เมื่อเวลาหมุนไป ทัศนคติของคนอาจมีความเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ คุณจำได้หรือไม่ว่าในปี 2009-2010 เมื่อ Toyota เริ่มขายรถไฮบริดครั้งแรก คนไทยก็ไม่ได้อ้าแขนตอบรับในทันที..อย่างน้อยก็ไม่ใช่ความรักในอัตราที่คนไทยมอบให้กับรถ EV ในช่วงหลังมานี้แน่นอน ต่อให้เป็นค่ายยักษ์ใหญ่ที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่เมื่อจะขายรถไฮบริด ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้าน และข้อกังขามากมายในการบำรุงรักษา ในวันนั้นต่อให้เป็นรถจากเจ้าตลาด คนที่เลือกรุ่นไฮบริด ต้องเป็นคนกล้าเสี่ยงในระดับหนึ่ง 15 ปีผ่านไป รถกลุ่มนี้เติบโตแบบคลื่นใต้น้ำเพราะโดนกระแสของ EV กลบอยู่

...

บางครั้งการไปฟังสิ่งต่างๆ จากคนหมู่หนึ่ง กลับได้ข้อมูลที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ข้ามเรื่อง ข้ามค่าย หรือข้ามวงการกันได้ ผมขออนุญาตฝอยให้ฟังสักหน่อยว่า ตัวเองเป็นลูกค้าเครื่องช่วยหายใจยามนอน (CPAP) ยี่ห้อ ResMed มา 3-4 เดือนแล้วเพราะไป Sleep Test แล้วเจอผลว่าหยุดหายใจมากกว่า 100 ครั้งต่อชั่วโมง ผลจากความที่อ้วนและเคยสูบบุหรี่ทั้งแบบมวนและไฟฟ้าจัดนั่นล่ะครับ (ปัจจุบันเลิกแล้ว) ซึ่งเจ้าเครื่องนี้ มันต้องเติมน้ำเข้าไปในกระเปาะข้างเครื่อง คุณโบ เซลส์ที่ขายเครื่อง CPAP ก็บอกว่าให้เติมน้ำที่เป็นน้ำดื่ม ห้ามใช้น้ำแร่ และให้ใช้น้ำที่เกิดตะกรันน้อยสุด แนะนำว่าเป็นน้ำดื่มตราน้ำทิพย์นั่นล่ะครับ คนเล่นรถอย่างผมเสาะหาน้ำดีๆ มาใส่หม้อน้ำมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยทราบว่าน้ำอะไรใส่หม้อน้ำแล้วเกิดตะกรันได้น้อยสุด ไม่มีใครในวงการช่างยนต์ตอบผมได้ คนที่ตอบได้ คือ เซลส์ขายเครื่อง CPAP เสียนี่ นี่คือการนำเข้าความรู้ ข้ามวงการจากการแพทย์สู่ยานยนต์

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ผมได้ไปร่วมฟังแถลงผลงานครึ่งปีของ Ford ซึ่งข้อมูลต่างๆในด้านยอดขายของ Ford เป็นอย่างไร ทาง ThairathOnline เขาก็มีนักข่าวของเขามาเขียนข่าวเรื่องนี้ให้อยู่แล้ว คุณสามารถหาอ่านกันได้ แต่ส่วนที่ผมมองว่าน่าสนใจคือผู้บริหาร Ford พี่ต่อ รัฐการ จูตะเสน ได้บรรยายข้อมูลภาพรวมของตลาดรถยนต์ในไทย และนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ผมมองว่าน่าสนใจ พี่ต่อนี่ เขาเป็นผู้บริหารประเภทมีข้อมูลเต็มหัว พูดได้คล่อง ไม่ต้องเรียกลูกน้องมากระซิบข้างหู Ford เองน่าจะมีหน่วยวิจัย หรือไม่ก็มีคนถืองานวิจัยในมืออยู่ ผมเองก็แอบงงว่า Ford ขายแต่รถกระบะ รถ SUV แต่เขาก็รับทราบความเป็นไปของค่ายอื่นในวงการได้กว้างและลึก

...

