสมัยก่อนบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือนางเอกในสมัยนั้นต่างก็นิยมชมชอบรถรุ่นนี้กันอย่างล้นหลาม

Mercedes Benz 300d W123
W123 เป็นเบนซ์รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ที่ธนบุรีประกอบรถยนต์ สั่งเข้ามาประกอบขายในไทย กำลังการผลิตที่โรงงานสำโรงอยู่ที่ 4 คันต่อวันมาเป็นสิบๆ ปี ก่อนจะมีการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายการประกอบให้เยอะขึ้นในภายหลัง (ข้อมูลจากน้องจิมมี่ http://www.headlightmag.com/) ซีดานไซส์กลาง 4 ประตู รหัส W123 มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซลแบบแถวเรียง 6 สูบ ความจุ 3,005 ซีซี รหัส OM617 กำลังสูงสุด 90 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิด 17.5 กิโลกรัม/เมตร หรือ 171 นิวตันเมตร ที่ 2,400 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงโคตรทันสมัยในยุคนั้นด้วยระบบหัวฉีดไฟฟ้าจากบ๊อช ระบบส่งกำลังใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด พร้อมดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ และกลไกการขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง เจ้า Benz 300D W123 มีอัตราเร่งจาก 0-100 ใน 12.7 วินาที ความเร็วปลายทำได้ 148 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Fiat 131 Supermirafiori
สปอร์ตซีดานจากอิตาลีคันนี้ มีดีที่เครื่องยนต์ และช่วงล่าง เจ้า 131 Supermirafiori ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ พร้อมฝาสูบแบบทวินแคม 16 วาล์ว ความจุ 1,585 ซีซี กำลังสูงสุด 96 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 13.0 กิโลกรัม/เมตร หรือ 127 นิวตันเมตร ที่ 3,800 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง ระบบเกียร์ใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีด ระบบห้ามล้อแบบหน้าดิสก์หลังดรัม อัตราเร่งจาก 0-100 ใน 13.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักรถ 1,056 กิโลกรัม ค่อนข้างเบาใช้ได้ ภายในมีเบาะหุ้มกำมะหยี่ที่สวยงามกับงานแดตช์บอร์ดในสไตล์ยุโรป ด้วยกลไกที่เป็นแบบแมคคานิค ไม่อุดมไปด้วยอิเล็กทรอนิกส์เหมือนรถยนต์ในทุกวันนี้ ทำให้ 131 มีความคงทนใช้ได้ เป็นขวัญใจของข้าราชการ และคนวัยทำงานที่ชอบรถยุโรป ทำให้มียอดขายที่พอไปวัดไปวาได้อยู่เหมือนกัน

Fiat 132/2000
ซีดานมักกะโรนีลำนี้ วางเครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียงแบบทวินแคม 16 วาล์ว ความจุ 1,995 ซีซี เป็นคู่กัดของ BMW Series-5 520 e12 จากประสิทธิภาพและความสามารถในการขับขี่ เครื่องยนต์ 4 สูบ 2.0 ลิตร มีกำลัง 112 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิด 16.1 กิโลกรัม/เมตร หรือ 157 นิวตันเมตร ที่ 3,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยวแบบท่อคู่ ระบบจุดระเบิด เล่นคอยล์และทรานซิสเตอร์ไม้ได้ใช้ทองขาว ระบบเกียร์เดินหน้า 5 สปีด ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง อัตราเร่งจาก 0-100 ใน 13.7 วินาที ความเร็วปลาย 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดูเหมือนเครื่องจะใหญ่แต่ทำไมไม่ค่อยจะวิ่ง!

Ford cortina 1600
รถรับส่งเด็กนักเรียนในยุค 80' รวมถึงการเป็นรถซีดานขวัญใจข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ก็ชอบทั้งนั้น นี่คือ Ford cortina 1600 ซีดานบ้านๆ ทรงแบนๆ ที่มีราคาพอจับต้องได้ เจ้า cortina 1600 วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียง ความจุ 1,593 ซีซี กำลังสูงสุดแค่ 72 แรงม้า ทำให้อืดน่าดูเมื่อต้องการจะแซง แรงบิด 12.0 กิโลกรัม/เมตร หรือ 117 นิวตันเมตร ที่ 2,700 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบคาร์บูเรเตอร์เดี่ยว ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง ระบบเกียร์เป็นเกียร์ธรรมดา 4 สปีด ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม (ไม่รู้จะประหยัดไปเพื่ออะไร กลัวไม่ได้กำไรเท่าที่ควร) อัตราเร่ง 0-100 ใน 14.3 วินาที ความเร็วปลายไหลไปได้แค่ 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สมรรถนะที่ย่ำแย่ของมันดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ cortina 1600 มีดีตรงพื้นที่ภายในที่กว้างขวางพอจะไปกันทั้งบ้านได้อย่างสบายๆ

