ผ่อนรถต่อไม่ไหว จำเป็นต้องคืนรถให้ไฟแนนซ์ ต้องทำอย่างไร แนะทางออกไม่ผิดกฎหมาย ไม่ติดแบล็กลิสต์ และไม่ติดเครดิตบูโร

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับหนี้ครัวเรือนยังพุ่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการระบาดของโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ ทำให้รายได้ของคนส่วนใหญ่ยังไม่กลับมาเต็มร้อย หรือถ้ารายได้เต็มร้อย แต่ก็ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะผ่อนจ่ายหนี้หลายๆ ก้อน ซึ่งหนี้รถยนต์ ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังช่วยแก้ปัญหาอยู่

สำหรับใครมีปัญหาเรื่องการผ่อนรถ หรือผ่อนรถต่อไม่ไหว จำเป็นต้องคืนรถให้ไฟแนนซ์ ต้องทำอย่างไร "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" มีคำตอบดีๆ มาฝากกัน

ผ่อนรถไม่ไหวทำอย่างไรดี

1. สำรวจดูความสามารถในการผ่อนว่า ณ ขณะนี้เราจะสามารถผ่อนรถได้นานแค่ไหน และจะตกอยู่ในภาวะเงินฝืดไปอีกนานเท่าไร

2. เตรียมข้อมูลผลกระทบที่ได้รับ และหลักฐานประกอบ เช่น หลักฐานแสดงรายได้ ค่าใช้จ่ายก่อน และหลังได้รับผลกระทบ ดูว่ามูลค่ารถยนต์ที่เป็นหลักประกันมีราคาสูง หรือต่ำกว่าภาระหนี้แค่ไหน เช่น รถกระบะยี่ห้อเอ ราคา ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 บาท ยอดหนี้คงค้างกับไฟแนนซ์ คือ 250,000 บาท

3. รีบติดต่อสถาบันการเงิน หรือไฟแนนซ์ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยส่วนใหญ่ ไฟแนนซ์มีแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น

- การปรับลดค่างวด

- ยืดเวลาการผ่อนออกไป

- เสนอการผ่อนชำระแบบขั้นบันได เช่น ผ่อนจำนวนน้อยๆ ในช่วงที่มีปัญหา และค่อยๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อปัญหาเบาลง เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อน

แต่อยากจะบอกว่า การขยายระยะการผ่อนออกไปจะส่งผลให้ภาระจำนวนดอกเบี้ยมีจำนวนสูงมากขึ้นด้วย ส่วนค่างวดจะปรับลดลงได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมูลค่าของรถยนต์ และความสามารถในการผ่อนเป็นสำคัญ

...

การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ควรรีบดำเนินการก่อนที่จะเริ่มค้างชำระเพื่อเป็นการรักษาประวัติเครดิตของตนเองที่จะปรากฏอยู่ในข้อมูลของบริษัท และข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ที่เราเรียกติดปากว่า เครดิตบูโร เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะกลายเป็น NPL ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องรายงานการปรับโครงสร้างหนี้ไปยังบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติด้วยเช่นกัน

หากผ่อนไม่ไหวจำเป็นต้องคืนรถ จะต้องทำอย่างไร

1. กรณีที่มูลค่ารถยนต์สูงกว่าหนี้ ควรพิจารณาตัดใจลดภาระด้วยการขายรถยนต์คันดังกล่าว โดยใช้วิธี ขายเต็นท์ หรือขายดาวน์ เพื่อให้ผู้ซื้อรายใหม่มารับโอนสัญญาเช่าซื้อไปผ่อนต่อ

ข้อดีจากการโอนสัญญาเช่าซื้อ คือ ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน เนื่องจากค่างวดเดิม มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่แล้ว แน่นอนว่าดีกว่าการปิดบัญชีเดิม และไปกู้ใหม่ เนื่องจากจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตอนปิดบัญชีหนึ่งครั้ง และเมื่อกู้ใหม่ก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาประวัติเครดิตของผู้กู้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

2. กรณีที่รถยนต์มีมูลค่าต่ำกว่าราคาตลาด ลูกหนี้ควรพิจารณาตัดใจลดภาระด้วยการขายแบบขาดทุน หรือคืนรถให้แก่ไฟแนนซ์ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ต่ำที่สุด ซึ่งการชะลอการส่งมอบรถคืน จะทำให้ไฟแนนซ์ขาดทุนจากการขายทอดตลาด เพราะราคาที่ตกต่ำลงตามอายุของรถ ซึ่งลักษณะแบบนี้จะส่งผลให้ลูกหนี้ต้องแบกรับภาระค่าเสียหายที่สูงขึ้นด้วย

การส่งมอบรถคืนไฟแนนซ์ ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า ลูกหนี้ มีความตั้งใจในการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งลูกหนี้อาจใช้ในการเจรจาเพื่อขอความเห็นใจในการขอผ่อนชำระค่าเสียหายที่ลดลง หรือขอส่วนลดให้มากขึ้นเพื่อบรรเทาภาระหนี้

หากหนี้รถกลายเป็น NPL และไม่ยอมคืนรถ

ไฟแนนซ์จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และใช้สิทธิ์เข้าครอบครอง หรือยึดรถ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการยึด หรือนำรถกลับคืนเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ จะทำให้การเจรจาเรื่องค่าเสียหายเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากการไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้

หากไฟแนนซ์ ไม่สามารถติดตามนำรถกลับมาได้ ก็จะทำการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกรถคืน เมื่อศาลพิพากษาแล้ว สถาบันการเงินจะทำการสืบทรัพย์อื่นใดที่ลูกหนี้มี จากนั้นจะมีการร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์นั้นมาจำหน่าย เพื่อนำเงินมาชดเชยหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป

...

นอกจากประวัติข้อมูลเครดิต และจำนวนความเสียหายที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสสูญเสียทรัพย์อื่นๆ ของทั้งตัวลูกหนี้เอง และผู้ค้ำประกันอีกด้วย

ทางที่ดีควรติดต่อกับสถาบันการเงิน หรือไฟแนนซ์ ให้เร็วที่สุด แต่ถ้าหากการเจรจาไม่เป็นผล แนะนำให้ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย ทางด่วนแก้หนี้ หรือโทร. 1213