สิ่งที่พี่ต่อสรุปให้ฟังง่ายๆ ก็คือ ในประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลังมานี้ อัตราการซื้อรถในกลุ่ม xEV (ซึ่งเมื่อเขียนคำนี้ โปรดเข้าใจว่าหมายถึง รถไฮบริด รถปลั๊กอินไฮบริด และรถไฟฟ้ารวมทั้งหมด) สูงขึ้นมาก ซึ่งย้อนกลับไปสมัย Prius กับ Camry ACV50 Hybrid นู่น รถไฮบริด คือ ประชากรส่วนกระจ้อยร่อย แต่ข้อมูลล่าสุดคือ 32% ของรถที่ขายในบ้านเราช่วงหลังๆ คือรถ xEV และในจำนวนนี้ เป็นรถ BEV คือไฟฟ้าล้วน 10% ส่วนที่เหลืออีก 22% คือรถไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด และเนื่องจากรถปลั๊กอินบ้านเราส่วนมากเป็นรถระดับหรูราคาค่อนไปทางสูง ก็พูดได้ล่ะครับว่ารถไฮบริดแบบธรรมดา น่าจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของ 22% นี้

...

เรื่องของเรื่องที่ผมมาเขียนบทความนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า ในขณะที่เรามองกันว่า EV Boom เร็ว โตไว สันดาปตายแน่ โกดัก โนเกีย โนโค้ก อะไรก็ตามแต่ อัตราการโตในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รถ BEV นี่โตขึ้นแค่ราว 2% นะครับ เพราะมันไปเร่งขายในช่วงก่อนสิ้นปี ยอดเลยพุ่งอยู่สักพักแล้วก็เริ่มทรงตัว ในขณะที่รถกลุ่มไฮบริด ภายในเวลาสั้นๆ โตขึ้นเร็ว จากส่วนแบ่งตลาด 15% กลายเป็น 22% ได้ ย้อนกลับไปในย่อหน้าจั่วหัวนิดว่า 15 ปีก่อน ขนาดยักษ์อย่าง Toyota จะขายไฮบริด ยังต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ คำด่าสารพัด ต้องเอาแบตเตอรี่ไฮบริดมาแช่น้ำโชว์ เอารูปรถ Camry จากลาวที่โดนน้ำท่วมมาแหกแบตให้ดู โดนด่าว่าแบตเตอรี่เอามาเป็นขยะเคมี รถไฮบริดไม่ได้รักโลกจริงบ้าง ดัดจริตคิตตี้แคทบ้าง ตอนนี้เสียงพวกนั้นหายไปไหน ยังมีใครออกมาด่ารถไฮบริดไหม นักข่าวบางคนเคยด่าไฮบริดปาวๆ ทุกวันนี้บ้านมีรถไฮบริดด้วยแหละครับ

...

อันที่จริงที่มองในทางโลก ก็ไม่มีอะไรแปลก ความที่รถไฮบริดเติบโตแบบเรื่อยๆในไทยมานาน 14-15 ปี ค่ายไหนที่สร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือไว้ดี ในวันนี้คนรุ่นใหม่ก็จะซื้อโดยไม่ลังเล ยิ่งเป็นยุคที่น้ำมันไทยแพงสวนทางราคาน้ำมันโลก รถไฮบริด คือรถที่ไม่สามารถอยู่โดยปราศจากไอเสียได้ก็จริง แต่มันคือรถแบบที่สามารถพาเทรนด์การลดมลภาวะท้องถิ่น ไปยังทั่วทุกภาคของประเทศไทยที่สถานีชาร์จและหน่วยบริการติดตั้งสาธารณูปโภคสำหรับการชาร์จยังเข้าไปไม่ถึง ไกลปืนเที่ยงแค่ไหน ขอแค่มีปั๊มน้ำมัน ไฮบริดก็ไปได้หมด