Peugeot 504
สิงห์เขย่งขารุ่น 504 คือซีดานตัวถังแข็งโป๊กจากแดนน้ำหอมฝรั่งเศส เป็นรถที่มีฝีเท้าจัดเอาเรื่อง เครื่องยนต์และช่วงล่างทนทานนานปีไม่พังกันง่ายๆ Peugeot 504 วางเครื่องยนต์แถวเรียง 4 สูบเบนซิน ปริมาตรความจุ 2.0 ลิตร หรือ 1,971 ซีซี กำลังสูงสุด 96 แรงม้าที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิด 16.4 กิโลกรัม/เมตร หรือ 160 นิวตันเมตร ในย่าน 3,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ตัวเดียว ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด พร้อมกลไกการขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง ระบบเบรกจัดเต็มดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ อัตราเร่งของสิงห์เขย่งขาจาก 0-100 ใน 13.8 วินาที ความเร็วปลายจัดให้ 164 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักรถทั้งคันที่มากถึง 1,230 กิโลกรัม ทำให้อัตราเร่งตีนต้นของรถรุ่นนี้ช้าไปนิด น้ำหนักที่ค่อนข้างเยอะส่วนหนึ่งเกิดจากตัวถังเหล็กอย่างหนา ที่ทำให้มีความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

Volvo 264GL
ในบรรดาบริษัทรถยนต์ที่มีการประกอบในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2521 Volvo เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 50 ปี ความเชื่อถือในโครงสร้างรถที่แข็งแกร่ง รองรับคุณภาพของการใช้งานได้ดี ตามสโลแกน ทุกชีวิตปลอดภัยใน Volvo แสดงให้เห็นถึงแนวทางการเลือกใช้รถยนต์ของคนไทยที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพมากกว่าความสวยงาม Volvo 264 GL ปี 1978 เป็นรถซีดานขนาดกลางที่มีความแข็งแกร่งของโครงสร้างโดยเฉพาะประตูที่หนาปึ้กช่วยทำให้ผู้โดยสารและคนขับปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ Volvo 264 GL วางเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป ความจุ 2.7 ลิตร หรือ 2,664 ซีซี มีกำลังสูงสุด 125 แรงม้า ที่ 5,250 รอบต่อนาที แรงบิด 20.0 กิโลกรัม/เมตร หรือ 196 นิวตันเมตร ที่ 3,500 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์เดี่ยว ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด หรือเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด พร้อมกลไกขับเคลื่อนล้อหลัง ระบบเบรกใช้ดิสเบรกทั้ง 4 ล้อ เจ้ารถถัง Volvo 264 GL ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 167 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนน้ำหนักรถทั้งคันที่ 1,337 กิโลกรัม

Volvo 244 DL
สมัยผมเป็น DJ ที่เดอะพาเลซ นี่คือรถของ เอ อนันต์ บุนนาค ที่เคยไปส่งถึงหน้าบ้านแถบตลาดบางกะปิหลังเธคเลิก! Volvo 244DL เหล็กไวกิ้งสุดแข็ง รถส่วนตัวของเจ้าของเพลงล้างใจสุดฮิตในยุค 80 รุ่นนี้ วางเครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง 2.2 ลิตร 2,127 ซีซี ซิงเกิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป ระบายความร้อนด้วยน้ำและพัดลมหน้าเครื่อง เครื่องยนต์ของ Volvo ในยุค 40 ปีก่อน ยังคงวางในลักษณะตามยาวแล้วขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง กำลังสูงสุด 100 แรงม้า ที่ 5,250 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 17.3 กิโลกรัม/เมตร หรือ 169 นิวตันเมตร ที่ 3,000 รอบต่อนาที จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ตัวเดียว ระบบส่งกำลงใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด หรือเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด ระบบเบรกเป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ มีหม้อลมผ่อนแรง Volvo 244 DL ทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักตัวรถทั้งคันอยู่ที่ 1,265 กิโลกรัม.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/