นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Toyota Motor Thailand มอบข้าวสารจากโรงสีข้าวรัชมงคล จำนวน 2,000 กิโลกรัม แก่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นตัวแทนรับมอบ ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
โรงสีข้าวรัชมงคล ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาสูงกว่า 15,000 บาท มาตั้งแต่ก่อนจะมีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสียอีก โดยเป็นการดำเนินการตามกลไกราคาตลาดไปพร้อม ๆ กับรับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่สมเหตุสมผล และโรงสีก็สามารถทำกำไรเลี้ยงตัวได้
โรงสีข้าวรัชมงคลได้จดจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ดำเนินการโดยบริษัท Toyota Motor Thailand ซึ่งน้อมนำพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม
...
เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ.2540 หลังจากรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2กรกฎาคม 2540 เกิดกระแสข่าวลือว่าบริษัท Toyota จะประกาศปิดโรงงานที่เกตเวย์ เตรียมจะลอยแพพนักงานกว่า 5,500 คน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงว่าราษฎรของพระองค์จะตกงาน จึงทรงมีพระราชดำริขอซื้อรถยนต์จาก Toyota รุ่น (Soluna) ด้วยทรัพย์สินส่วนพระองค์ จำนวน 1 คัน และทรงกำชับว่าไม่ต้องรีบร้อนผลิต พนักงานจะได้ยืดระยะเวลาการทำงานนาน ๆ
“… อย่างรถที่นั่งมา … สร้างด้วยฝีมือคนไทย … มีจำนวนสองร้อยกว่าคัน ก็เลยทำให้ … ช่วยเหลือคนที่อยู่ในโรงงานนี้ … แล้วก็ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เขาตั้งโรงสี เหมือนโรงสีเป็นข้าวที่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข … ที่เหมาะสม และผู้บริโภคที่ซื้อข้าวได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่มีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิตผู้บริโภคก็มีความสุข …”
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเงินจำนวน 600,000 บาท เพื่อชำระค่ารถยนต์ แต่ผู้บริหารของ Toyota กราบบังคมทูนว่า รถยนต์โซลูน่านั้น ทางบริษัท ฯ ทำขึ้นเพื่อทูนเกล้าถวายไว้ใช้งาน ไม่สามารถที่จะรับพระราชทานเงินนั้นได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้บริษัท Toyota รับเงินไว้เพื่อช่วยเหลือสังคมแทน เรื่องราวดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการโรงสีข้าวรัชมงคล ซึ่งใช้แนวคิดของโรงสีข้าวจิตรลดาเพื่อช่วยเหลือชาวนา หลังจากนั้น ผู้บริหารของ Toyota ได้กราบบังคมทูลฯ ขอรับพระราชทานแนวพระราชดำริ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งโรงสีข้าวรัชมงคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และสหกรณ์การเกษตร ชุมชนในราคายุติธรรม พร้อมจำหน่ายข้าวสารในราคาเหมาะสม โดยมิได้หวังผลกำไรจากการดำเนินงาน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด นี้ด้วย เนื่องจากบริษัท Toyota ถือว่าเงินที่ได้รับพระราชทานจำนวน 600,000 บาท เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อบริษัท Toyota Motor Thailand และทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย การดำเนินงานของโรงสีข้าวรัชมงคลใน 7 ปีแรก แม้จะขาดทุนสะสมถึง 15 ล้านบาท แต่ก็เริ่มมีกำไรในปีที่ 8 ในปีพ.ศ. 2550 เมื่อบริษัทข้าวรัชมงคลเริ่มมีกำไร แต่ไม่ได้มีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพราะกำไรที่ได้มีการนำไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การเกษตร มอบแก่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทราทุกปี เป็นการยึดปฏิบัติตามแนวทางของโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา ซึ่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรงมาสี และจำหน่ายในราคาเหมาะสม โดยมิได้มุ่งหวังการค้าเพื่อกำไร แต่ให้คุ้มทุน และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างพอเพียง
...
ในปัจจุบันแม้โรงสีข้าวรัชมงคลไม่ได้สร้างผลกำไรมากมาย แต่ก็มีรายได้และกำไรในระดับที่พอจะเลี้ยงตัว และมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง ไปพร้อม ๆ กับช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่สมเหตุสมผล สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการช่วยเหลือด้วยการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดหรือสร้างภาระทางการคลัง.
อ้างอิง :
[1] “โรงสีข้าวรัชมงคล”..กุศโลบายที่ “พ่อ” ทำเพื่อลูก
[2] รถทรงงานรุ่นเดียวในโลกที่เป็นภาษาไทยและโรงสีข้าวรัชมงคล