ทุกวันนี้ ขุมพลังไฮบริดได้รับการยอมรับแค่ไหน? ถ้ามองที่ค่ายใหญ่อย่าง Toyota รถอย่าง Corolla Cross นั้น ลูกค้าเลือกที่จะออกรุ่นไฮบริด (HEV) มากกว่ารุ่นเบนซินโขอยู่ คือมีอัตราส่วนของรถรุ่นเบนซินขายได้เพียงแถวๆ 17-20% เท่านั้น ในขณะที่ฝั่ง Honda เอง ตอนผมไปทำรีวิว Civic ก็คุยกับ Honda และได้รู้ว่า Civic เองนั้นรุ่น e:HEV ขายได้ประมาณ 65% และ 1.5 เทอร์โบขายได้ 35% ในขณะที่ Mitsubishi Xpander HEV นั้น ทีมค่ายสามเพชรก็บอกว่า ตอนแรกกะว่าเมื่อรุ่นไฮบริด HEV เปิดตัว ก็น่าจะขายได้สัก 30% แล้วรุ่น 1.5CVT ขายได้สัก 70% แต่ความจริงคือ..พลิกตัวเลขกลับด้านครับ แล้ว Xpander HEV ก็กลายเป็นเดอะแบกของค่ายเสียด้วย เป็นไงล่ะ ถุงลม 2 ใบเท่ารถยุค 90s นะ แต่ขายดีกว่าเจ้าตลาดเสียอย่างนั้น

บางคนอาจจะบอกว่า ก็บริษัทรถเล่นเอาอุปกรณ์ของเล่นดีๆ ไปยัดไว้ในตัวท้อป แล้วก็จัดให้พวกรถรุ่นท้อปมีแต่ไฮบริดให้เลือก ไฮบริดก็เลยขายดี ผมก็ไม่เถียงว่าท่านอาจจะถูกส่วนหนึ่ง แต่อย่างกรณี Xpander นั้นอุปกรณ์บนรถแทบไม่ต่างเลยนะครับ การที่ลูกค้ากระโดดไปหารุ่น HEV จึงไม่ใช่เรื่องของอุปกรณ์เสียทั้งหมด แต่หลักๆ แล้วเป็นเรื่องความประหยัดเชื้อเพลิง หรือในแง่บาลานซ์ระหว่างความประหยัดและพละกำลัง ไฮบริดบางรุ่นเน้นประหยัด ไฮบริดบางรุ่นเน้นพลังแรง ไฮบริดบางรุ่นไม่ประหยัด แรงก็แรงแบบแซ่บเกียร์เดียว เลยไปชูจุดขายที่ความหรูหราแต่ราคาถูกก็มี

ไฮบริดเสียเปรียบรถไฟฟ้าล้วนในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และในบางกรณี ก็ต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้านั้นพลังถ่านล้วนมันแรงจริงและขับสนุกกว่าไฮบริดในตลาดที่ราคาเท่าๆ กันส่วนใหญ่ (ลองคิดถึง Corolla Cross กับ BYD Atto3 ดูครับ) แต่รถไฮบริดก็มีจุดที่ทำให้คนมองเหมือนกัน รถไฟฟ้าราคาฉันมิตร..ยอดในปัจจุบันโตได้เพราะค่ายจีนและเป็นค่ายที่เล่นสงครามราคา รถไฮบริด ยอดในปัจจุบันโตได้เพราะค่ายญี่ปุ่นอย่าง Toyota และวางรากฐานระบบไฮบริดมาเรื่อยๆ ต่อเนื่องไม่มีแผ่วมีแต่เพิ่มมานาน 15 ปี แล้วคุณลองไสรถทั้งสองแบบนี้เข้าไปถามเต็นท์ดู ว่ารับเทิร์นกี่บาท คุณเอาไปหาอู่นอก ว่ามีกี่อู่ซ่อมได้ เช็กราคาประกัน และลองเอามาวัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางดู ไฮบริดอาจจะลงเอยว่าจ่ายเงินภาพรวมเยอะกว่า แต่แลกกับอิสรภาพที่ไม่ต้องรอการชาร์จ บางคนมองว่าก็เป็นส่วนที่น่าแลก

