Chang-An เคยแจ้งกับสื่อมวลชนสายยานยนต์ไว้ตั้งแต่ปลายปี 2023 เรื่องการสร้างโรงงานและการประกอบรถในไทย ผ่านไปปีครึ่ง ก็ได้ฤกษ์เปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ จากการลงทุนไปกว่า 10,000 ล้านบาท โรงงานในไทยที่จังหวัดระยอง นับเป็นโรงงานผลิตรถพลังงานทางเลือกใหม่แห่งแรกของ Chang-An นอกประเทศจีน และจะถูกใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิต DEEPAL /Chang-An/Avatr ป้อนตลาดพวงมาลัยขวาในอาเซียน, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

...

โรงงาน อยู่บนที่ดินขนาด 250 ไร่ มีแผนกเชื่อมประกอบตัวถัง, พ่นสี, ประกอบเครื่องยนต์ (REEV) และประกอบแบตเตอรี่ ใช้หุ่นยนต์พ่นสี 29 ตัวและอุดมด้วยระบบควบคุมการผลิตแบบอัตโนมัติ 18 ระบบ และแบบที่ต้องใช้ทั้งคนและหุ่น 125 ระบบ โดยในขั้นต้นมีกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี (ตัวเลขคือรวมทั้งขายในไทย และส่งออก) แต่ภายในปี 2027 ทาง Chang-An จะเบิ้ลตัวเลขนี้เป็น 200,000 คัน

นอกจากโรงงานและไลน์ประกอบแล้ว ทาง Chang-An ยังมีแผนการตั้งหน่วยวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแผนกอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานในประเทศไทย ทั้งในโรงงานโดยตรงเพิ่มขึ้น

สำหรับอนาคตระยะ 3 ปีนี้ จะมีการเปิดตัวรถใหม่อีก 12 รุ่น ภายใต้สามแบรนด์คือ Chang-An/DEEPAL/Avatr ซึ่งก็คือ ปีละ 4 รุ่น ผมเดาเอาเองว่า Avatr 07, DEEPAL S09 MPV, S07 Minorchange น่าจะเปิดตัวในเวลาอันใกล้นี้ แต่ไม่ใช่ทุกรุ่นจะประกอบจากโรงงานไทยครับ คาดว่ารถรุ่นที่ภูมิภาคนี้พวงมาลัยขวานิยมแบบใจตรงกัน ขายได้เยอะ แบบนั้นคุ้มผลิตไทย แต่สำหรับรถที่ยังมีเป้ายอดขายต่อปีในภูมิภาคนี้ต่ำ อาจจะใช้วิธีนำเข้าจากจีนไปก่อน

...

การผลิต การประกอบ สถานที่ประกอบ จำนวนรถที่ขาย ทุกอย่างคือธุรกิจ ซึ่งทุกค่ายก็ต้องเลือกว่าจะ CKD, CBU ตามโอกาสในการขาย แต่สิ่งที่ Chang-An พยายามทำคือลงหลักปักฐานให้คนไทยมีความมั่นใจได้ว่า ลงทุนไปหมื่นล้านที่นี่เขาก็ต้องอยู่ต่อเพื่อดันธุรกิจให้มันไปข้างหน้า และถ้าจะหาประเทศที่ไม่ใช่จีน แล้วมีแรงงานที่เชี่ยวชาญ ซัพพลายเออร์ที่รู้งาน ไทยมีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการเป็นศูนย์กลางกระจายรถสู่ตลาดพวงมาลัยขวาอย่างยิ่ง

...

รถมาแล้ว โรงงานตั้งแล้ว ต่อไปก็คงต้องว่ากันเรื่องบริการและการสร้างความพอใจหลังการขายให้เกิดการซื้อครั้งที่สองและสามตามมาได้ ถ้าแบบนั้นก็แฮปปี้ทั้งองค์กรและตัวลูกค้า.

Pan Paitoonpong