คุณว่า ถ้าไฮบริด มันไม่ได้มีแววรุ่งจริงๆ ทำไมแม้แต่ค่ายจีนอย่าง MG ยังต้องเตรียมเข็น MG3 Hybrid + ออกมา ทั้งที่ตัวเองก็มีรถไฟฟ้าอย่าง MG4 และสร้างการรับรู้หมู่ชนเรื่องการเป็นแบรนด์รถไฟฟ้าเอาไว้ได้สำเร็จระดับหนึ่งแล้ว ผมนั้นเดาว่า เพราะรถไฟฟ้าคือกำแพงที่สูงเกินจะปีนในความคิดของหลายคน บางคนเลยคิดจะหาบันไดพาดแล้วลองปีนดูก่อน รถไฮบริดคือบันไดที่ว่านั่นล่ะครับ และในตลาดนี้ มีคนมองหาบันไดอยู่เยอะมาก

ผมเห็นข่าวที่บางคนแชร์มาบอกว่า รัฐบาลว่าไว้ ใครลงทุนเพิ่ม จะได้ลดสรรพสามิต ..จะเฉลยว่าความจริงแล้วน่ะ รัฐบาล “จะขึ้น” สรรพสามิตนะครับ แต่ขึ้นจาก 4 เป็น 6% แล้วฟรีซไว้แค่นั้น ถ้าค่ายรถลงทุนเพิ่มและทำตามเงื่อนไขของทางรัฐ รวมถึงต้องเป็นรถประกอบในไทย บอดี้ต้องทำสีในโรงงานไทย 40% ของชิ้นส่วนบนรถต้องมาจากซัพพลายเออร์ไทยถ้าค่ายไหนยอมจ่ายลงทุนจุดนี้เยอะ ก็ยังสามารถขายไฮบริดกินได้ยาวต่อไป ส่วนใครที่ไม่ควักกระเป๋าต่อ รถไฮบริดของค่ายนั้นก็จะแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภายหน้า สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ซึ่งเรื่องนี้ต้องจับตามองว่า ใครจะใหญ่พอที่จะกล้าลงทุนมากมายขนาดนั้นเพื่อทำรถไฮบริดขาย แต่ผมว่ามี เพราะถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวรอบต่อไป รถไฮบริดก็น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคนเริ่มไว้ใจในเทคโนโลยีนี้แล้วในที่สุด เมื่อรัฐบาลไม่ต่ออายุโปรฯอีโคคาร์ ถ้าคุณไม่เล่นรถไฟฟ้า 100% ก็ต้องไปเล่นรถไฮบริด ซึ่งทั้งรถเก๋งและรถกระบะหลายค่าย มีแนวโน้มที่จะขยับตัวไปทางนั้นมานานแล้ว

ส่วนตัวผมมองแค่ว่า ถ้ามองว่านี่เป็นภารกิจระดับชาติในการลดการใช้น้ำมันกับลดมลภาวะ รวมถึงการฟื้นคืนชีพให้ตลาดรถในประเทศไทย รัฐบาลก็ควรพิจารณาวีซ่าต่ออายุให้สักหน่อย โดยไม่ต้องเรียกร้องการลงทุนใดๆ เพิ่มเติม เมื่อเศรษฐกิจมีความมั่นคงขึ้น ถึงตอนนั้นจะให้บริษัทรถลงทุนกี่หมื่นล้านก็ว่าไป แต่มาให้ใครควักเงินในยุคที่เสือไม่มีวัวกินอย่างทุกวันนี้ แล้วต้องควักให้เยอะทั้งที่รู้ด้วยว่า อีกฝั่งหนึ่งนอกจากจะควักน้อยกว่า เจอเงื่อนไขข้อบังคับต่างๆ น้อยกว่า ค้าขายสะดวกกว่าด้วยแล้ว

ผมว่าคนที่ควัก ก็อาจจะควักแล้วแอบด่าในใจแหละครับ


Pan Paitoonpong